xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “เกาะโลซิน” เกาะแสนล้านสุดอ่าวไทย ที่หวังว่าจะได้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกาะโลซิน เกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากที่สุดของอ่าวไทย (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: Kai)
ในทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายทั้งที่มีและไม่มีผู้คนอาศัย โดยเกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากที่สุดต้องยกให้ “เกาะโลซิน” แห่งจังหวัดปัตตานี ซึ่งนอกจากจะไกลชายฝั่งแล้วก็ยังเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย แต่กลับมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล ด้านพลังงาน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ

“เกาะโลซิน” ที่เรียกกันนี้ แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นกองหินใต้ทะเล คล้ายกับภูเขาหินขนาดย่อมที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ไม่มีหาดทรายไม่มีต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงประภาคารตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น

ได้ชื่อว่าเป็นเกาะที่เล็กที่สุดของไทย (ภาพ: เพจ Thon Thamrongnawasawat)
แต่เกาะเล็กๆ นี้กลับมีความสำคัญมหาศาลในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล โดยเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายๆ ประเทศทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้นมีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง

และเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังใน พ.ศ.2515 ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้นใช้การแบ่งเขตทางทะเลด้วยวิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่าย หรือที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ด้วยวิธีเช่นนั้นทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก และพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด

โลกใต้ทะเลที่สมบูรณ์ (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: ศุภชัย วีรยุทธานนท์)
แต่สุดท้ายแล้ว “เกาะโลซิน” ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างก๊าซธรรมชาติ โดยไทยยืนยันว่าได้ก่อสร้างประภาคารติดไฟส่องสว่างไว้บนเกาะหินแห่งนี้เพื่อแสดงอาณาเขตมาเนิ่นนาน อีกทั้งตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว ได้ระบุความหมายของเกาะว่า คือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่น้ำเข้าไปด้วย โลซินจึงได้กลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมจำนน

และที่สุดใน พ.ศ.2522 ไทยและมาเลเซียจึงเจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตร.กม. โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เป็นเวลา 50 ปี ซึ่งเมื่อมีการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็พบว่า แหล่งก๊าซที่มีปริมาณมากถึงราว 75% นั้น อยู่ในซีกพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมาเลเซีย แต่ไทยเราได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเพราะการอ้างอาณาเขตจากเกาะโลซินที่เป็นเพียงกองหิน จนหลายคนให้ฉายาเกาะโลซินว่า “กองหินแสนล้าน” ตามมูลค่าของแหล่งก๊าซธรรมชาตินั่นเอง

ปะการังเขากวางเป็นดงกว้าง (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: แน่งน้อย ยศสุนทร)
แม้จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงน้อยนิด แต่โลกใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านทรัพยากรทางทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและฝูงปลาไม่แพ้ที่ใดๆ โดยพื้นที่กว่า 100 ไร่ใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นเต็มไปด้วยปะการังนานาชนิด ตั้งแต่บริเวณน้ำตื้น (2-10 ม.) ที่ประกอบไปด้วยปะการังแข็งกลุ่มเล็กๆ บริเวณน้ำลึกปานกลาง (10-20 ม.) ส่วนใหญ่เป็นดงปะการังเขากวางซึ่งมีจำนวนมากจนเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร สลับกับปะการังช่องเล็กและปะการังรูปทรงแบบก้อนชนิดต่างๆ และแนวปะการังน้ำลึก (20-40 ม.) เป็นปะการังอ่อนและกัลปังหาที่เต็มไปด้วยสีสันอันงดงาม

อีกทั้งที่ตั้งของเกาะโลซินซึ่งเป็นกองหินใต้ทะเลแห่งเดียวในทะเลอันเวิ้งว้างบริเวณนั้น และมีแนวปะการังโอบล้อมโดยรอบ ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล ที่นักดำน้ำต่างถือว่าเป็นดังสวรรค์ของการดำน้ำลึกฝั่งทะเลอ่าวไทย มีโอกาสที่จะพบฝูงปลานับร้อยชนิด โดยชนิดที่พบเห็นได้บ่อยๆ ก็คือ ปลานกขุนทอง ปลาสลิดหิน ปลานกแก้ว ปลาสลิดหิน ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ฯลฯ รวมถึงพี่ใหญ่ใจดีอย่างปลาฉลามวาฬ ปลาที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็สามารถพบเจอได้บ่อยครั้งบริเวณเกาะแห่งนี้

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีมาเยือนเกาะโลซิน (ภาพ: บารมี เต็มบุญเกียรติ)
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลและความสำคัญของเกาะแห่งนี้ ทำให้มีความพยายามที่จะเสนอเกาะโลซินให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ตาม มาตรา 20, 23 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์และคุ้มครองความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ทะเล และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องและร่วมกันจัดทำร่างมาตรการทรัพยากรทางทะเลเกาะโลซินอยู่หลายครั้ง

ด้านผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ร่วมผลักดันเต็มที่เพื่อให้โลซินเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของเกาะโลซินในแง่มุมต่างๆ ผ่านเพจ Thon Thamrongnawasawat ว่า “...ที่นี่คือเกาะครบเครื่องที่สุด เพราะก่อประโยชน์ 5 ด้าน ตามนิยามของผลประโยชน์ทางทะเล โดยเป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะทำให้เขต EEZ (Exclusive Economic Zone หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ของไทยขยายออกไปอีกหลายสิบกิโลเมตร เป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพราะเขต EEZ ที่ขยายไปทับซ้อนบนแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจร่วมไทย-มาเลเซีย ก๊าซธรรมชาติวันละหลายร้อยล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งไปโรงไฟฟ้าจะนะและขนอม หล่อเลี้ยงเกือบทั้งภาคใต้”

ปลานกแก้วหัวโหนก (ภาพ: บารมี เต็มบุญเกียรติ)
“เป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับการประมง ทั้งการจับปลาที่ดี และจุดหลบลมพักชั่วคราว แม้กันคลื่นใหญ่ไม่ค่อยได้ ยังเป็นจุดที่บางครั้งอาจมีปัญหาประมงต่างชาติ ต้องดูแลรักษากันให้ดี เป็นเกาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นักดำน้ำมากหน้าหลายตาล้วนมาที่นี่ ในฐานะจุดดำน้ำที่น้ำใสสุดและห่างฝั่งสุด และสุดท้ายคือเป็นเกาะแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเอกลักษณ์แห่งอ่าวไทย ยากหาที่ใดเสมอเหมือน เป็นที่อยู่ของฉลามวาฬ ปลายักษ์และสัตว์สงวน ยังมีรายงานการพบปลาหายากระดับ A+ เช่น นกแก้วหัวโหนก โรนิน และระดับ A เช่น แมนต้า โรนัน กระเบนนก ...ฯลฯ”

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า นั่นคือเหตุผลที่เรากำลังเสนอชื่อเกาะโลซินให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ของไทย และทำให้ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากคณะประมง เกษตรศาสตร์ ม.สงขลา ม.ราชภัฎ ภูเก็ต และม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช ร่วมกับทีมจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และเหล่าช่างภาพมืออาชีพ เดินทางมาที่นี่เพื่อทำการสำรวจ ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ในอ่าวไทย การสำรวจครอบคลุมทุกด้าน ทั้งสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ เคมี กระแสน้ำ คุณภาพน้ำ สัตว์ทะเลแทบทุกกลุ่ม ขยะทะเล/ไมโครพลาสติก ภายใต้ความสนับสนุนจาก ปตท.สผ. และบริษัทร่วมทุนด้านพลังงาน

กัลปังหาพัด (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: แน่งน้อย ยศสุนทร)
แม้กระทั่งขณะที่ทีมสำรวจลงไปสำรวจยังเกาะโลซิน ก็ยังเจอฉลามวาฬว่ายวนเวียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่นี่เป็นแนวปะการังกลางทะเลเปิด ฉลามวาฬจึงแวะเวียนมาหาอาหารและพักผ่อนเป็นประจำ รวมถึงปลาหายากชนิดต่างๆ แสดงถึงความสมบูรณ์เต็มที่ของเกาะโลซินแห่งนี้

ในปี 2572 ข้อตกลงเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมจะหมดอายุลง โลซินจะยังถูกตีความให้เป็นเกาะตามนิยามใหม่หรือไม่ อะไรจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเป็นสิ่งที่เรายังไม่ทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ชัดแล้วก็คือ ความพร้อมของเกาะโลซินในด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใต้ทะเลนั้น มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานนี้น่าจะมีข่าวดีให้เราคนรักทะเลไทยได้ฟังกัน

ปลาว่ายเป็นฝูงใหญ่ (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: แน่งน้อย ยศสุนทร)
.........................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR




กำลังโหลดความคิดเห็น