ลี คุนฮี ประธานของ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผู้แปลงโฉมบริษัทเกาหลีใต้แห่งนี้ ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ไฮเทคระดับโลก ถึงแก่มรณกรรมแล้วในวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) ภายหลังต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 6 ปี สิริอายุได้ 78 ปี ทั้งนี้ตามประกาศของบริษัท
ซัมซุง ใต้การนำของ ลี คุนฮี ได้ก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์สมาร์ตโฟน และชิปความจำรายใหญ่ที่สุดของโลก และรายรับโดยรวมของบริษัทต่างๆ ในเครือซัมซุง กรุ๊ป เมื่อปี 2019 อยู่ที่ 326.7 ล้านล้านวอน (289,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือเท่ากับประมาณ 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเกาหลีใต้
การเติบใหญ่อย่างรวดเร็วและมโหฬารยิ่งเช่นนี้ของ ซัมซุง ทำให้ ลี กลายเป็นมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุด และเป็นนักอุตสาหกรรมผู้ทรงอำนาจที่สุดของเกาหลีใต้
“เป็นความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงที่เราต้องประกาศการจากไปของ ลี คุนฮี ประธานของซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์” บริษัทระบุในคำแถลง โดยบอกด้วยว่า “ประธานลีจากไปในวันที่ 25 ตุลาคม โดยที่ครอบครัวของท่าน รวมทั้ง รองประธาน เจย์ วาย. ลี ต่างอยู่เคียงข้างท่าน
“ประธานลีเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์อย่างแท้จริงซึ่งได้แปรเลี่ยนซัมซุงให้กลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมชั้นนำของโลกและเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม จากที่เคยเป็นแค่ธุรกิจในระดับท้องถิ่น” คำแถลงของบริษัทบอก และกล่าวด้วยว่า “มรดกของท่านจักดำรงคงอยู่ตลอดไป”
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ถูกครอบงำด้วยกลุ่ม “แชโบล” ซึ่งหมายถึงกลุ่มธุรกิจที่มักมีกิจการหลายหลากและควบคุมโดยครอบครัวเพียงครอบครัวเดียว ถือเป็นลักษณะพิเศษที่โดดเด่นของทุนนิยมแบบเกาหลีใต้ โดยที่ ซัมซุง คือกลุ่มแชโบลที่ใหญ่โตที่สุด ชนิดทิ้งกลุ่มอื่นๆ ไปไกล
แชโบลเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขับดันให้ประเทศชาติแปรเปลี่ยนจากซากหักพังภายหลังสงคราม จนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่โตเป็นอันดับ 12 ของโลก ทว่าในเวลานี้ก็มีเสียงวิพากษ์กล่าวหาดังสนั่นเช่นกันว่า ระบบนี้ทำให้เกิดความผูกพันทางการเมืองแบบคลุมเครือไม่ตรงไปตรงมา อีกทั้งทำลายการแข่งขัน โดยที่ ลี คุนฮี เอง ก็ได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางอาญาถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นการติดสินบนประธานาธิบดีแดนโสมขาว
ธุรกิจระดับโลก
กลุ่มซัมซุงก่อตั้งขึ้นโดย ลี บยุง-ชุล บิดาของ ลี คุนฮี โดยในตอนแรกเป็นกิจการส่งออกปลาและผลไม้ แต่ตอนที่ ลี คุนฮี รับมรดกตำแหน่งประธานของกลุ่มนี้ในปี 1987 นั้น ซัมซุงมีฐานะเป็นกลุ่มแชโบลใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้อยู่แล้ว โดยมีกิจการหลากหลายตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ไปจนถึงการก่อสร้าง
ทว่าภาพลักษณ์ของบริษัทในเวลานั้นถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกๆ และคุณภาพต่ำ
เล่าขานกันเป็นตำนานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 1993 หลังจากเขาเทคโอเวอร์ตำแหน่งประธานกลุ่มบริษัทมาได้ 5 ปี ลีซึ่งอยู่ในวัย 51 ปีรู้สึกผิดหวังมากที่ยังไม่สามารถผลักดันให้บริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เขาต้องการได้
เขาได้เรียกพวกผู้บริหารซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มหนึ่ง เดินทางไปเยือนห้าง “เบสต์ บาย” แห่งหนึ่งในเมืองลอสแองเจลิส เพื่อดูความจริงของจริงเกี่ยวกับสินค้าแบรนด์ซัมซุง สิ่งที่ได้พบคือ ทีวีซัมซุงเครื่องหนึ่งที่ฝุ่นเขลอะถูกทิ้งอยู่บนชั้นที่มุมหนึ่งของห้าง แม้จะติดราคาถูกกว่าเกือบๆ 100 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับโมเดลของคู่แข่งอย่างบริษัทโซนี่
หลังจากการประชุมกันอย่างเคร่งเครียดดุเดือดเป็นเวลา 9 ชั่วโมงถัดจากนั้น ลีก็ได้เริ่มต้นการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ที่ซัมซุง เพื่อมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดผ่านคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ
“ขอให้เราเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นเมียและลูกของเราเท่านั้น” ลีกล่าวเช่นนี้ในปี 1993
ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ลีเป็นผู้เรียกคืนพวกโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องแฟกซ์คุณภาพต่ำของบริษัทกลับคืนมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ แล้วจัดการเผาทิ้ง เป็นการแผ้วถางทางให้แก่การเกิดใหม่ของเครื่องโทรศัพท์มือถือซึ่งมีคุณภาพไว้วางใจได้และประสบความสำเร็จอย่างสูง
จากการกุมบังเหียนของ ลี ซัมซุงก็ได้กลายเป็นเพลเยอร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยในตอนที่เขาล้มป่วยหนักด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในปี 2014 นั้น บริษัทคือผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและชิปความจำรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตสำคัญทางด้านเซมิคอนดักเตอร์และจอแอลซีดี
ลีไม่ค่อยชอบพูดจากับสื่อมวลชนนัก แต่สื่อก็เฝ้าจับตาติดตามอย่างใกล้ชิดเมื่อใดก็ตามที่เขาทำลายความเงียบที่ดำเนินมายาวนาน โดยบ่อยครั้งคือในช่วงการปราศรัยของบริษัทเนื่องในเทศกาลปีใหม่
ตั้งแต่ที่เขาป่วยหนักด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในปี 2014 บุตรชายคนโตของเขา ลี เจยอง หรือที่เรียกชื่อกันแบบภาษาอังกฤษว่า เจย์ วาย. ลี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานของ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ คือผู้กุมบังเหียนบริษัทในทางพฤตินัย
ราชาฤาษี
ถึงแม้มีทั้งความมั่งคั่งและอำนาจล้มเหลือ แต่ ลี แทบไม่ได้ออกมานอกแนวกำแพงสูงของกลุ่มอาคารที่พักส่วนตัวของเขาในบริเวณใจกลางกรุงโซล เพื่อไปเยือนอาคารสำนักใหญ่ของกลุ่มซัมซุง จนเป็นเหตุให้เขาได้รับสมญานามว่า “ราชาฤาษี”
ลี คุนฮี เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของบิดาที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มซัมซัง เขามีจุดอ่อนในเรื่องรักชอบสุนัขมาก โดยเป็นคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเขาถูกที่บ้านส่งตัวไปเรียนหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อายุแค่ 11 ปี นอกจากนั้นยังเป็นที่ทราบกันว่าเขาชื่นชอบภาพยนตร์, การขี่ม้า, และซูเปอร์คาร์แปลกใหม่น่าลุ่มหลงทั้งหลาย
เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และได้รับปริญญาโท เอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ในสหรัฐฯ
เขาขึ้นเป็นรองประธานของบริษัทก่อสร้างและเทรดดิ้งของกลุ่มซัมซุงเมื่อตอนอายุ 36 ปี และกลายเป็นประธานของทั้งกลุ่มบริษัทในอีก 8 ปีต่อมา ไม่นานนักหลังจากบิดาของเขาถึงแก่กรรม
ลี สมรสกับ ฮอง ราฮี ซึ่งบิดาเคยเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน และบุตรสาวอีก 3 คน
ติดสินบน, ยักยอกฉ้อโกง, หนีภาษี
ในเกาหลีใต้นั้น โลกของการเมืองและโลกของธุรกิจมีความเกี่ยวข้องพัวพันกันอย่างใกล้ชิด และคอนเนกชั่นของโลกทั้ง 2 ก็สะท้อนมาถึงตัว ลี คุนฮี ด้วย
เมื่อปี 1996 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานติดสินบนอดีตประธานาธิบดี โน มูฮย็อน (Roh Tae-woo) เพื่อให้ดำเนินนโยบายธุรกิจที่เอื้อประโยชน์แก่ซัมซุง
ลียังถูกระบุว่ามีความผิดในข้อหายักยอกและหนีภาษี จากคดีอื้อฉาวจัดตั้งกองทุนไว้สำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่เมื่อปี 2008 ซึ่งทำให้เขาต้องก้าวลงจากการนำบริษัทเป็นช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่ง
แต่ด้วยบทลงโทษที่เป็นเพียงการรอลงอาญา หมายความว่าเขาไม่ได้เคยต้องติดคุกจริงๆ เลย รวมทั้งเขายังได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีรวม 2 ครั้ง จากการเป็นแกนนำในการผลักดันให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2018
เขายังต่อสู้คดีจนได้ชัยชนะจากการถูกพี่ชายและพี่สาวของเขาฟ้องร้องว่า พวกเขาควรมีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งในหุ้นของซัมซุงคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ภายหลังจากมีอาการหัวใจล้มเหลวแล้ว ลี คุนฮี ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ ทว่าแทบไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของเขา และกลายเป็นความลับปริศนาแม้กระทั่งในช่วงวันท้ายๆ แห่งชีวิต
(เก็บความและเรียบเรียงจากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี และสำนักข่าวรอยเตอร์)