xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อแผ่นดินไหวตุรกีพุ่งเป็น 37 ศพ เหลือติดอยู่ใต้ซากหักพังอีกเกือบ 200 คน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณแม่รายหนึ่งและลูก 3 คน ถูกดึงขึ้นจากซากหักพังอย่างปลอดภัยในวันเสาร์ (31 ต.ค.) เกือบ 18 ชั่วโมงที่ติดอยู่ใต้อาคารแห่งหนึ่งที่พังถล่มลงมาในเมืองอิซมีร์ ทางตะวันตกของตุรกี หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ขยับเพิ่มเป็น 37 รายแล้ว


อย่างไรก็ตาม ฟาห์เรตติน โคคา รัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในเมืองอิซมีร์ ว่าลูกคนหนึ่งของผู้หญิงคนดังกล่าวเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ (30 ต.ค.) เพิ่มเป็น 37 ราย โดย 35 คนอยู่ในตุรกี และอีก 2 คนอยู่บนเกาะซามอสของกรีซ

ทีมช่วยเหลือกำลังพยายามช่วยลูกคนที่ 4 ของผู้หญิงคนดังกล่าว ส่วนทาง ตุนซ์ โซเยอร์ นายกเมศมนตรีของเมืองอิซมีร์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ ว่ายังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากหักพังอีกราวๆ 180 คน

แผ่นดินไหวทำลายอาคารอย่างน้อย 20 แห่งในอิซมีร์ ก่อความตื่นตระหนกไปทั่วเมือง และยังก่อคลื่นสึนามิขนาดย่อมซัดเข้าหาพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ

ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ว่ามีประชาชนได้รับบาเจ็บ 885 ราย ในนั้น 15 คนอาการสาหัส ส่วนรัฐมนตรีสาธารณสุขเสริมว่า จนถึงวันเสาร์ (31 ต.ค.) มีประชาชน 243 รายที่ยังคงพักรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ ของตุรกี


ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จนถึงตอนนี้สามารถช่วยเหลือประชานออกจากซากหักพังของอาคารต่างๆ ได้แล้วมากกว่า 100 คน

เจ้าหน้าที่เผยว่า ปฏิบัติการกู้ภัยต้องหยุดเป็นพักๆสืบเนื่องจากอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง โดยจนถึงบ่ายวันเสาร์ (31 ต.ค.) ภารกิจกู้ภัยเสร็จสิ้นแล้วใน 8 อาคารและกำลังเดินหน้าในอีก 9 อาคารอื่นๆ

รถแทรกเตอร์ถูกใช้รื้อเศษซากต่างๆ ออกจากอาคารที่พังถล่มลงมา ส่วนทีมช่วยเหลือพยายามทำลายกำแพงด้วยมือ นอกจากนี้แล้วเจ้าหน้าที่ยังได้ตั้งเตนท์รองรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราวๆ 300 เต็นท์ภายในเมือง และอีก 600 เตนท์อยู่ระหว่างดำเนินการ

กรีซและตุรกีตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่สู้ดีนัก แม้จะเป็นพันธมิตรในกลุ่มนาโตเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติครั้งนี้ได้นำมาสู่ปรากฏการณ์ที่หลายคนเรียกว่า “แผ่นดินไหวการทูต (earthquake diplomacy)” หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายมีการต่อสายพูดคุยกัน ตามมาด้วยบทสนทนาระหว่าง คีเรียคอส มิตโซทาคิส และ แอร์โดอัน

“ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันแค่ไหน แต่นี่คือเวลาที่ประชาชนของเราต้องยืนหยัดร่วมกัน” ผู้นำกรีซทวีตข้อความ ซึ่ง แอร์โดอัน ก็ได้ทวีตตอบกลับว่า “ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี การที่เพื่อนบ้านทั้งสองแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าหลายๆ อย่างในชีวิต”

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น