เอเจนซีส์ - จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกทะลุหลัก 40 ล้านคนเมื่อวันจันทร์ (19 ต.ค.) ขณะที่หลายประเทศในยุโรปยกระดับมาตรการสกัดการระบาดใหญ่ที่กำลังกลับมาเป็นรอบสอง และองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวนั่นคือ 2 ล้านคน ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กันอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ และของสำนักข่าวหลายแห่ง รายงานตรงกันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกทะลุหลัก 40 ล้านคนเมื่อวันจันทร์ โดยรอยเตอร์ระบุว่า การเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน โดยใช้เวลาเพียง 32 วัน เทียบกับ 38 วันในการเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านคนเป็น 30 ล้านคน, 44 วันจาก 10 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน และ 3 เดือนจากที่พบผู้ติดเชื้อคนแรกในอู่ฮั่น เป็น 10 ล้านคน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 347,000 คน เทียบกับ 292,000 คนในสัปดาห์แรกของเดือนนี้ และกว่าครึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ใน 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อเมริกา อินเดีย และบราซิล
องค์การอนามัยโลกบอกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว นั่นคือเป็น 2 ล้านคนก่อนที่จะมีการแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสอย่างกว้างขวาง และตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านั้นถ้านานาชาติไม่มีมาตรการร่วมกันในการสกัดโรคระบาด
ในยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากไวรัสโคโรนาทะลุหลัก 250,000 คนไปแล้ว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นเฉพาะสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้น 44% ถือเป็นวิกฤตที่รุนแรงขึ้นมาก
เบลเยียม ได้ประกาศให้ร้านกาแฟและร้านอาหารทั่วประเทศปิดให้บริการ 4 สัปดาห์ ทำให้ธุรกิจบางแห่งประท้วงไม่พอใจ แม้รัฐบาลเตือนว่า ประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดก็ตาม
สวิตเซอร์แลนด์ที่เคยรอดพ้นจากวิกฤตไปได้เป็นส่วนใหญ่เมื่อตอนที่ไวรัสโคโรนาอุบัติขึ้นในจีนปลายปีที่แล้วและระบาดไปทั่วโลก แต่ว่าในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศนี้พุ่งขึ้น 2 เท่าตัวและเข้าสู่การระบาดรอบสองอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการจำกัดใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับสวมหน้ากากป้องกันในอาคารสาธารณะ และจำกัดการรวมตัวทำกิจกรรมในที่สาธารณะ
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวใน 9 เมือง รวมถึงปารีส ครอบคลุมประชาชนราว 20 ล้านคน หลังพบเคสใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 32,400 คนเมื่อวันเสาร์ (17)
อิตาลีก็ประกาศมาตรการจำกัดกิจกรรมของผู้คนครั้งใหม่เมื่อคืนวันอาทิตย์ (18) เพื่อรับมือการระบาดรอบสอง และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้มาตรการเข้มข้นที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศนาน 2 เดือนซึ่งใช้อยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ อิตาลีเป็นประเทศแรกสุดในยุโรปที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงเมื่อต้นปี
แต่สำหรับออสเตรเลีย มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้มายาวนานหลายเดือน ได้รับการยกเลิกแล้วเมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้ประชาชน 5 ล้านคนในเมืองเมลเบิร์นสามารถออกจากบ้านได้นานกว่าวันละ 2 ชั่วโมงเป็นครั้งแรกนับจากเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับร้านทำผมและสนามกอล์ฟที่เปิดให้บริการอีกครั้ง แม้ร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จะยังคงปิดจนถึงอย่างน้อยเดือนพฤศจิกายนก็ตาม
อิสราเอลก็ได้ยกเลิกมาตรการจำกัดที่ห้ามประชาชนออกจากบ้านไกลกว่า 1 กิโลเมตร รวมทั้งยุติการปิดโรงเรียนอนุบาล ชายหาด และอุทยานแห่งชาติ
ด้านซาอุดีอาระเบียผ่อนคลายมาตรการป้องกันไวรัส โดยอนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้าไปทำพิธีในมัสยิดใหญ่ของนครเมกกะเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับจากเดือนมีนาคม โดยจะมีการฆ่าเชื้อภายในมัสยิดก่อนและหลังการเข้าประกอบพิธีของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิของผู้ร่วมการละหมาด
ทุกๆ ปีจะมีชาวมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ในมัสยิดใหญ่แห่งนี้ แต่สำหรับปีนี้ซาอุดีฯ จำกัดให้มีผู้เข้าร่วมได้เพียง 10,000 คน เปรียบเทียบกับ 2.5 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว