หลังจากที่สื่อสหรัฐฯ ออกมาคาดการณ์ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า ชัยชนะได้ตกเป็นของ ‘โจ ไบเดน’ ผู้สมัครจากเดโมแครต หลายฝ่ายเริ่มคาดเดาว่าเส้นทางชีวิตของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังพ้นทำเนียบขาว อาจไม่น่าพิสมัย และการแพ้ศึกเลือกตั้งซึ่งถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต อาจจะทำให้ ทรัมป์ ต้องอำลาบทบาทนักการเมืองสมัครเล่น ด้วยการถูกฟ้องร้อง ทั้งทางแพ่งและอาญาหลายคดี
ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันยื่นคำร้องต่อศาลว่า มีการโกงเลือกตั้ง และพยายามทุกวิถีทางที่จะพลิกผลคะแนนในหลายรัฐที่ ไบเดน ชนะไปอย่างเฉียดฉิวเมื่อวันที่ 3 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของ ทรัมป์ แทบไม่มีโอกาสชนะ ซึ่งหมายความว่า เขาจะเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนเศษๆ จนถึงวันที่ 20 ม.ค. ก่อนจะต้องระเห็จออกจากทำเนียบขาว พร้อมกับเตรียมตัวต่อสู้คดีความที่รออยู่เพียบหลังหมดสิทธิ์คุ้มกันทางกฎหมาย
ทรัมป์ วัย 74 ปี ถูกครหาว่าล่วงละเมิดทางเพศและโกงภาษี ซึ่งเจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็ง นอกจากนี้ ยังถูกฟ้องหมิ่นประมาท และอาจโดนคดีอาญาที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็นโจทก์ฟ้อง ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวลือว่า ‘เมลาเนีย ทรัมป์’ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเชื้อสายสโลวีเนีย กำลัง “นับวันรอหย่า” สามีผู้เป็นอดีตดาราเรียลิตีโชว์
ต่อไปนี้คือ 6 คดีแพ่งและอาญาที่สื่อหลายสำนักคาดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องเผชิญหลังพ้นตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
- คดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน’
ไซรัส แวนซ์ อัยการแขวงแมนฮัตตัน ได้เริ่มสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับ ทรัมป์ และบริษัท ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน มานานกว่า 2 ปี โดยพุ่งเป้าไปที่เงินปิดปาก ซึ่ง ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายส่วนตัวของทรัมป์ นำไปจ่ายให้กับ ‘สตอร์มมี แดเนียลส์’ ดาราหนังโป๊ และ ‘คาเรน แมคดูกัล’ อดีตนางแบบนิตยสารเพลย์บอย เพื่อให้ทั้งคู่ไม่ออกมาเปิดโปงสัมพันธ์สวาทกับ ทรัมป์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งหากมีข้อพิสูจน์ว่า ทรัมป์ รู้เห็นเป็นใจกับการจ่ายเงินเหล่านี้ ก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
แวนซ์ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อไม่นานมานี้ ว่า การสอบสวนได้ขยายผลไปสู่เรื่องธุรกรรมทางการเงิน, การฉ้อโกงภาษีและเงินประกัน รวมถึงการสร้างหลักฐานทางธุรกิจอันเป็นเท็จ ขณะที่ ทรัมป์ ออกมากล่าวหาอัยการผู้นี้ว่ามีเจตนาข่มขู่คุกคามเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง
คดีนี้เป็นที่สนใจเนื่องจาก แวนซ์ พยายามที่จะเข้าถึงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 8 ปีของผู้นำสหรัฐฯ
เมื่อเดือน ก.ค. ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้มีคำวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงให้ ทรัมป์ เปิดเผยบันทึกทางการเงินและการจ่ายภาษีต่อสำนักงานอัยการนิวยอร์ก โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพลเมืองคนใด หรือแม้แต่ประธานาธิบดี จะอยู่เหนือภาระหน้าที่สามัญในการส่งมอบหลักฐานเมื่อถูกสอบสวนคดีอาญา
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยืนยันว่า ประธานาธิบดีในตำแหน่งไม่อาจถูกฟ้องร้องเพื่อเอาผิดทางกฎหมายได้ ทว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะหมดไปทันทีเมื่อ ทรัมป์ พ้นตำแหน่งในปีหน้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายส่วนใหญ่เชื่อว่าสุดท้าย แวนซ์ จะสามารถเข้าถึงบันทึกทางการเงินของ ทรัมป์ ได้ในที่สุด
โครีย์ เบร็ตชไนเดอร์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ระบุว่า การสอบสวนคดีนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับ ทรัมป์
“อัยการออกหมายเรียกให้ ทรัมป์ ส่งมอบหลักฐานการเสียภาษี และมีการต่อสู้ทางกฎหมายลากยาวไปถึงศาลสูงสุด แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาร้ายแรง”
- คดีหมิ่นประมาทที่ยื่นฟ้องโดย อี.จีน แคร์โรลล์
อี. จีน แคร์โรลล์ (E. Jean Carroll) อดีตคอลัมนิสต์นิตยสาร Elle Magazine ได้ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกับ ทรัมป์ เมื่อปี 2019 หลังจากประธานาธิบดีออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาข่มขืนเธอที่ห้างสรรพสินค้าในนิวยอร์กเมื่อทศวรรษ 1990 และยังดูถูกเธอว่าสร้างเรื่องโกหกเพื่อเรียกยอดขายหนังสือ
เมื่อเดือน ส.ค. ผู้พิพากษาศาลระดับรัฐได้สั่งเดินหน้าคดีนี้ต่อ ซึ่งหมายความว่าทนายของ แคร์โรลล์ สามารถขอตรวจดีเอ็นเอ ทรัมป์ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับร่องรอยบนเสื้อผ้าที่เธออ้างว่าสวมใส่ในวันเกิดเหตุได้
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เคยพยายามยื่นคำร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นจำเลยในคดีนี้แทนทรัมป์ โดยอ้างกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐขณะปฏิบัติหน้าที่ ทว่าผู้พิพากษา ลูอิส แคปลัน แห่งศาลแขวงแมนฮัตตันไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าคำปฏิเสธของ ทรัมป์ ต่อข้อกล่าวหาของ แคโรลล์ “อยู่นอกเหนือขอบเขตของการว่าจ้างเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี” อีกทั้งเหตุการณ์ข่มขืนที่ว่ายังเกิดในขณะที่ ทรัมป์ เป็นบุคคลธรรมดา รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย
บาร์บารา แมคเควด อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งเป็นอดีตอัยการ ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมในยุคของ ไบเดน คงจะล้มเลิกความพยายามปกป้อง ทรัมป์ จากการถูกฟ้องในคดีนี้
- คดีหมิ่นประมาทที่ยื่นฟ้องโดย ซัมเมอร์ เซอร์วอส
อีกคดีซึ่งมีที่มาจากตัณหาราคะของ ทรัมป์ ล้วนๆ ก็คือ กรณีของ น.ส. ซัมเมอร์ เซอร์วอส อดีตผู้เข้าร่วมแข่งขันรายการ The Apprentice ที่ ทรัมป์ เป็นผู้จัดเมื่อปี 2005 โดยเธออ้างว่าเคยถูก ทรัมป์ คุกคามทางเพศด้วยการจูบปากแบบบดขยี้โดยที่เธอไม่เต็มใจเมื่อปี 2007 มิหนำซ้ำเขายังจับหน้าอกเธอที่โรงแรมแห่งหนึ่งด้วย
ทรัมป์ ออกมาประณาม เซอร์วอส ว่าเป็นพวกนักต้มตุ๋น ซึ่งทำให้เธอฟ้องเขาข้อหาหมิ่นประมาท
ทรัมป์ อ้างตามเคยว่า ตนในฐานะประธานาธิบดีได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันจากการถูกฟ้อง และคดีนี้ก็ถูกพักไประหว่างที่ศาลอุทธรณ์รัฐนิวยอร์กพิจารณาทบทวนคำตัดสินเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2019 ที่ระบุว่า ทรัมป์ สามารถถูก เซอร์วอส ฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างที่ดำรงตำแหน่งได้
อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองของ ทรัมป์ จะหมดไปทันทีที่เขาพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี
- การสอบสวนโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคาดว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในยุคของ ไบเดน อาจจะยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ ทรัมป์ ฐานหลบเลี่ยงภาษีเงินได้ หลังจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้ออกมาแฉข้อมูลว่า ทรัมป์ จ่ายภาษีให้รัฐบาลกลางเพียงแค่ 750 ดอลลาร์ (ราว 22,000 บาท) ระหว่างปี 2016-2017
ทรัมป์ ปฏิเสธรายงานของนิวยอร์กไทม์ส และอ้างว่า ที่จริงแล้วตนจ่ายภาษีไป “หลายล้านดอลลาร์” ทว่าได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีและได้เครดิตภาษีตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีในลักษณะนี้อาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งมากมาย และเป็นไปได้ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะมองว่า “ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ” แม้จะมีหลักฐานเอาผิด ทรัมป์ ได้ก็ตาม
ไบเดน เองก็แสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง โดยให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแห่งชาติสหรัฐฯ (National Public Radio) เมื่อเดือน ส.ค. ว่า การดำเนินคดีอาญากับ ทรัมป์ หลังพ้นตำแหน่ง “จะเป็นอะไรที่ผิดธรรมดาอย่างยิ่ง และอาจถือว่าไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย”
- คดีเกี่ยวกับการอ้างมูลค่าทรัพย์สินในนิวยอร์ก
เลทิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก ได้เปิดการสอบสวน ทรัมป์ และบริษัท ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน หลังจากที่ ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายส่วนตัวของทรัมป์ ให้การต่อสภาคองเกรสว่าประธานาธิบดีบิดเบือนมูลค่าทรัพย์สินให้สูงเกินจริงเมื่อต้องการมีชื่อติดอันดับมหาเศรษฐีของโลกของนิตยสาร Forbes และแสดงมูลค่าทรัพย์สินให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อจะต้องเสียภาษี
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่ง ทรัมป์จึงอาจจะโดนแค่โทษปรับ ทว่าไม่ถึงขั้นจำคุก
- หย่าเมีย?
สื่ออเมริกันหลายสำนักรายงานว่า ‘เมลาเนีย’ ซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 3 ของทรัมป์ กำลังหาทางฟ้องหย่า ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากที่ ทรัมป์ พ้นตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาว
สแตนดาร์ด สื่อมวลชนของอังกฤษ อ้างคำบอกเล่าของ สเตฟานี วอลคอฟฟ์ อดีตผู้ช่วยคนสนิทของเมลาเนีย ซึ่งอ้างว่าสุภาพสตรีหมายเลข 1 กำลังเจรจาข้อตกลงหลังแต่งงาน (postnuptial agreement) ซึ่งจะมอบส่วนแบ่งทรัพย์สินของ ทรัมป์ อย่างเท่าเทียมแก่ แบร์รอน ลูกชายของเธอ
วอลคอฟฟ์ ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ ‘Melania and Me : The Rise and Fall of My Friendship With the First Lady’ ที่วางแผงเมื่อเดือน ก.ย. ยังอ้างว่า ทรัมป์ กับภรรยาแยกห้องนอนกันในทำเนียบขาวมานานแล้ว และชีวิตคู่ของทั้งสองเป็นแค่การแต่งงานในทางธุรกรรม (transactional marriage)
โอมาโรซา แมนิโกลต์-นิวแมน อดีตผู้ช่วยของทรัมป์ เขียนเอาไว้ในพ็อกเกตบุ๊ก ‘Unhinged’ เมื่อปี 2018 ว่า “ในความเห็นของฉัน เมลาเนียกำลังนับถอยหลังทุกๆ นาทีเพื่อรอคอยวันที่ ทรัมป์ พ้นตำแหน่ง และตัวเธอเองจะได้หย่าขาดจากเขา”
ว่ากันว่า เมลาเนีย วัย 50 ปี ไม่เคยคาดหวังว่าสามีของเธอจะชนะศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 และถึงกับร้องไห้โฮเมื่อรู้ว่าเขาเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต แต่นั่นไม่ใช่น้ำตาแห่งความยินดี
แมรี จอร์แดน นักหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เขียนในหนังสือ ‘The Art of Her Deal : The Untold Story of Melania Trump’ ว่า เมลาเนีย เคยหาเรื่องประวิงเวลาในการย้ายเข้าทำเนียบขาวเมื่อปี 2017 เพื่อบีบให้ ทรัมป์ ยอมแก้เงื่อนไขการแต่งงานของทั้งคู่
เมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว มีข่าวลือหนาหูว่าชีวิตคู่และความรักระหว่าง เมลาเนีย กับ ทรัมป์ เริ่มไม่ราบรื่น อย่างไรก็ตาม เมลาเนีย ได้ยืนยันกับเอบีซีนิวส์ขณะเดินทางเยือน 4 ชาติแอฟริกาเพียงลำพังว่า “ขาเตียงยังแข็งแรงดี”
นอกจาก 6 คดีที่กล่าวไปข้างต้น สื่อ CNN คาดการณ์ว่า ทรัมป์ ยังจะอาจโดนข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (obstruction of justice) จากความพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการสืบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 โดยอัยการพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ทำคดีนี้เคยให้ปากคำต่อสภาคองเกรสเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2019 ว่า ตนเชื่อว่า ทรัมป์ จะถูกดำเนินคดีทันทีหลังจากที่พ้นตำแหน่งและหมดเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมาย