“นายกรัฐมนตรี” กล่าวถ้อยแถลงเวทีสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ย้ำความสำเร็จไทยคุมโควิด-19 ได้ดี พร้อมคุมเข้มต่อเนื่องสกัดแพร่ระบาดระลอกสอง เสนอ 3 แนวทางฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย แนะจัดทำข้อตกลงประเทศสมาชิกที่มีความพร้อมลดอุปสรรคนักลงทุน
วันนี้ (26 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกว่า ต้องขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับเวียดนามที่การประชุมสุดยอดอาเซียนและอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียน ในการรับมือกับโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี รัฐบาลจึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ยังคงบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม และการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง ในขณะที่กำลังปรับตัวรับกับวิถีใหม่ อีกด้านหนึ่งทุกคนก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ผันผวนมากขึ้น เราได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ การเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยมและต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ และท้าทายระบบพหุภาคีนิยม อาเซียนจึงควรร่วมมือกันต้านกระแสเหล่านี้ เสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็งและส่งเสริมการช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก ผนึกกำลังในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค หลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เลือกข้าง และเป็นสะพานเชื่อมโยงมหาอำนาจที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาค ใช้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้อาเซียนสามารถรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี เสนอ 3 แนวทางเพื่อขับเคลื่อน ‘อาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยประการแรก ‘อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น’ ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว นอกจากนี้ ควรเริ่มพิจารณาแนวทางร่วมกันในการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทาง โดยอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมก่อน สร้างช่องทางพิเศษสำหรับนักธุรกิจและประชาชน บนพื้นฐานของมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยอมรับร่วมกัน
ประการที่ 2 ‘อาเซียนที่เข้มแข็งขึ้น’ ด้วยการ ‘สร้างความเข้มแข็งจากภายใน’ ผ่านการขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และ 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลคือกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้นอีกถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”
และประการที่ 3 ‘อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น’ คือ สร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ไทยจะร่วมบริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ
สำหรับไทย เราได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักปรัชญาดังกล่าวสามารถเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้อาเซียนกลับมาเข้มแข็งกว่าที่เคยเป็น
นายกรัฐมนตรีขอบคุณเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดูแลช่วยเหลือคนไทยในประเทศของท่าน และอำนวยความสะดวกในการส่งคนไทยกลับบ้าน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือพลเมือง ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ้อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับ รวมจำนวนกว่า 18,000 คน
นอกจากนี้ ต้องเร่งดำเนินการเชิงรุก โดยการร่วมประชุมหารือทางไกล เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรค ความล่าช้า และเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ท้ายสุดนี้ ทั้งนี้ นายกนัฐมนตรีร่วมรับรอง ‘วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง’ และขอแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่ร่วมกับทุกภาคี เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมของประชาชนที่ทุกคนก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ถึงข้อเสนอต่อที่ประชุมเรื่องการจัดทำข้อตกลงร่วมกันด้านสาธารณสุขเพื่อเปิดประเทศหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ว่าเรื่องนี้ต้องหารือกันก่อน ทั้งสถานการณ์ภายนอกและภายในประเทศ เพราะจะต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเที่ยวบิน ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งหมดว่าจะไปที่ไหนอย่างไร ทั้งชุมชนจะต้องดูแลด้วย จะต้องคิดเตรียมการไว้รอบด้าน จะทำผลีผลามไปก็จะเกิดอันตรายได้ ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย ยอมรับผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเตรียมไว้อยู่แล้ว แต่เมื่อวานนี้ก็ยังหารือกันและมีความกังวลเรื่องการป้องกันและดูแลสุขภาพที่ยังจะต้องทำอย่างเข้มงวดต่อไป โดยต้องทำควบคู่กันไป ไม่เช่นนั้นก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ทั้งหมด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย