ขณะที่ทั่วโลกยังง่วนกับการป้องกันไม่ให้วิกฤตโรคระบาดบ่อนทำลายการฟื้นตัวอันเปราะบาง เศรษฐกิจจีนกลับผงาดขึ้นอีกครั้งในฐานะประเทศใหญ่เพียงแห่งเดียวในโลกที่รอดพ้นจากภาวะถดถอย และกำลังจะปิดฉากปีนี้ด้วยอิทธิพลที่เข้มแข็งกว่าเดิม
วันอังคารที่ผ่านมา (13 ต.ค.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ซึ่งมีการคาดหมายว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 1.9% และ 8.2% ในปีหน้า ขณะที่จีดีพีโลกมีแนวโน้มติดลบ 4.4% ในปีนี้ ก่อนขยายตัว 5.2% ในปี 2021 สำหรับอเมริกาถูกคาดหมายว่า จะติดลบ 4.3% ในปีปัจจุบัน และโต 3.9% ในปีหน้า
เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากมาตรการต่างๆ ที่รวมถึงการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นและการติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโคโรนา รัฐบาลยังกันงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และเสนอมาตรการจูงใจเป็นเงินสดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน
ความพยายามเหล่านี้ส่งผลชัดเจนในช่วงเทศกาลวันหยุดโกลเด้นวีกเมื่อต้นเดือนซึ่งปรากฏว่า ทั้งการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายฟื้นตัวคึกคัก
ทั้งนี้ ซีเอ็นเอ็น บิสเนสนำข้อมูลของธนาคารโลกในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาที่คาดการณ์ว่า จีพีดีจีนปีนี้จะขยายตัว 1.6% ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมหดตัว 5.2% มาคำนวณและพบว่า เมื่อถึงปลายปี สัดส่วนของเศรษฐกิจจีนในจีดีพีโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.1%`หรือกว่า 3 เท่าของที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
ตรงข้ามกับสัดส่วนเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปที่ส่อแววลดลงเล็กน้อย
ทั้งหมดนี้ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะมีมูลค่าราว 14.6 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2020 หรือ 17.5% ของจีดีพีโลก
ลาร์รี หู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในจีนของแม็กควอรี กรุ๊ป บอกว่า แม้ไม่มีโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่หยุดชะงัก สัดส่วนเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ดี เพียงแต่ว่า ความสามารถของแดนมังกรในการสวนกระแสโลกด้วยการฟื้นตัวเข้มแข็งกว่าทุกประเทศ ทำให้ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวโดดเด่นที่สุดระหว่างสัปดาห์ที่แล้วที่ประชาชนทั่วประเทศเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุดประจำปี และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการเดินทางคึกคักที่สุดในรอบปี
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนเผยว่า มีประชาชนกว่า 630 คนออกเดินทางไปทั่วประเทศระหว่างเทศกาลโกลเด้นวีกที่จบลงเมื่อวันที่ 8 หรือเกือบ 80% ของจำนวนผู้ที่ออกเดินทางในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวฟื้นตัวเกือบ 70% ของช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ และยอดขายตั๋วหนังพุ่งทะลุ 580 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าสถิติที่ทำไว้ในปี 2019 แค่ 12%
หูจากแม็กควอรีเสริมว่า การใช้ชีวิตในจีนที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติหนุนให้การบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง และดีมานด์ที่เก็บกดไว้ถูกปลดปล่อยออกมาในที่สุด
พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตั้งแต่ก่อนเทศกาลโกลเด้นวีกแล้ว โดยข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า กิจกรรมการผลิตในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ผลสำรวจธุรกิจขนาดเล็กของกลุ่มสื่อ ไฉซิน ชี้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตยังคงขยายตัวในเดือนตุลาคม
ภาคบริการมีผลงานดีไม่ยิ่งหย่อนกัน โดยผลสำรวจของทางการที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนระบุว่า กิจกรรมการบริการทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี ขณะที่ผลสำรวจของไฉซินพบว่า ภาคบริการมีการขยายตัวเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษในเดือนกันยายน
นอกจากนั้น ต้นสัปดาห์นี้จีนยังออกรายงานเศรษฐกิจอีกชิ้นที่ระบุว่า ยอดนำเข้าเดือนกันยายนขยายตัวเร็วที่สุดในรอบปีนี้ ขณะที่ยอดส่งออกเติบโตแข็งแกร่งเช่นเดียวกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าจำนวนมากขึ้นผ่อนคลายข้อจำกัดในการป้องกันโรคระบาด
ยอดส่งออกเดือนกันยายนพุ่งขึ้น 9.9% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สะท้อนว่า ผู้ส่งออกจีนฉวยจังหวะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขณะที่เศรษฐกิจโลกออกสตาร์ทอีกครั้ง และคู่แข่งยังง่วนกับการฟื้นศักยภาพการผลิต
ส่วนยอดนำเข้าเดือนเดียวกันทะยานขึ้น 13.2% จากที่ลดลง 2.1% ในเดือนสิงหาคม บ่งชี้ว่า การใช้จ่ายเงินทุนภายในประเทศยังแข็งแกร่ง
หวัง เจ้อ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป ระบุในรายงานเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9 ต.ค.) ว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังโรคระบาดและมีพัฒนาการในจังหวะเร็วขึ้น
การใช้จ่ายของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเมื่อต้นปี นักเศรษฐศาสตร์ยังกังวลว่า การฟื้นตัวของจีนไม่สมดุลอย่างมากเนื่องจากขับเคลื่อนโดยโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเป็นผู้นำ ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังไม่กระเตื้องมากนัก
หลุยส์ คูจิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียของออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า แม้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้า แต่เศรษฐกิจจีนกลับได้ประโยชน์จากบทบาทของตนเองในห่วงโซ่อุปทานโลก การคำนวณของกลุ่มกิจการด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งนี้ยังบ่งชี้ว่า จีนจะมีสัดส่วนในจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นราว 1% ในปีนี้
คูจิสสำทับว่า แทนที่ห่วงโซ่อุปทานโลกจะโยกย้ายออกจากจีนอย่างที่มีการคาดการณ์กัน แต่กลับกลายเป็นว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดและทำให้โรงงานต่างๆ ยังเปิดได้
ตามปกติยิ่งส่งเสริมบทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก เขายังอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนที่ระบุว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงของอเมริกาในจีนในช่วงครึ่งแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 6%
ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า แม้อเมริกา-จีนปีนเกลียวกันหนักขึ้น แต่บรรษัทข้ามชาติอเมริกันมากมายยังคงกระตือรือร้นค้าขายกับจีน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปักกิ่งตัดสินใจขจัดอุปสรรคขัดขวางการลงทุนในภาคการเงินเมื่อเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแข็งแกร่ง แต่ยังมีความท้าทายหลายอย่างรออยู่
นักวิเคราะห์ของฟิตช์ เรทติ้งชี้ว่า วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนจนและชาวบ้านในชนบทของจีน เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกประเมินจากข้อมูลของทางการจีนและพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานต่างถิ่นในชนบทของจีนลดลงเกือบ 7% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นหมายถึงแรงงานในภาคก่อสร้าง การผลิต และงานอื่นๆ ที่มีรายได้ต่ำรวมแล้วหลายร้อยล้านคน
ผลสำรวจที่มหาวิทยาลัยเซาธ์เวสเทิร์น ออฟ ไฟแนนซ์ แอนด์ อิโคโนมิกของจีนจัดทำร่วมกับสถาบันวิจัยของแอนต์ กรุ๊ปยังพบว่า ครัวเรือนรายได้ต่ำในแดนมังกร ซึ่งหมายถึงครอบครัวที่มีรายได้ปีละไม่ถึง 7,350 ดอลลาร์ เป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุดในบรรดากลุ่มรายได้อื่นๆ
นักวิเคราะห์ของฟิตช์ เรทติ้ง มองว่า ผลสำรวจนี้บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงนี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่
ด้านคูจิสจากออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิกส์ระบุว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างปักกิ่ง-วอชิงตันยังเป็นประเด็นที่ต้องกังวล แม้การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในจีนเพิ่มขึ้นก็ตาม
เขาคาดว่า ถ้าอเมริกาตัดขาดจากจีนจริงจัง มีแนวโน้มว่า อัตราเติบโตต่อปีของแดนมังกรอาจลดลงไม่ถึง 0.5% จนถึงปี 2040 หากปักกิ่งยังรักษาความสัมพันธ์กับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ไว้ได้ แต่ถ้าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ร่วมมือกับอเมริกา อาจทำให้การเติบโตของจีนลดลงสองเท่าจากตัวเลขคาดการณ์ด้านบนตลอดระยะเวลาดังกล่าว