xs
xsm
sm
md
lg

อาลีเพย์ย้ำ "บล็อกเชน-ปัญญาประดิษฐ์-คิวอาร์โค้ด" ช่วยธุรกิจจีนฝ่าวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก หลายประเทศเริ่มหันมาสนใจความสำเร็จของจีนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือการแพร่ระบาด และช่วยให้เศรษฐกิจของจีนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีไม่หยุดชะงัก เทคโนโลยีล้ำลึกที่ธุรกิจจีนนำมาใช้ต่อสู้กับโควิด-19 มีทั้งบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ คิวอาร์โค้ด และอีกหลายส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจของจีนดำเนินต่อได้

อาลีเพย์ (Alipay) กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชน (BLOCKCHAN) ในภารกิจกู้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ว่าหลังจากที่บริษัทเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งทำให้การจัดส่งเครื่องมือดังกล่าวและการนำไปใช้มีความโปร่งใสมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้ใช้เทคโนโลยี Ant Blockchain และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสุขภาพและคณะกรรมการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลเจ้อเจียง

นอกจากนี้ ในมณฑลกานซู แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ยังเปิดตัวระบบประมูลออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าร่วมการประมูลผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เทคโนโลยีบล็อกเชนของแอนท์ ไฟแนนเชียล ช่วยทำให้แน่ใจได้ว่าข้อมูลและกระบวนการเปิดประมูลมีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงใดๆ และมีความน่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน Ant Duo-Chain ยังเป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินสำหรับซัพพลายเชนที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน และพัฒนาโดยแอนท์ ไฟแนนเชียล ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากสามารถยื่นขอเงินกู้จากธนาคารโดยใช้บัญชีลูกหนี้จากองค์กรขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีแก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาด ตัวอย่างเช่น Guangzhou Wubiao ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้า ได้รับสินเชื่อ 2 ล้านหยวนโดยใช้บัญชีลูกหนี้จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 1919.com

อาลีเพย์ยังใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยได้รับบริจาคหน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ และเงิน ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงาน โดยผ่านทางแพลตฟอร์ม Shanzong ที่ช่วยตรวจสอบติดตามเงินและสิ่งของบริจาคผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพ Hyperchain และ China Xiong'an Group

เทคโนโลยี AI ช่วยมาก

อาลีเพย์ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ที่ถูกติดตั้งไว้ตามรถไฟใต้ดิน สถานีรถไฟ สนามบิน และศูนย์บริการสังคม เพื่อระบุและติดตามบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ และช่วยในการดำเนินการที่จำเป็น ระบบอัตโนมัตินี้มีประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองบุคคลที่อาจติดเชื้อ (เช่น ระบบของ Megvii สามารถตรวจวัดได้ 300 คนต่อนาที และระบบของ SenseTime สามารถระบุตัวบุคคลที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย)

ด้านศูนย์สาธารณสุขเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Public Health Clinical Center - SPHCC) ระดมกำลังจากหลายภาคส่วนเพื่อใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการต่อสู้กับไวรัส โดยร่วมมือกับ Yitu Healthcare ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ในเซี่ยงไฮ้ เปิดตัวระบบประเมินผลอัจฉริยะสำหรับการทำซีทีสแกนทรวงอกเพื่อตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 (Intelligent Evaluation System of Chest CT for COVID-19) เมื่อวันที่ 28 มกราคม

เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสที่ผ่านการสัมผัสโดยตรงในที่สาธารณะที่มีผู้คนสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น เช่น ชุมชนที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล และสถานีรถไฟ Sugr Technology ได้พัฒนาสวิตช์ไฟฟ้าที่สั่งงานด้วยเสียง โดยใช้ชื่อว่า “sesame switch” สวิตช์ดังกล่าวสามารถตรวจจับเสียงพูดและรับรู้คำสั่งเสียงจากระยะไกล

คิวอาร์โค้ด-หุ่นยนต์ รับบทเด่น

ช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารเมืองใหญ่ของจีนกว่า 200 เมืองเปิดตัวบริการชั่วคราวสำหรับโค้ดด้านสุขภาพ (Health Code) ผ่านมินิโปรแกรมของอาลีเพย์ (Alipay) นอกเหนือจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น WeChat และเว็บพอร์ทัลที่ดำเนินการโดยหน่วยงานควบคุมโรคระบาด หลังจากที่ผู้ใช้ผ่านการตรวจสอบ ระบบบริการโค้ดด้านสุขภาพจะขอให้ผู้ใช้กรอกแบบฟอร์มออนไลน์และรายงานข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น เมืองที่ผู้ใช้อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผู้ใช้มีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ผู้ใช้เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในช่วง 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ จากนั้นบริการดังกล่าวจะให้คิวอาร์โค้ดที่เป็นสีแดง เหลือง หรือเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อระบุระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคคลดังกล่าว ในการผ่านจุดตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามสนามบินและสถานีรถไฟ ประชาชนจะต้องแสดงคิวอาร์โค้ดของตนเอง

