xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้ ‘หน้ากาก’ กันโควิดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องสวมทั้ง ‘ผู้ป่วย-ผู้รับเชื้อ’ จึงได้ผลดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัยญี่ปุ่นพบว่าหน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ปะปนมากับละอองแขวนลอยในอากาศได้ ทว่า แม้แต่หน้ากากประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาล (professional-grade) ก็ยังไม่สามารถขจัดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ 100 เปอร์เซ็นต์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ทดลองสร้างกล่องใสปลอดเชื้อที่มีศีรษะหุ่น 2 ตัว ประจันหน้ากันอยู่ หัวที่ 1 ติดตั้งเครื่องพ่นละอองไอน้ำ (nebulizer) เพื่อจำลองการไอที่ปลดปล่อยอนุภาคโควิด-19 ออกมา ส่วนหัวที่ 2 จำลองการหายใจระดับปกติของมนุษย์ และมีช่องสำหรับเก็บเชื้อไวรัสที่ผ่านระบบทางเดินหายใจเข้ามา

จากการทดลองดังกล่าวพบว่า หน้ากากผ้าฝ้ายสามารถลดปริมาณไวรัสที่เข้าสู่ ‘หัวรับ’ ได้สูงสุด 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใส่หน้ากาก

หน้ากาก N95 ซึ่งใช้ในวงการแพทย์สามารถป้องกันไวรัสได้สูงสุด 90% ทว่า ต่อให้ใช้สกอตช์เทปยึดหน้ากากให้ติดแนบกับใบหน้าแล้ว ก็ยังมีอนุภาคไวรัสบางส่วนที่สามารถเล็ดรอดเข้าไปได้

ในทางกลับกัน เมื่อสวมหน้ากากเข้ากับหัวที่ปล่อยละอองไอออกมา พบว่า หน้ากากผ้าฝ้ายและหน้ากากทางการแพทย์สามารถลดการแพร่เชื้อไวรัสได้มากกว่า 50%


“ดังนั้น ถ้าหัวรับและหัวปล่อยไวรัสสวมหน้ากาก ก็จะให้ประสิทธิภาพที่ส่งเสริมกัน” ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่วานนี้ (21 ต.ค.)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลกลงความเห็นพ้องมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า โควิด-19 สามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศได้ และในเดือนนี้ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) ก็ได้ออกคำแนะนำใหม่ที่ระบุว่า เชื้อโควิด-19 อาจแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานสูงสุดหลายชั่วโมง

นักวิจัยญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่งยังได้ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลจำลองเพื่อพิสูจน์ว่า ความชื้นในอากาศ (humidity) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ส่งผลต่ออัตราการแพร่ของอณูไวรัสด้วยเช่นกัน

ที่มา: รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น