xs
xsm
sm
md
lg

‘อาเซียน’กำลังถูก ‘ฝ่ายทหารสหรัฐฯ’ บีบคั้นให้ช่วยเหลือปิดล้อม‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: มาร์ค วาเลนเซีย


ภาพเผยแพร่โดยราชนาวีไทย แสดงให้เห็น “ยูเอสเอส อเมริกัน” เรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกของสหรัฐฯ เดินทางมาถึงฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนหน้าการฝึกร่วม “คอบร้า โกลด์” วันที่ 22 ก.พ. 2020
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

ASEAN being pressed by US military to help contain China
by Mark Valencia
09/10/2020

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกบีบคั้นกดดันให้เข้าช่วยเหลือความพยายามทางการทหารของสหรฐฯที่มุ่งจะปิดล้อมจีน และก็มีบางรายเหมือนกันซึ่งกำลังทำเช่นนั้นอยู่ ทว่าการกระทำในทิศทางเช่นนี้ เป็นต้นว่าการอำนวยความสะดวกให้แก่การพิสูจน์ทราบทางด้านการข่าวกรองของอเมริกันนั้น มีแต่จะดึงลากให้ชาติในภูมิภาคนี้จมถลำลงไปในการแบ่งแยกนี้ล้ำลึกลงเรื่อยๆ

ไห่โข่ว, มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) - เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ร้องเรียนอย่างขมขื่นระหว่างกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า “บางประเทศ” กำลังก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา คำพูดซึ่งดูไม่เป็นที่นิยมของฝ่ายอื่นๆ เช่นนี้ อันที่จริงแล้วเป็นการเพียงการเปรยๆ ให้ทราบถึงความยากลำบากทางการทูต ในขณะที่เหล่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉีบงใต้ทั้งหลายกำลังถูกบีบอัดเค้นคั้นอยู่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ ในท่ามกลางการต่อสู้ของอภิมหาอำนาจทั้ง 2 รายนี้เพื่อช่วงชิงฐานะครอบงำทางทหารในภูมิภาคแถบนี้

สิ่งที่กัมพูชามีความวิตกกังวลเป็นพิเศษ ได้แก่การที่สหรัฐฯประกาศลงโทษคว่ำบาตรกลุ่มบริษัทก่อสร้างจีนที่มีชื่อว่า ยูเนียน ดีเวลอปเมนต์ กรุ๊ป (Union Development Group) ซึ่งกำลังเป็นผู้พัฒนาเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเขตใหญ่มหึมาตามแนวชายฝั่งของกัมพูชา เหตุผลที่วอชิงตันอ้างเพื่อการแซงก์ชั่นกลุ่มบริษัทจีนนี้ ได้แก่ “การทำตัวเป็นหน้าฉากให้แก่ประเทศจีน ในการเดินหน้าตามความทะเยอทะยานของตนที่จะแผ่อำนาจออกไปทั่วโลก” ทั้งนี้สหรัฐฯกำลังแสดงความวิตกว่าจีนอาจจะสร้างฐานทัพทางทหารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการสนับสนุนทางการทหาร ในโครงการพัฒนาเขตท่องเที่ยวในเขมรดังกล่าว --ถึงแม้นั่นเป็นสิ่งที่จีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่กัมพูชายืนยันว่าตนเองจะไม่ยินยอมให้ทำเช่นนั้นแน่นอน

สำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ นั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากำลังถูกบีบคั้นกดดันให้เข้าช่วยเหลือความพยายามทางการทหารของสหรัฐฯที่มุ่งจะปิดล้อมจีน –และก็มีบางประเทศเหมือนกันซึ่งกำลังทำเช่นนั้นอยู่

ฟิลิปปินส์กับไทยนั้นยังคงเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยการจัดหา “สถานที่ต่างๆ” สำหรับการจัดวางทรัพย์สินทางทหารของอเมริกัน พวกฐานทัพต่างๆ ของกองทัพอากาศไทยถูกระบุว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์ “การจัดวางตำแหน่งส่วนหน้า” (“forward positioning” strategy) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ขณะที่ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ถึงแม้ว่าอยู่ในอาการชักเข้าชักออก แต่สหรัฐฯก็ยังคงมีการปรากฏตัวทางทหารอย่างต่อเนื่องในฐานทัพ 5 แห่งที่ประเทศนั้น –รวมทั้งบางแห่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทะเลจีนใต้ด้วย

ฐานทัพ “บัตเตอร์เวิร์ธ” (Butterworth) ของกองทัพอากาศมาเลเซีย ก็ถูกใช้โดยออสเตรเลีย ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และคือกองบัญชาการของระบบป้องกันพื้นที่แบบบูรณาการ ของข้อตกลงป้องกัน 5 ฝ่าย (Five Power Defense Arrangements’ Integrated Area Defense System) โดยที่ข้อตกลงนี้ยังประกอบด้วยพันธมิตรของสหรัฐฯอย่าง สหราชอาณาจักร ตลอดจนสิงคโปร์ อีกด้วย

แต่การจัดวางของกองทัพสหรัฐฯรอบๆ ส่วนหนึ่งของเส้นขอบนอกของทะเลจีนใต้นี้ ยังเป็นเพียงแค่ส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดเท่านั้นของแถบสเปคตรัมอันกว้างขวางมากยิ่งกว่านี้นักหนา โดยที่สหรัฐฯใช้อากาศยานปฏิบติภารกิจในด้านการข่าวกรอง, การเฝ้าตรวจ, และการลาดตระเวน (intelligence, surveillance and reconnaissance ใช้อักษรย่อว่า ISR) เหนือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการป้องกันชายฝั่งและการป้องกันนอกชายฝั่งของจีนปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนหลายร้อยภารกิจ บางภารกิจบินออกมาจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซียก็ถูกสันนิษฐานว่าได้เสนอให้เครื่องบินสปายสหรัฐฯสามารถเข้าไปเติมน้ำมันที่ลาบวน (Labuan)

สหรัฐฯยังกำลังพิจารณาที่จะซัปพลายเครื่องบินสปายให้แก่เวียดนาม โดยที่เวียดนามน่าจะนำมาใช้ในการเฝ้าตรวจสอดแนมกิจกรรมต่างๆ ของจีน และแบ่งปันสิ่งที่ได้มาให้แก่สหรัฐฯ

ยิ่งกว่านั้น เที่ยวบินในภารกิจ ISR ของสหรัฐฯบางเที่ยวบินอาจจะบินออกจากตอนเหนือของออสเตรเลีย และในท้ายที่สุดกระทั่งมาจากหมู่เกาะโคโคส์ (Cocos Islands) –และบินเหนือน่านฟ้าอินโดนีเซีย— ด้วยเหตุนี้จึงกำลังดึงลากแคนเบอร์ราให้เข้ามาอยู่ในความวุ่นวายไม่ลงรอยกันทางการเมืองในเวลานี้

พวก “เจ้าบ้าน” เหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างพากันปฏิเสธ หรือไม่ก็แสดงอาการบ่ายเบี่ยงป้องกันตัวในเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันเหล่านี้ แน่นอนทีเดียว จีนไม่ซื้อ “คำอธิบาย” ของพวกเขา และน่าที่จะพิจารณาการเป็นเจ้าบ้านให้แก่การตรวจตราต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เป็นมิตร นี่อาจจะทำให้ “ทรัพย์สินสหรัฐฯ” เหล่านี้ตกเป็นเป้าหมายได้หากความเป็นปรปักษ์กันเกิดระเบิดตูมตามขึ้นมา

เหล่าประเทศในสมาคมอาเซียนควรต้องตระหนักว่า การเข้าพัวพันเกี่ยวข้องในทางทหารเหล่านี้คือการส่งสัญญาณทางการเมืองซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากถ้อยคำวาจาวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของพวกเขา แท้ที่จริงแล้ว การอำนวยความสะดวกให้แก่การตรวจตราหาข่าวกรองของสหรัฐฯเพื่อต่อต้านจีนนั้นมีแต่จะดึงลากพวกเขาให้จมลึกเข้าไปในความแบ่งแยกกันระหว่างแดนอินทรีกับแดนมังกรเท่านั้น

เวลานี้ อินเดียเพิ่งอนุญาตให้สหรัฐฯนำเครื่องบินติดอาวุธ โบอิ้ง พี-8 โพไซดอน (Boeing P-8 Poseidon) ลำหนึ่ง เข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและรับความสนับสนุนทางโลจิสติกส์ที่ พอร์ตแบลร์ (Port Blair) ในหมู่เกาอันดามัน (Andaman Islands) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.livemint.com/news/india/in-a-first-us-military-aircraft-refuels-at-india-s-port-blair-11601698698659.html) ยังไม่เป็นที่ชุดเจนว่านี่เป็นเรื่องครั้งเดียวจบ หรือเป็นการเริ่มต้นของแบบแผนการปฏิบัติที่จะมีครั้งต่อๆ ไป หากว่าเป็นอย่างหลัง จีนก็อาจจะพิจารณาได้เช่นกันว่า จากการกระทำเช่นนี้ เมื่อมองถึงวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติแล้ว อินเดียก็ไม่ถือว่าเป็น ประเทศ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (non-aligned) อีกต่อไป

สิ่งที่ให้ความรู้สึกย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า อินเดียนั้นมีฐานะคล้ายคลึงกันมากๆ กับจีน หากพิจารณาถึงเรื่องที่สหรัฐฯคอยทำตัวเป็นสปายสืบความลับในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zones ใช้อักษรย่อว่า EEZs) ของตนอยู่เสมอ อินเดียแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตึความของสหรัฐฯในบทมาตราที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) นั่นคือมาตราที่ห้ามการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพราะของประเทศอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของชายฝั่ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2017/06/rehman-india_china_and_differing_conceptions_of_the_maritime_order.pdf) สหรัฐฯถือว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการสำรวจทางการทหาร และด้วยเหตุนี้เป็นข้อยกเว้นโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตก่อน ทว่านี่เป็นทัศนะของเสียงข้างน้อยในเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯก็ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญา UNCLOS ซึ่งถือเป็นรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศทางทะเลด้วยซ้ำไป ดังนั้นสหรัฐฯจึงแทบไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใดๆ หรือแทบไม่ได้มีเครดิตความน่าเชื่อถืออะไร จากการตีความตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในมาตราเฉพาะเจาะจงต่างๆ ของ “ดีลแบบแพกเกจ” นี้ เพียงเพื่อให้ตนเองได้เปรียบได้รับประโยชน์

เวลานี้ ตามข้อมูลการรวบรวมของโครงการริเริ่มพิสูจน์ทราบสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้ (South China Sea Strategic Situation Probing Initiative ใช้อักษรย่อว่า SCSPI) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ระบุว่า ระหว่างวันที่ 8 ถึง 10 กันยายน เครื่องบินตรวจจับและรวบรวมสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ากองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Force electromagnetic signals detection and collection aircraft) ลำหนึ่ง ได้ใช้รหัสระบุอัตลักษณ์ (identification codes) ที่จัดสรรให้แก่เครื่องบินพลเรือนลำหนึ่งของมาเลเซีย ขณะป้วนเปี้ยนอยู่ในน่านฟ้าระหว่างประเทศบริเวณระหว่างไห่หนาน (ไหหลำ) กับหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands)

อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน เครื่องบินเฝ้าตรวจภาคพื้นดิน, บริหารจัดการการสู้รบ, และบังคับการอำนวยการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF ground surveillance, battle management and command and control aircraft) ลำหนึ่ง ได้บินอยู่เหนือทะเลเหลือง โดยกำลังใช้รหัสช่องรับส่งผ่านสัญญาณ (transponder code) ที่จัดสรรให้แก่เครื่องบินสายการบินเพื่อการพาณิชย์ลำหนึ่งของฟิลิปปินส์

หากเรื่องเหล่านี้เป็นความจริง นี่ก็คือการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัยและละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อุบายหลบหลีกเช่นนี้เป็นการผลักไสให้ฟิลิปปินส์และมาเลเซียถูกข้องใจสงสัย คำถามที่ชัดเจนมากก็คือ พวกเขาได้ทราบและอนุมัติการโกหกหลอกลวงเช่นนี้หรือไม่? ถ้าหากพวกเขาไม่ทราบไม่ได้อนุมัติ ทำไมพวกเขาจึงไม่แถลงออกมาให้สาธารณชนรับรู้?

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เฮอร์โมเจเนส เอสเปรอน จูเนียร์ (Hermogenes Esperon Jr) แสดงให้เห็น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://globalnation.inquirer.net/191340/us-spy-plane-disguising-as-ph-aircraft-near-china-could-be-test-of-beijing-reaction-esperon) ว่า มะนิลาไม่ได้ตระหนักเลยในเรื่องที่สหรัฐฯปฏิบัติเช่นนี้ เขาแสดงความกังวลว่าเหตุการณ์นี้อาจจะทำให้ฟิลิปปินส์ “ถูกกล่าวโทษ” และเรียกร้องขอคำอธิบายจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ

จุดที่ต้องเน้นย้ำก็คือว่า ถึงแม้บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศแสดงตัวว่าเป็นกลางในประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐฯ-จีนในทะเลจีนใต้ แต่กลับปรากฏว่ามีบางรายในทางสาระสำคัญแล้วคือกำลังช่วยเหลือและกำลังหนุนหลังสหรัฐฯ และน่าที่จะตกเป็นเป้าหมายถ้าหากความเป็นศัตรูกันระหว่างสหรัฐฯ-จีนระเบิดตูมตามขึ้นมา

พวกเขาอาจจะกำลังโกหกหลอกลวงสาธารณชนในประเทศของพวกเขาเอง แต่พวกเขาไม่อาจที่จะโกหกหลอกลวงพวกผู้แข่งขันชิงชัยตัวหลักๆ ซึ่งกำลังผลักดันดึงลากชาติสมาชิกอาเซียนแต่ละราย ตลอดจนสมาคมอาเซียนโดยองค์รวม ให้มาอยู่ข้างพวกเขา

มาร์ค เจ วาเลนเซีย เป็นนักวิเคราะห์นโยบายทางทะเลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นนักให้ความเห็นผ่านสื่อในประเด็นทางการเมือง, และเป็นที่ปรึกษาซึ่งโฟกัสที่เอเชีย ล่าสุดเขาได้ไปเป็นนักวิชาการอาวุโสรับเชิญ (visiting senior scholar) อยู่ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อทะเลจีนใต้ศึกษาของจีน (China’s National Institute for South China Sea Studies) และยังคงเป็นนักวิชาการอาวุโสทรงคุณวุฒิ (adjunct senior scholar) ของสถาบันแห่งนี้ วาเลนเซียมีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือ 15 เล่ม และบทความเผยแพร่ในวารสารที่ข้อเขียนต้องผ่านการตรวจสอบทบทวนจากเพื่อนร่วมอาชีพก่อนตีพิมพ์ เป็นจำนวนกว่า 100 บทความ


กำลังโหลดความคิดเห็น