เอเอฟพี - กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน เผยโฉมขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ยิงจากเรือรบแบบใหม่ของตน โดยระบุว่ามีพิสัยทำการเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น ความเคลื่อนไหวคราวนี้มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ดำเนินมาเป็นเดือนๆ กับศัตรูคู่อาฆาตของตนซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา
ขีปนาวุธแบบนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า “โซลฟาการ์ บาซีร์” (Zolfaghar Basir) เป็นเวอร์ชั่นสำหรับใช้ติดตั้งบนเรือ ของขีปนาวุธทิ้งตัวแบบ “โซลฟาการ์” ซึ่งเป็นแบบยิงจากพื้นสู่พื้น ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวตัสนิม
จากพิสัยทำการที่ระบุออกมา เท่ากับเป็นระยะกว่า 2 เท่าตัวของขีปนาวุธทางนาวีแบบอื่นๆ ซึ่งอิหร่านมีใช้งานอยู่ รวมทั้งแบบ “ฮอร์มุซ-2” (Hormuz-2) ที่มีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ซึ่งเตหะรานแถลงว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบเมื่อเดือนมีนาคม 2017
สำนักข่าวทัสนิมไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ขีปนาวุธแบบใหม่นี้ผ่านการทดสอบแล้วหรือยัง
จากภาพซึ่งเผยแพร่โดยทัสนิม แสดงให้เห็น โซลฟาการ์ บาซีร์ ติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องยิง ถูกนำออกมาอวดโฉมในงานเปิดตัว อุทยานการบินและอวกาศแห่งชาติ (Tehran's National Aerospace Park) ของเตหะราน เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.)
“นิทรรศการคราวนี้แสดงให้เห็นแผนการอันครอบคลุมรอบด้านของพลังอำนาจแห่งการป้องปรามของระบบ (ที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีอยู่)” พล.ต.ฮอสเซน ซาลาลี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอหร่าน กล่าวในงานเปิดตัวอุทยาน ตามรายงานของสำนักข่าวทัสนิม
อิหร่านได้เคยใช้งานขีปนาวุธโซลฟาการ์เวอร์ชั่นดั้งเดิม เมื่อปี 2017 และปี 2018 ในการโจมตีใส่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในซีเรีย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่กลุ่มดังกล่าวดำเนินการโจมตีแบบก่อการร้ายในประเทศนั้น
สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของอิหร่านรายงานว่า หลังจากนั้น ขีปนาวุธแบบนี้ยังถูกใช้งานในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าหมายโจมตีฐานทัพหลายแห่งในอิรักซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทหารอเมริกัน ไม่กี่วันหลังจากสหรัฐฯใช้โดรนโจมตีสังหาร กอเซม โซไลมานี นายพลระดับท็อปของอิหร่านเสียชีวิตในกรุงแบกแดด
การเปิดตัว โซลฟาการ์ บาซีร์ บังเกิดขึ้นภายหลังเมื่อกว่า 1 สัปดาห์มาแล้ว หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 1 หมู่ของสหรัฐฯ นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน “นิมิตซ์” ได้ข้ามช่องแคบฮอร์มุซ เข้ามารป้วนเปี้ยนในอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านได้เปิดฐานทัพเรือแห่งใหม่ใกล้ๆ กับช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดที่มีน้ำมันดิบประมาณหนึ่งในห้าของโลกถูกลำเลียงเข้าออก