สำหรับหุ่นยนต์และโดรน บริษัทคีนอน โรโบติกส์ (Keenon Robotics Co) สตาร์ตอัปในเซี่ยงไฮ้ที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ พบว่าผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ด้านบริการเชิงพาณิชย์ของบริษัทฯ ถูกใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งในจีนเพื่อจัดการกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยัน รวมถึงผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ หุ่นยนต์ด้านบริการเหล่านี้ทำหน้าที่จัดส่งอาหาร ยา และสิ่งของไปยังแผนกที่ถูกแยกออกไป หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมเครื่องที่อยู่ห่างไกล ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคระบาด เพราะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดความจำเป็นในการใช้บุคลากร

ด้านยานพาหนะติดตั้งเครื่องถ่ายภาพซีทีแบบเคลื่อนที่จาก Ping An Health Inspection Center ช่วยให้ประชาชนในเมืองอู่ฮั่นสามารถรับการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ยานพาหนะดังกล่าวติดตั้งเครื่องซีทีสแกนสำหรับใช้ทั่วร่างกายและใช้การเชื่อมต่อ 5G โดยนับเป็นระบบเคลื่อนที่ระบบแรกที่ใช้เครื่องซีทีสแกนทั่วทั้งร่างกาย ทั้งนี้ CT นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากที่สุดสำหรับการตรวจวินิจฉัยโควิด-19

ขณะที่หลายบริษัทของจีน ใช้โดรนเพื่อทำการตรวจสอบการแพร่ระบาดโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น Pudu Technology จากเสิ่นเจิ้นได้ติดตั้งอุปกรณ์โดรนไว้ในโรงพยาบาลกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน MicroMultiCopter ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทจากเสิ่นเจิ้น ใช้โดรนในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และถ่ายภาพความร้อน

ยังมีนีโอลิกซ์ (Neolix) ธุรกิจขนส่งแบบไร้คนขับในกรุงปักกิ่ง ดึงดูดลูกค้าหลายราย รวมถึง Alibaba Group Holding Ltd., Meituan Dianping และ JD.Com Inc. ซึ่งจองออเดอร์สำหรับยานพาหนะกว่า 200 คันในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยรถบรรทุกขนาดเล็กของ Neolix ช่วยให้ลูกค้าลดการสัมผัสร่างกาย และแก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานเนื่องจากการกักกันพื้นที่และข้อจำกัดการเดินทาง

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ก็มา

ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนให้ความร่วมมือในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค การตรวจคัดยา การตรวจจับและวิเคราะห์ทางจีโนมิกส์ โดยให้การสนับสนุนในส่วนของซอฟต์แวร์และระบบประมวลผล ตัวอย่างเช่น Beijing Super Cloud Computing Center จัดหาทรัพยากรด้านซูเปอร์คอมพิวติ้ง เพื่อช่วยเหลือบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการจัดลำดับยีน การพัฒนาวัคซีน การตรวจคัดยา และการคาดการณ์เกี่ยวกับการกลายพันธุ์

เจ้าพ่ออย่างเทนเซ็นต์ (Tencent) เปิดให้ใช้งานระบบซูเปอร์คอมพิวติ้งของบริษัทฯ รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำการคำนวณได้รวดเร็วกว่าพีซีทั่วไปหลายเท่า เพื่อช่วยให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาโรค โดยร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งกรุงปักกิ่งและมหาวิทยาลัย Tsinghua University

นอกจากจีน ยังมีกรณีศึกษาน่าสนใจจากสิงคโปร์ ซึ่งใช้การตรวจจับและการป้องกัน: iThermo เป็นอุปกรณ์ใหม่สำหรับการตรวจวัดและคัดกรองอุณหภูมิ โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อระบุตัวบุคคลที่มีไข้ อุปกรณ์นี้ถูกใช้งานที่สิงคโปร์ เพื่อลดความจำเป็นในการตรวจวัดโดยเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์คัดกรองแบบเรียลไทม์นี้ใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนที่ติดตั้งเข้ากับกล้องตรวจจับความร้อนและกล้องเลเซอร์ 3 มิติ ทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิที่หน้าผากของคนที่เดินผ่านอุปกรณ์ โดยสามารถตรวจวัดได้แม้กระทั่งคนที่สวมแว่นตา หน้ากากอนามัย หรือหมวก ช่วยแก้ไขปัญหาคิวยาวในบางสถานที่ที่ต้องใช้เวลานานในการตรวจวัดอุณหภูมิโดยเจ้าหน้าที่ นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลาและกำลังคนได้อย่างมาก

ด้านการสนับสนุนทีมแพทย์และพยาบาล แกร็บ (Grab) เตรียมเปิดตัวบริการ GrabCare เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเดินทางไป-กลับจากโรงพยาบาลได้อย่างราบรื่น และมีแผนที่จะขยายบริการดังกล่าวไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

สำหรับฮ่องกง มีการใช้หุ่นยนต์ตรวจจับไข้ตัวร้อน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย “Roborn Technology” บริษัทเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในฮ่องกง ใช้เวลาราวสองสัปดาห์ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับตรวจจับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ภายในระยะห่าง 5 เมตร หุ่นยนต์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อตรวจพบบุคคลที่มีอาการตัวร้อนในบริเวณใกล้เคียง


กำลังโหลดความคิดเห็น