ชายวัย 70 ปีได้รับความช่วยเหลือ ถูกดึงออกจากเศษซากหักพังของอาคารแห่งหนึ่งในเมืองอิซมีร์ ของตุรกีเมื่อวันอาทิตย์ (31 ต.ค.) หลังจากถูกฝังอยู่เบื้องล่างนานกว่า 33 ชั่วโมง หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสั่นสะเทือนชายฝั่งทะเลอีเจียนของตุรกีและเกาะของกรีซ
เจ้าหน้าที่ตุรกีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีกในวันอาทิตย์ (31 ต.ค.) ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 62 ราย เกือบทั้งหมดล้วนอยู่ในเมืองอิซมีร์ โดยมีวัยรุ่น 2 ราย เสียชีวิตที่เกาะซามอสของประเทศกรีซ
อาห์เม็ต ซิติม ชายวัย 70 ปี ได้รับความช่วยเหลือออกจากหนึ่งในจำนวนอาคารที่พักอาศัยที่พังถล่มลงมาในเขตบายรัคลีของอิสมีร์ อดีตเขตชุมชนที่เคยมีแต่อาคารบ้านเรือนที่อ่อนแอต่อแผ่นดินไหว แต่กำลังถูกทดแทนด้วยโครงการก่อสร้างใหม่ๆ ในขณะที่ภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นว่าบรรดาอาคารที่พังถล่มลงมานั้นล้วนแต่เป็นอาคารเก่าแก่
ทีมช่วยเหลือและหน่วยฉุกเฉินเร่งมือขุดฝ่าซากหักพังมานานกว่า 2 วันในความพยายามค้นหาผู้รอดชีวิต ส่วนประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน บอกว่ารัฐบาลของเขามีความตั้งใจช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในอิซมีร์ ก่อนที่อากาศหนาวและฝนจะเริ่มขึ้น
เต็นท์มากกว่า 3,000 หลัง และเตียงราว 13,000 เตียง ถูกเตรียมไว้สำหรับส่งมอบแก่ศูนย์พักพิงชั่วคราว จากการเปิดเผยของสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของตุรกี พร้อมระบุว่าจนถึงตอนนี้พบผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ (30 ต.ค.) แล้ว 940 คน
ด้าน ฟาห์เรตติน โคคา รัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากโรงพยาบาลแล้วมากกว่า 700 คน แต่ยังมีอีก 8 คนที่อาการยังสาหัส ต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
ตุรกีมีแนวรอยเลื่อนพาดผ่านหลายแนว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยในปี 1999 เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ กว่า 18,000 คน
ส่วนแผ่นดินไหวในวันศุกร์ (30 ต.ค.) ทางสถาบันคันดิลลี ซึ่งตั้งอยู่ในอิสตันบูล บอกว่าวัดความรุนแรงได้ระดับ 6.9 และมีศูนย์กลางอยู่ในทะเลอีเจียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะซามอส
แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กซัดเข้าฝั่งเกาะซามอสจนน้ำทะเลทะลักเข้าท่วมท้องถนนและแม่น้ำทางฝั่งตะวันตกของตุรกี
กรีซและตุรกีตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่สู้ดีนัก แม้จะเป็นพันธมิตรในกลุ่มนาโตเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติครั้งนี้ได้นำมาสู่ปรากฏการณ์ที่หลายคนเรียกว่า “แผ่นดินไหวการทูต (earthquake diplomacy)” หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายมีการต่อสายพูดคุยกัน ตามมาด้วยบทสนทนาระหว่าง คีเรียคอส มิตโซทาคิส นายกรัฐมนตรีและ แอร์โดอัน
“ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันแค่ไหน แต่นี่คือเวลาที่ประชาชนของเราต้องยืนหยัดร่วมกัน” ผู้นำกรีซทวีตข้อความ ซึ่ง แอร์โดอัน ก็ได้ทวีตตอบกลับว่า “ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี การที่เพื่อนบ้านทั้งสองแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าหลายๆ อย่างในชีวิต”
(ที่มา : รอยเตอร์)