(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Dollar doomed as China shifts to consumption
by Uwe Parpart and David P. Goldman
20/09/2020
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม นั่นคือเงินดอลลาร์จะต้องลดค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหยวน คือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขความไม่สมดุลซึ่งเกิดขึ้นมาได้
สตีเฟน โรช (Stephen Roach) อดีตประธานเอเชียของ มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley’s former Asia Chairman) และ เรย์ แดลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้งบริดจ์วอเตอร์ (Bridgewater) อยู่ในกลุ่มผู้คนที่ออกมาเตือนภัยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะลดมูลค่าของมันลงมาถึงหนึ่งในสามทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnbc.com/2020/06/15/dollar-crash-is-almost-inevitable-asia-expert-stephen-roach-warns.html และ https://moneyweek.com/495559/ray-dalio-beware-a-dollar-slump) โดยที่ โรช หยิบยกเหตุผลขึ้นมารองรับความคิดเห็นของเขาว่า การที่สหรัฐฯมีอัตราการออมอยู่ในระดับต่ำอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง, มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก, และรัฐบาลกลางสหรัฐฯก็มีความต้องการทางด้านเงินกู้ขนาดมหึมา เหล่านี้จะบังคับให้ต้องมีการลดค่าสกุลเงินตราสหรัฐฯลงอย่างแรงๆ
จักรวรรดิต่างๆ ที่กำลังเสื่อมทรุด และสกุลเงินตราทั้งหลายที่กำลังเสื่อมทรุด ย่อมพากันเดินโซซัดโซเซไปเรื่อยจนกว่ามีอะไรบางอย่างมาทำให้พวกมันยุติความทุกข์ทรมานของพวกมันเสียที สหราชอาณาจักรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ครอบงำโลก สหราชอาณาจักรสามารถออกเงินตราซึ่งกลายเป็นเงินทุนสำรองหลักของทั่วโลก ขณะที่ตนเองอยู่ในฐานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง จักรวรรดิแห่งนี้ได้ปล่อยให้ฐานทางอุตสาหกรรมของตนชำรุดทรุดโทรม และทักษะด้านต่างๆ อยู่ในสภาพชะงักงันย่ำแย่ ในที่สุดแล้วตลาดสำหรับสินทรัพย์ของสหภาพราชอาณาจักรก็ถูกชำระสะสางไปจนได้เมื่อค่าเงินปอนด์สหราชอาณาจักรหล่นฮวบลงเกือบๆ สองในสามในระหว่างปี 1967 ถึง 1985
หากทัศนคติของวอชิงตันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารถึงระดับรากฐานแล้ว บางสิ่งบางอย่างทำนองนี้ก็จะเกิดขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเช่นเดียวกัน
โดยที่ผู้ท้าทายในวันนี้คือ จีน
จากระดับที่เคยต้องใช้ 8.28 หยวนจึงจะแลกสกุลเงินตราสหรัฐฯได้ 1 ดอลลาร์เมื่อช่วงก่อนหน้าปี 2005 เงินหยวนจีนได้แข็งค่าขึ้นมาจนอยู่ที่สูงกว่า 6.0 นิดๆ เท่ากับ 1 ดอลลาร์ในปี 2014 ต่อจากนั้นมันก็ประสบความปั่นป่วนผันผวนไปบ้าง ทว่าถ้าพินิจพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่รองรับสกุลเงินตราของสหรัฐฯและของจีนแล้ว กลับแสดงให้เห็นว่า ระดับช่วงระหว่าง 7.15 ถึง 6.75 ซึ่งดำเนินอยู่เมื่อไม่นานมานี้ น่าจะมีพลังที่จะยืนหยัดเอาไว้ได้ และนำไปสู่ระดับ 6.00 ในระยะกลางในช่วงเส้นทางเดินของปี 2021 สำหรับเป้าหมายระยะยาวไกลกว่านั้นคือ เงินหยวนขึ้นไปได้ 30% อยู่ที่แถวๆ 5.00
การอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งบัณฑิตผู้รู้บางคนเคยเรียกขานปรากฏการณ์นี้ ด้วยการนำเอาชื่อภาษาอังกฤษของประเทศทั้งสอง คือChina กับAmerica มาสนธิกันเป็นChimerica นั้น กำลังเจือจางหายสูญไป และผลลัพธ์ของการสลายตัวนี้จะเป็นการที่ดอลลาร์สหรัฐฯเกิดการลดค่าอย่างรุนแรง
ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 2 รายนี้ สำเริงสำราญ (หรือเจ็บปวดรวดร้าว) กับความสัมพันธ์แบบอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อประโยชน์แก่กันเช่นนี้ในระหว่าง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นฝ่ายเก็บหอมรอมริบและลงทุน ขณะที่อเมริกาเป็นฝ่ายกู้ยืมและบริโภค จีน ( ตลอดจนเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, และไต้หวัน) ได้สร้างโรงงานและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ผลิตพวกผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมออกมา ซึ่งอเมริกานำไปบริโภคใช้สอย
อัตรการออมที่สูงมากของจีนก่อให้เกิดภาวะได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ขณะที่สหรัฐฯมีอัตราการออมซึ่งต่ำเตี้ยอย่างยิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงอยู่ในอาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอันสูงลิบ จีนต้องการที่จะสั่งสมทุนสำรอง ส่วนสหรัฐฯต้องการที่จะซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค จากการที่ดอลลาร์มีฐานะเป็นสกุลเงินตราเพื่อการสำรองตัวหลักของโลก ก็ได้กลายเป็นตัวดึงดูดให้เงินออมของจีนหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดทุนของสหรัฐฯ
ด้วยเหตุนี้ จีนกับอเมริกันในหลายมิติที่สำคัญๆ แล้ว จึงเป็นภาพในกระจกเงา (ซึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นด้านตรงกันข้าม) ของกันและกัน การพุ่งขึ้นของอัตราการออมระดับชาติของจีน อยู่ในสัดส่วนที่ไปกันได้กับการไหลรูดของอัตราการออมระดับชาติของอเมริกา
ในจีดีพีของสหรัฐฯ การบริโภคภาคครัวเรือนมีสัดส่วนที่สูงมาก รวมทั้งสูงกว่าพวกประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่แห่งอื่นๆ ด้วยกันยกเว้นสหราชอาณาจักร กล่าวคือเท่ากับ 70% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยของพวกชาติสมาชิกองค์การเพื่อการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งอยู่ที่ 60% ของจีดีพี
ความปรารถนาของจีนที่จะประหยัดอดออม และความปรารถนาของอเมริกันที่จะใช้จ่าย ก่อให้เกิด “Chimerica” ขึ้นมา หรือเราอาจจะเรียกขานได้ว่าเป็น ทุนนิยมอเมริกันที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน (American capitalism with Chinese characteristics)
1.จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐนอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง และนำเอาดอกผลที่ได้มาลงทุนในตลาดทุนสหรัฐฯ
2.จีนรักษาระดับราคาของสินค้าของตนเอาไว้ในระดับต่ำ เพื่อที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น
3.จีนลงทุนในศักยภาพทางอุตสาหกรรมการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม
ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯลดการลงทุนลง จนกระทั่งอยู่ในสภาพที่พวกผู้ออมของจีนกลายเป็นผู้ทำการลงทุนต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับการซัปพลายพวกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐฯ
4.ส่วนประกอบของจีดีพีสหรัฐฯได้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยที่มีสัดส่วนมาจากการบริโภคเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่สัดส่วนซึ่งมาจากการลงทุนลดน้อยลง
อเมริกาตัดสินใจที่จะไม่ลงทุน และ เอเชีย (จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, และญี่ปุ่น) เป็นผู้ดำเนินการลงทุนเพื่ออเมริกา
อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระตุ้นจากสภาพย่ำแย่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งข้อพิจารณาทางการเมืองภายในประเทศ จีนจึงกำลังปรับเปลี่ยนมาสู่ระบบที่ออมเงินลดต่ำลงและบริโภคเพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สอดรับกันจากอีกครึ่งหนึ่งของ Chimerica อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯนั้นมีการเตรียมตัวที่ย่ำแย่มากสำหรับการบรรลุความสำเร็จในเรื่องนี้ นี่จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็นกลไกสำหรับการปรับตัวเพียงอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่
ก่อนอื่นขอให้เรามาทบทวนข้อเท็จจริงต่างๆ กันอีกรอบ
อัตราการใช้เงินทุนมากๆ ของเศรษฐกิจจีนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตื่นใจระหว่างช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการใช้เงินทุนมากๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ลดต่ำลง
จีดีพีของอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การบริโภค (70%ของจีดีพีทั้งหมด เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยของโออีซีดี ซึ่งการบริโภคเท่ากับ 60% ของจีดีพีทั้งหมด):
ขณะที่อัตราการออมของสหรัฐฯลดต่ำลง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เพิ่มสูงขึ้น
การใช้เงินทุนมากๆ ของตลาดหลักทรัพย์จีนและตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ตามลำดับ ต่างเพิ่มสูงขึ้น ในเวลาเดียวกับที่การใช้เงินทุนมากๆ ของพวกบริษัทที่หุ้นอยู่ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ยังอยู่ในระดับคงที่
การพังครืนลงอย่างฉับพลันของการบริโภคภาคครัวเรือน และการกระโจนเพิ่มพรวดที่ติดตามมาของอัตราการออมในสหรัฐฯ โดยมีสาเหตจากมาตรการล็อกดาวน์สกัดกั้นโรคระบาด ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างเป็นปกติวิสัยของระบบเศรษฐกิจที่มีความเอนเอียงไปในทางการบริโภค การออมอันสืบเนื่องจากภาวะรู้สึกถึงภัยอันตรายในระหว่างมีการล็อกดาวน์สกัดกั้นโรคระเบาด ทำให้อัตราการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯเพิ่มสูงอย่างไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนจนอยู่ในระดับเท่ากับ 18% ของจีดีพี และปริมาณของการออมก็สูงเป็นสองเท่าตัวจากระดับซึ่งเคยแสดงให้เห็นเรื่อยมาในช่วงทศวรรษ 2010
ยอดรวมปริมาณการออมภาคเอกชนพุ่งขึ้นจากระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ไปเป็น 8 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อคิดคำนวณเป็นอัตรารายปี เวลาเดียวกัน ยอดรวมปริมาณการลงทุนภาคเอกชนก็หล่นลงมาจนอยู่ที่ระดับ 3
ล้านล้านดอลลาร์เมื่อคำนวณเป็นอัตรารายปี ทั้งนี้แน่นอนทีเดียวว่า การพุ่งพรวดของอัตราการออมในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ สอดคล้องกับการลดต่ำลงของอัตราเติบโตจีดีพีเมื่อคิดกันเป็นรายปี
เศรษฐกิจอเมริกันพังครืนลงด้วยอัตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเมื่อบรรดาครัวเรือนอเมริกันพากันหยุดการใช้จ่าย เพื่อชดเชยการกระโจนพรวดขึ้นมาของเงินออม กระทรวงการคลังสหรัฐฯและธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ เฟด) ได้ลดการออม (dis-save) ด้วยการใช้จ่ายเม็ดเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ทั้งในรูปของมาตรการเพื่อชดเชยรายได้ และการเข้าซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ โดยตรง ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีผลลัพธ์อย่างเดียวกับความพยายามในการปั๊มลมเข้าไปในลูกบอลลูนที่กำลังรั่ว การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในยอดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และการขยายตัวของงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ฟื้นการบริโภคที่สูญหายไปให้กลับคืนมาเป็นบางส่วน (ถึงแม้ยังคงอยู่ในระดับระดับต่ำกว่าเมื่อปี 2019 ประมาณ 6%) โดยที่ไม่ได้มีคุณูปการไม่ว่าในวิถีทางใดๆ เลยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต
เงินออมภายในประเทศและงบดุลของเฟดคือตัวที่รับซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังซึ่งหลั่งไหลออกกันมาไม่ขาดสาย นับเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากครั้งวิกฤตการณ์ปี 2008 ซึ่งตอนนั้นพวกนักลงทุนต่างประเทศคือผู้ที่เพิ่มการถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
สหรัฐฯไม่สามารถที่จะประคับประคองอัตราการออมในระดับสูงเอาไว้ โดยที่ไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการทรุดตัวอย่างรุนแรง เวลาเดียวกันมาตรการลดการออมของภาครัฐบาลก็จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงลิบลิ่ว ขณะที่ความปรารถนาและศักยภาพของชาวต่างประเทศที่จะส่งเงินออมมายังสหรัฐฯก็ลดน้อยลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่าง และบางสิ่งบางอย่างที่ว่านี้ก็คืออัตราแลกเปลี่ยน: สินค้าสหรัฐฯจำเป็นต้องมีราคาถูกลงจนเพียงพอแก่การจูงใจชาวต่างประเทศให้เข้ามาซื้อหา นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้น ยังจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอัตราการออมซึ่งสูงขึ้น (ในเมื่อทรัพย์สินต่างๆ กำลังมีมูลค่าลดลง ปัจเจกบุคคลย่อมต้องออมมากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย)
การที่ความโน้มเอียงมุ่งออมเงินในจีนอยู่ในอาการที่ลดถอยลง ย่อมเป็นสิ่งบอกเหตุว่าสหรัฐฯจะต้องประหยัดอดออมเพิ่มมากขึ้น ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ข้างต้น นี่แหละคือสิ่งที่พวกครัวเรือนและพวกบริษัทอเมริกันกระทำอยู่ในตอนต้นๆ ของการล็อกดาวน์สกัดกั้นโรคระบาด แต่การออมเงินของภาคครัวเรือนได้ถูกถ่วงดุลจากมาตรการลดการออมของภาครัฐบาล สหรัฐฯจึงเหมือนกำลังตกอยู่ในภาวะลำบาก จากเวอร์ชั่นหนึ่งของ “ผลกระทบราชินีสีแดง” (Red Queen effect) ในหนังสือเรื่อง “อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ (Alice in Wonderland) โดยอาการที่แสดงออกมาให้เห็นได้แก่ สหรัฐฯรู้สึกว่าตนเองต้องใช้จ่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพียงเพื่อที่จะได้คงอยู่ตรงที่เดิม
ในทางหลักการแล้ว สหรัฐฯอาจจะเสนอให้แรงจูงใจต่างๆ เพื่อกระตุ้นสนับสนุนการลงทุนในด้านไฮเทค
(การลดหย่อนภาษีสำหรับพวกอุตสาหกรรมที่ต้องเน้นเงินทุน, เครดิตภาษีและมาตรการชดเชยที่ให้แก่การวิจัยและการพัฒนา, และอื่นๆ) ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ด้านทุนมีเสน่ห์ดึงดูดใจเพิ่มขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนการออมที่มีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนมากขึ้น ทว่าแบบแผนวิธีการประเภทนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่วาระของพรรคการเมืองไม่ว่าจะรีพับลิกันหรือเดโมแครต
วิธีการอีกประการหนึ่งในการแก้ไขภาวะเงินออมไม่เพียงพอ ได้แก่อาศัยการลดค่าเงินดอลลาร์และภาวะเงินเฟ้อ เงินดอลลาร์ที่ค่าถูกลงจะลดการบริโภค เนื่องจากการเพิ่มราคาของสินค้าผู้บริโภคนำเข้า
รวมทั้งพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนที่ดีที่สุดของสินค้าที่อเมริกานำเข้าจากจีน นอกจากนั้นแล้วมันยังจะลดราคาสินทรัพย์ทุนอเมริกัน รวมทั้ง หลักทรัพย์ต่างๆ ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศเข้าซื้อหาสินค้าเหล่านี้ –ภายหลังเงินดอลลาร์หล่นลงจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว สำหรับเงินเฟ้อนั้น ก็อย่างที่ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต มุนเดลล์ (Robert Mundell) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความคลาสสิคปี 1965 ของเขา มันจะมีบทบาทเร่งรัดให้ปัจเจกบุคคลต่างๆ ออมเงินกันมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเงินเฟ้อลดความมั่งคั่งของพวกเขา จึงทำให้พวกเขาอดออมกันมากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย
นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าทำไมการลดค่าลงมาของเงินดอลลาร์ในขนาดขอบเขตเดียวกับการไหลรูดอย่างยาวนานด้วยอาการป่วยไข้ของเงินปอนด์สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสกุลเงินตราของสหราชอาณาจักรที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ จึงเป็นชะตากรรมที่สามารถพยากรณ์กันล่วงหน้าได้ของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