เอเจนซีส์ – บรรดาผู้นำชาติอาเซียนเริ่มต้นการประชุมสุดยอดในแบบออนไลน์ โดยนอกจากวาระการหารือสำคัญเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดแล้ว ปลายสัปดาห์นี้จะมีการต่อยอดการหารือกับพวกประเทศคู่เจรจาด้วยการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ในฐานะประธานประจำปีนี้ เปิดการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 37 ที่จัดแบบออนไลน์เมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.) โดยกล่าวว่า อาเซียนไม่เคยถูกดึงเข้าสู่ความเป็นปฏิปักษ์และความท้าทายที่มีต่อระบบพหุภาคี อย่างไรก็ดี ขณะนี้โลกกำลังถูกคุกคามจากความเสี่ยงจากการดำเนินการที่คาดเดาไม่ได้ของประเทศต่างๆ และความเป็นศัตรูระหว่างมหาอำนาจ
วาระการประชุมที่สำคัญในซัมมิตครั้งนี้คือ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิ์เกือบ 80% เหนือน่านน้ำนี้ โดยบางส่วนทับซ้อนเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน ตลอดจนถึงหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเวียดนามอ้างกรรมสิทธิ์อยู่
นับจากกลางเดือนสิงหาคม อเมริกาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จัดส่งเรือรบเข้าสู่ทะเลจีนใต้หลายครั้ง ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ รวมทั้งยังขึ้นบัญชีดำบริษัทรัฐวิสาหกิจ 24 แห่งของจีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ และการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารบนเกาะเทียมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งเป็นตัวแทนของจีนที่มาหารือกับอาเซียน ให้สัญญาว่า ปักกิ่งจะยังคงร่วมกับอาเซียนในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ด้านประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อให้มั่นใจว่า ทุกประเทศไม่ว่ารวยหรือจนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ปลอดภัย
นอกจากนั้น อาเซียนและ 5 ชาติคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ยังมีกำหนดร่วมลงนามรับรองความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ในวันอาทิตย์ (15) ซึ่งจะกลายเป็นข้อตกลงการค้าใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อวัดจากผลรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของชาติซึ่งเข้าร่วม
ข้อตกลงฉบับนี้ที่เสนอกันออกมาครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2012 ถูกมองว่า เป็นความพยายามของจีนในการตอบโต้แผนการริเริ่มตั้งเขตการค้าเสรีในแปซิฟิกของอเมริกาที่ขณะนี้ล้มเลิกไปแล้ว
เดิมทีอินเดียเข้าร่วมการเจรจาทำข้อตกลง RCEP ด้วย แต่เพิ่งถอนตัวไปเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากกังวลว่า สินค้าราคาถูกของจีนจะทะลักเข้าประเทศ อย่างไรก็ดี อินเดียสามารถเปลี่ยนใจกลับเข้าร่วมได้ในภายหลัง
ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิกของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก ระบุว่า อาร์เซ็ป ที่เศรษฐกิจของชาติสมาชิกรวมกันมีมูลค่าเท่ากับ 30% ของจีดีพีโลก จะเป็นความคืบหน้าสำคัญสำหรับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้
แผนการลงนามข้อตกลงนี้มีขึ้นขณะที่ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนกำลังต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อลดต้นทุนซึ่งพุ่งขึ้นจากไวรัสโคโรนาที่กำลังทำลายเศรษฐกิจและทำให้หลายประเทศเผชิญวิกฤตสาธารณสุขรุนแรง
ข้อตกลงฉบับนี้ยังถูกมองว่า เป็นกลไกที่ช่วยให้จีนสามารถเป็นร่างกฎเกณฑ์การค้าสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากอเมริกาภายใต้คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล่าถอยออกไป
อเล็กซานเดอร์ คาปรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า อาร์เซ็ปช่วยส่งเสริมความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่า โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา อาจเข้ามาเกี่ยวพันในภูมิภาคนี้มากขึ้นและสานต่อนโยบายปักหมุดเอเชียของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และคำสัญญาของจีนในการอนุญาตการเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสเป็นอันดับแรกๆ ทำให้หลายประเทศไม่มีแนวโน้มต่อต้านจีน แต่โฟกัสของการประชุมครั้งนี้จะมุ่งที่พัฒนาการเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและการส่งออกกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของศูนย์การศึกษาพหุภาคีของ สกูล ออฟ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ ของสิงคโปร์ มองว่า อาร์เซ็ปจะช่วยลดทอนผลกระทบทางการเงินจากโควิด-19 และทำให้อาเซียนฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากข้อตกลงนี้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สามารถกระจายห่วงโซ่อุปทานและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจในภูมิภาค