ถ้าคุณประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเวลานี้ รถของคุณจะช่วยชีวิตคุณและครอบครัวได้หรือไม่ ?
เวลาที่เราเดินทางโดยรถยนต์ เราทุกคนต่างกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุ เมื่อไม่นานมานี้ มีหลากหลาย “เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบป้องกัน” (active safety technologies) ที่ได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้อง (passive safety technology) เข้ามามีบทบาทในการลดการบาดเจ็บให้กับผู้คนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
คุณอาจด่วนสรุปว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการทดสอบการชนของรถยนต์ ซึ่งจะว่าไปแล้วความคิดนี้ก็ถูกต้องบางส่วน อย่างไรก็ตาม หากเราต้องนำเอารถคันจริงมาทดสอบการชนทุกครั้งที่เราต้องการทดสอบสถานการณ์ต่างๆ มันก็คงจะเป็นการสิ้นเปลืองเกินไปสำหรับผู้ผลิตอย่างเราๆ ที่มีผลิตภัณฑ์รถยนต์อยู่มากมาย ดังนั้น ในชีวิตจริง เวลาที่เราจะทำการทดสอบการชน นอกจากที่เราจะทดสอบการชนโดยใช้รถจริง เรายังทดสอบในลักษณะของการใช้เทคโนโลยีแบบเสมือนจริงผ่านการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อจำลองสถานการณ์การชนด้วย ตลอดจนพยายามพิสูจน์สมรรถนะความปลอดภัยแบบปกป้อง (passive safety) จากการทดสอบการชนทั้งสองแบบ
เมื่อเราพูดถึง “การทดสอบการชนแบบเสมือนจริงโดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์” ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้คนมักจะคิดถึงรถยนต์เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรถชนแล้วจะทำให้รูปทรงของรถเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เป็นต้น แต่ที่โตโยต้า เราตัดสินใจที่จะวิเคราะห์ลึกลงไปกว่านั้นอีกขั้นด้วยการพัฒนาโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงที่เราเรียกว่า ‘THUMS’ ขึ้นมา ซึ่งโมเดลดังกล่าวนี้สามารถจำลองและคำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์ในสถานการณ์การชนแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้เอง ในการทดสอบการชนแบบเสมือนจริงที่โตโยต้าจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องนั้น เรามุ่งวิเคราะห์ทั้งในแง่ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวรถเอง แต่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับร่างกายของคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์อุบัติเหตุรถชนด้วย
ลักษณะเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของ THUMS คือมีความแม่นยำสูง เพราะนอกจากที่โมเดลดังกล่าวจะประกอบไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยของร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างกระดูก สมอง อวัยวะภายในกล้ามเนื้อ และอื่นๆ แล้วนั้น มันยังลงรายละเอียดเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของร่างกายได้อีกด้วย (ดูจากความหนาแน่นและสสาร) ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งผลการประเมินที่ถูกต้องแม่นยำว่า “ร่างกายมนุษย์จะเสียหายเพียงใดกรณีเกิดรถชน” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องสร้างสรรค์การจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงขึ้นมา
ในกระบวนการพัฒนา THUMS ขึ้นมานั้น นอกจากที่บุคลากรในทีมจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงแล้ว พวกเขายังจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและระบบของร่างกายมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ ทั้งนี้ แต่ละคนในทีมพัฒนา THUMS ต่างก็เป็นวิศวกรยานยนต์ที่ไม่ได้มีความคุ้นเคยใดๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์เลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทีมงานต่างต้องลองผิดลองถูกอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังประสบกับปัญหายุ่งยากอยู่ตลอดกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวนี้
แล้วทำไม THUMS ถึงเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็น ? และ THUMS ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องได้อย่างไร ? นี่ถือเป็นเรื่องที่ออกจะแตกต่างไปจากการพัฒนารถยนต์โดยทั่วไป แต่มันก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเรา โดยเราจะทยอยออกบทความต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่บทความนี้เป็นบทความแรก เพื่อไล่เรียงเรื่องราวความเป็นมาของการพัฒนา THUMS
ในบทความนี้ เราจะมาพูดคุยกับนาย ยูอิชิ คิตากาวา หรือที่ใครๆ รู้จักันในชื่อ Mr. THUMS เขาคือผู้ที่ทำการวิจัยและพัฒนา THUMS มาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี
เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์อุบัติเหตุรถชนที่กินเวลาเพียงเสี้ยววินาที
ได้ยินมาว่าคุณร่วมงานกับโตโยต้าตั้งแต่ปี 2547 และทำงานที่นี่มาหลายปีโดยเป็นสมาชิกคนสำคัญของทีมวิจัยเพื่อความปลอดภัยแบบปกป้องผ่านการพัฒนาและจำลองระบบ THUMS อยากขอให้คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของคุณที่ผ่านมาจนถึงจุดนั้น
สมัยเรียนในวิทยาลัย ผมเรียนเอกฟิสิกส์ประยุกต์และได้ลงเรียนหลักสูตรด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง ย้อนกลับไปในตอนที่เรียนนั้น ผมได้ยินมาว่ามีบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งกำลังจะพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์การชน ซึ่งต่อมาผมก็ลงเอยด้วยการไปช่วยทีมวิจัยทีมนี้ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน หลังจากที่ผมเรียนจบ ผมก็ได้เข้าทำงานต่อกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงปลายๆ ทศวรรษ 1980 ได้
ดังนั้นก็แปลว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณได้เข้าไปทำความรู้จักกับการจำลองสถานการณ์การชน อยากทราบว่าในตอนนั้นเทคโนโลยีด้านการจำลองสถานการณ์การชนเป็นอย่างไรบ้าง ?
ว่ากันว่าเทคโนโลยีนี้มีจุดกำเนิดจากแวดวงทหารอากาศในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950 โดยเป็นรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อจำลองการชนกับจรวดมิสไซล์และวัตถุอื่นๆ ที่บินได้ด้วยความเร็วสูงเป็นพิเศษ ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เริ่มนำเอาซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจำลองสถานการณ์การชนของยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ การทดสอบการชนนั้นเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การจำลองสถานการณ์การชนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยจึงสามารถสร้างภาพของการชนขึ้นมาใหม่และวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นกับรถที่เสียรูปทรงจากการดูดซับแรงกระแทก
ทำไมการจำลองแบบนี้จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญนอกเหนือไปจากการทดลองการชนโดยใช้รถจริง ?
การประเมินสมรรถนะความปลอดภัยแบบปกป้องนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดขึ้นทุกปี ซึ่งการที่เราจะต้องมาสร้างรถยนต์ต้นแบบขึ้นมาจริงๆ แล้วนำไปทำการทดสอบเพื่อให้ผ่านหลักเกณฑ์เหล่านี้อยู่ตลอดนั้น ถือเป็นการสิ้นเปลืองทั้งในแง่เวลาและงบประมาณในการพัฒนา ดังนั้น บรรดานักวิจัยจึงเริ่มคิดค้นหาวิธีการที่จำลองสถานการณ์การชนที่จะช่วยคาดการณ์ผลลัพธ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้จากการคาดการณ์นี้ก็จะถูกยืนยันผลอีกทีในขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบด้วยการนำเอารถยนต์จริงมาใช้ทดสอบการชน ต่อมา เมื่อหลักเกณฑ์เริ่มทวีความเข้มงวดมากขึ้น การจำลองสถานการณ์การชนก็จำเป็นที่จะต้องมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย คอมพิวเตอร์จึงได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการประมวลผลขั้นสูงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งในตอนแรกนั้น การจำลองสถานการณ์การชนจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์พิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวถัง แต่หลังจากนั้น เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์การชนก็เริ่มถูกพัฒนาเพื่อคาดการณ์การเคลื่อนไหวและน้ำหนักจากแรงกระแทกที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการชน
ดังนั้นก็แปลว่าขอบเขตของการวิจัยได้ถูกขยายออกไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการจำลองการชนของยานพาหนะ เป็นการจำลองดูว่าผู้โดยสารในรถได้รับผลกระทบและอาการบาดเจ็บอย่างไรบ้างจากอุบัติเหตุการชน แต่อยากทราบว่าเราได้มีการนำเอาหุ่นทดลองมาใช้ในการจำลองสถานการณ์การชนจริงๆ เมื่อไร ?
การวิจัยและพัฒนาหุ่นทดลองเพื่อจำลองลักษณะร่างกายของผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถที่ชนนั้นดูเหมือนว่าจะเริ่มมีการใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 โดยในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการพัฒนาหุ่นทดลองรุ่น Hybrid III ขึ้นมาโดยบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหุ่นทดลองรุ่นนี้ได้ถูกนำไปใช้โดยกองบริหารความปลอดภัยในจราจรบนทางหลวงแห่งชาติ (National Highway Traffic Safety Administration - NHTSA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมีการนำเอาไปใช้เช่นเดียวกัน
ในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นประเทศชั้นนำในการวิจัยด้านความปลอดภัยแบบปกป้องใช่หรือไม่ ?
ถูกต้องครับ อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นในการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยแบบปกป้อง โดยเริ่มแรกนั้น ได้มีการส่งวิศวกรโตโยต้าไปที่มหาวิทยาลัยเวย์น สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ในรัฐดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ ตัวผมเองก็เคยถูกส่งไปที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ผมทำงานอยู่ด้วยในตอนนั้น ซึ่งผมเป็นนักวิจัยอยู่ที่นั่น 2 ปี
วิศวกรในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หันมาศึกษาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์
เป็นตอนอยู่ที่นั่นใช่ไหมที่คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ? ตอนนั้นคุณศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาใด ?
เป็นสาขาที่เรียกกันว่าชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ซึ่งการที่เราจะเก็บรวบรวมข้อมูลการทดลองการชนโดยใช้หุ่นทดลองได้นั้น เราต้องทำการวิจัยโดยอาศัยศพของผู้ที่บริจาคร่างกายเพื่อหาคำตอบว่าร่างกายมนุษย์จะสามารถทนรับน้ำหนักได้มากเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยพบว่ากระดูกอาจแตกหักได้หากมีการเสียรูปในระดับที่มากเกินกว่าร้อยละ 3 เป็นต้น ผมถึงขั้นใส่เสื้อคลุมสีขาวเพื่อเข้าร่วมการผ่าศพใน
การศึกษากายวิภาคศาสตร์
ตอนนั้นคุณต้องเข้าร่วมดูการผ่าร่างกายมนุษย์ ผมคิดว่าตอนที่คุณเริ่มทำงานในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ คุณคงไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องมาสังเกตการณ์ดูการผ่าร่างกายมนุษย์ใช่ไหม ?
ไม่เลยครับ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการทำตัวให้คุ้นชินกับสิ่งนี้ แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจร่างกายมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่าการวิจัยโดยใช้ร่างกายมนุษย์คงไม่สามารถทำได้ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา ถูกต้องไหมครับ ?
ในประเทศสหรัฐอเมริกา บุคคลสามารถบริจาคร่างกายเพื่อจุดประสงค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากตัวเขามีความต้องการจะทำเช่นนั้นก็ย่อมได้ครับ อันที่จริงก็เหมือนกับการบริจาคอวัยวะ ซึ่งช่วยให้การศึกษาทดลองต่างๆ เป็นไปได้ง่าย
ดูเหมือนว่าเป็นเพราะร่างกายที่ได้รับการบริจาคและการศึกษาวิจัยในรูปแบบนี้เองที่ช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องพัฒนามาได้ไกลดังเช่นทุกวันนี้
THUMS จำลองร่างกายมนุษย์ที่บอบบางขึ้นมาใหม่
มาถึงตอนนี้ ผมอยากถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในการพัฒนา THUMS เมื่อปี 2543 โตโยต้าได้เปิดตัว THUMS เวอร์ชั่นแรกซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกับโตโยต้า เซ็นทรัล อาร์แอนด์ดี แล็บส์ ซึ่งในตอนนั้นคุณยังไม่ได้เข้าร่วมงานกับโตโยต้า อยากทราบว่าคุณได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา THUMS ได้อย่างไร ?
ในตอนนั้น ผมยังทำงานอยู่ที่ทำงานเก่าซึ่งผมก็มีโอกาสได้ฟังการนำเสนอเกี่ยวกับ THUMS โดยมร.อิวาโมโต จากโตโยต้า เซ็นทรัล อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ ภายในการประชุมของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น ในปี 2543 การได้ฟังเรื่องราวของ THUMS ในครั้งนั้นส่งผลต่อตัวผมมาก แน่นอนว่าก่อนหน้านั้นผมเคยได้เห็นโมเดลต่างๆ ที่จำลองอวัยวะบางส่วนของร่างกายมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เทคโนโลยี THUMS ของโตโยต้านั้นถือได้ว่าเป็นโมเดลแรกที่จำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงโดยสามารถจำลองร่างกายมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์และแม่นยำตลอดทั้งตัว นั่นทำให้ผมมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา THUMS ด้วยตัวเอง จากนั้นผมก็ได้มาเข้ารับการสัมภาษณ์กับทางโตโยต้า และได้ร่วมงานกับบริษัทในท้ายที่สุด
ทำไมบริษัทรถยนต์จึงพยายามพัฒนาโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงเอง ?
เพราะเรามองว่าการที่เราจะประสบความสำเร็จในการพัฒนารถที่ปลอดภัยได้อย่างแท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจำลองร่างกายมนุษย์ที่มีความบอบบางให้ได้ก่อน แม้ว่าหุ่นทดลองจะถูกออกแบบมาให้มีความทนทานต่อการทดสอบการชนได้ซ้ำหลายครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์สามารถตายได้ในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
นี่คือครั้งแรกของโลกที่เรามีโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงซี่งสามารถจำลองร่างกายของมนุษย์ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งตัว ผมมั่นใจว่าต้องมีความพยายามอย่างมหาศาลกว่าจะพัฒนามาได้ถึงขั้นนี้
ผมเคยได้ยินมร.ฮาเซกาวา หัวหน้าวิศวกรที่ทำการพัฒนาตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้น กล่าวไว้ว่าในตอนนั้นทีมงานต้องพยายามค้นหาหนทางเดินหน้าพัฒนาโครงการทั้งที่มืดแปดด้าน เพราะงานนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทางทั้งในด้านกายวิภาคศาสตร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มร.อิวาโมโต จากโตโยต้า เซ็นทรัล อาร์แอนด์ดี แล็บส์ ถึงขั้นเคยถูกบอกว่า “ไม่มีทางที่คุณจะทำโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์ได้หรอก” ตอนที่เขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนา
อันดับแรกเลย ทีมงานได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำการจำลองรูปร่างของมนุษย์โดยอ้างอิงจากข้อมูลด้านกายวิภาคศาสตร์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงคือ หากเราทำการจำลองโมเดลโดยลงรายละเอียดมากจนเกินไป ก็จะส่งผลต้องใช้เวลามากเกินไปในการประมวลผลเมื่อเราจำลองการชน ในทางกลับกัน หากเราจำลองโมเดลแบบง่ายจนเกินไป ก็จะไม่สามารถประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมนุษย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การจำลองโมเดลนั้นอยู่ในจุดที่สมดุลพอดี
ได้ยินมาว่าโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์ถูกสร้างขึ้นโดยใช้มือวาดเกือบทั้งหมดใช่ไหม ?
เนื่องจากร่างกายคนเราไม่ได้ประกอบไปด้วยเส้นตรงหรือรูปทรงวงกลมแบบทื่อๆ ทีมงานจึงต้องป้อนข้อมูลโดยการวาดด้วยมือเอง หลังจากที่ทำรูปร่างของร่างกายเสร็จสิ้นแล้ว ทีมงานก็จะเริ่มลงรายละเอียดอื่นๆ ในเชิงกลศาสตร์สำหรับส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก และอวัยวะภายใน ซึ่งนี่จะทำให้เห็นว่าร่างกายจะเกิดการบาดเจ็บหรือเสียหายอย่างไรเมื่อมีแรงน้ำหนักเข้ามากระแทก ซึ่งผมทราบมาว่าได้มีการค้นคว้าหาข้อมูลมาจากงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ สำหรับส่วนใดของร่างกายที่ไม่มีข้อมูลปรากฏ ก็มีการใช้ข้อมูลจากสัตว์แทน
รูปทรงของร่างกายมนุษย์ถูกจำลองขึ้นด้วยมือ โดยมีการสร้างกริดราว 80,000 กริดด้วยคอมพิวเตอร์
มันต้องเป็นงานที่ท้าทายมากแน่ๆ ซึ่งจากความพยายามทั้งหมดนี้ทำให้โตโยต้าสามารถประสบความสำเร็จในการเปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 1 ออกมาได้ในปี 2543 แต่ผมทราบมาว่าการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะแค่ในแง่ของเทคโนโลยีเท่านั้น
ด้วยความที่โมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงภายใต้ชื่อ “THUMS” นั้น เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทำให้คนที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรกจินตนาการไม่ออก ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร แม้กระทั่งหลังจากที่ผมอธิบายให้นักข่าวฟังคร่าวๆ แล้ว ก็ยังได้รับคำถามอยู่ว่า “ผมเข้าใจเนื้อหานะ ว่าแต่ THUMS ตัวจริงอยู่ที่ไหนล่ะ ?” (หัวเราะ)
ผมเห็นภาพเลย แม้แต่ตัวผมเองที่ได้รับทราบแล้วว่านี่คือโมเดลการประมวลผลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สิ่งนี้เป็นเทคโนโลยีเสมือนจริง ทำให้ THUMS สามารถวิเคราะห์ผลได้มากมาย เป็นสิบ เป็นร้อย หรือกระทั่งเป็นพันๆ ผลการวิเคราะห์ โดยการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยหากเราพึ่งพาการทดสอบการชนโดยใช้รถยนต์จริง เพราะ THUMS ไม่สามารถจับต้องได้ ทำให้มันเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้เพื่อค้นหา “เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องที่เป็นมิตรกับผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง”
ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของมร.คิตากาวา รวมถึงความเป็นมาของการจำลองการชน และขั้นตอนการพัฒนา THUMS เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ?
THUMS ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งสร้างสรรค์ความปลอดภัยแบบปกป้องให้กับรถยนต์ นี่คือความพยายามครั้งแรกของโลกที่จะสร้างการจำลองร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อนให้ได้อย่างแม่นยำด้วยคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากว่าจะสำเร็จมาจนถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยหยาดเหงื่อและประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคท้าทายมากมาย ตอนผมดูวิดีโอที่เขาทำงานอยู่ในห้องแล็บที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพที่เห็นตรงหน้านั้นช่างดูจะชัดเจนเกินไปจนผมไม่อาจจะทนดูได้ แต่มันก็ทำให้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งว่าการวิจัยในลักษณะนี้แหละที่จะนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องได้ในท้ายที่สุด
นี่ก็ล่วงเลยมา 20 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ THUMS เวอร์ชั่นแรกได้รับการเปิดตัว แต่ระหว่างทางตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้มีวิวัฒนาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง ?
ในบทความต่างๆ ในตอนหน้า เราจะมารับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนา THUMS จากทีมวิศวกรที่มีหน้าที่ควบคุมการพัฒนา อย่าพลาด !