(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
The incredible appreciating yuan
by Chris Gill
03/09/2020
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เงิน 1 ดอลลาร์ซื้อเงินจีนได้ 7.1316 หยวน แต่เมื่อถึงวันที่ 2 กันยายน เงินตราอเมริกันอ่อนยวบลงจนซื้อเงินหยวนได้แค่ 6.8376 เท่ากับเงินจีนมีค่าสูงขึ้นราว 4.1% เมื่อเทียบกับเงินอเมริกันในระยะเวลา 3 เดือนเศษๆ ทว่าการที่สกุลเงินหยวนของจีนกำลังแข็งค่าขึ้น ใช่ว่าจะมีแต่ผลดีด้านเดียว และธนาคารกลางของแดนมังกรก็เตรียมพร้อมแล้วที่จะลงมือแตะเบรก
พวกนักลงทุนที่นำเอาเงินหยวนจีนไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาจจะเกิดความรู้สึกเสียใจในช่วงระยะนี้ ด้วยการที่จีนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญเพียงรายเดียวของโลกซึ่งกำลังฟื้นตัวจากภาวะทรุดตัวสืบเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะสหรัฐฯยังคงกำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำให้การแพร่ติดต่อของโรคลดระดับความรุนแรงลงมา มิหนำซ้ำธนาคารกลางของจีนยังคงมีอาวุธเหลืออยู่ในมือซึ่งสามารถใช้กำราบดับมอดพระเพลิงใดๆ ที่จะเผาผลาญเศรษฐกิจต่อไปอีก ดังนั้นเงินหยวนจึงกำลังอยู่บนเส้นทางวิ่งขึ้นสูงโลดลิ่ว
ณ วันที่ 29 พฤษภาคม เงิน 1 ดอลลาร์ซื้อเงินจีนได้ 7.1316 หยวน แต่เมื่อถึงวันที่ 2 กันยายน เงินตราอเมริกันอ่อนยวบลงจนซื้อเงินหยวนได้แค่ 6.8376 ถ้าหากจะซื้อดอลลาร์สหรัฐฯสัก 50,000 ดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม พวกนักลงทุนจะต้องควักเงินจีนจ่ายกัน 356,580 หยวน แต่ในตอนนี้ พวกเขาจะต้องควักกระเป๋าแค่ 341,880 หยวน ประหยัดไปได้ถึง 14,700 หยวน
ธนาคารกลางของจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People's Bank of China ใช้อักษรย่อว่า PBOC) ให้อำนาจแก่ระบบการซื้อขายเงินตราต่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Foreign Exchange Trade System) ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ในแพลตฟอร์มตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราอินเตอร์แบงก์แห่งนี้ เอาไว้ที่ 6.8376 ณ วันที่ 2 กันยายน หรือต่ำลง 122 เบซิสพอยต์ (basis point ทั้งนี้ 1 เบซิสพอยต์เท่ากับ 0.01% ดังนั้น 122 เบซิสพอยต์จึงเท่ากับ 1.22%) จากระดับการซื้อขายเมื่อวันก่อนหน้า และภายหลังที่ได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วันทำการ ตอนนี้หยวนก็ขึ้นไปสู่ระดับซึ่งเคยพบเห็นกันครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019
อัตราแลกเปลี่ยนทั้งในตลาด ออฟชอร์ และ ออนชอร์ ต่างกำลังไต่ขึ้นทั้งคู่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค่าเงินหยวนในทั้ง 2 ตลาดได้ทะลุผ่านเส้นหลักหมาย 6.82 โดยที่เงินหยวนออฟชอร์กำลังขึ้นสู่ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 ปีที่ 6.8134 หรือพุ่งขึ้นไปมากกว่า 400 จุดระหว่างการซื้อขายในวันนั้น
ทำไมอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนจึงได้แข็งโป๊กขึ้นมา และแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่? Chinanews.com (http://www.chinanews.com/ เว็บไซต์ภาษาจีน) บอกว่าเรื่องนี้กำลังกลายเป็นหัวข้อซึ่งได้รับความสนใจห่วงใยและเกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในตลาด ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายรายนั้น มีเหตุผลหลักๆ อยู่ 3 ประการที่ทำให้ค่าเงินหยวนสูงขึ้น
“ดัชนีค่าเงินดอลลาร์”อ่อนตัวลง
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index ใช้อักษรย่อว่า DXY) เป็นมาตรวัดความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ด้วยการเปรียบเทียบกับตะกร้าเงินสกุลสำคัญๆ อื่นๆ 6 สกุล ในจำนวนนี้มีทั้งเงินปอนด์และเงินยูโรด้วย โดยที่มีทางบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัล เอกซ์เชนจ์ (Intercontinental Exchange ใช้อักษรย่อว่า ICE) เป็นผู้คำนวณ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ดัชนี DXY ได้อ่อนตัวเรื่อยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเร็วๆ นี้ได้หล่นลงจนอยู่ต่ำกว่า 92 ถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018
เหวิน ปิน (Wen Bin) หัวหน้านักวิจัยของธนาคารไชน่า หมินเซิง แบงก์ (China Minsheng Bank) บอกว่า แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่โตมหึมาของเฟด (Federal Reserve ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ก็มีส่วนช่วยกดดัชนี DXY ทั้งนี้ตามรายงานของ Chinanews.com
ขณะที่ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านตราสารหนี้ของ ซิติก ซีเคียวริตีส์ (CITIC Securities) ให้ความเห็นว่า การที่ตั้งแต่โรคระบาดลุกลามใหญ่ เฟดใช้นโยบายผ่อนคลายทางด้านการเงินอย่างชนิดที่ไม่เคยทำถึงขนาดนี้มาก่อน รวมทั้งสภาพที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯอุดมด้วยฟองสบู่ กำลังกลายเป็นตัวกดค่าดอลลาร์เอาไว้จนกระทั่งพวกนักลงทุนเริ่มต้นที่จะถอยหนีเงินตราสหรัฐฯกัน
เศรษฐกิจที่กำลังกระเตื้องขึ้นของจีน
“การป้องกันและการควบคุมโรคระบาดของจีนประสบผลสำเร็จอย่างดีเด่น และเศรษฐกิจของจีนก็ฟื้นตัวและกระเตื้องดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เหวิน ปิน บอก “เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจตัวหลักๆ ต่างกำลังค่อยๆ กระเตื้องดีขึ้นมา ทั้งนี้จีนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังสามารถทำอัตราเติบโตเป็นตัวเลขบวกได้ในไตรมาสสอง เรื่องนี้เป็นการสร้างฐานสนับสนุนอันแข็งแรงให้แก่เงินหยวน”
ข้อมูลตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของจีนยังคงฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในเดือนกรกฎาคม ในจำนวนนี้ อัตราการเติบโตของยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมได้เปลี่ยนจากที่เคยติดลบมาเป็นบวกเป็นเดือนแรกในปีนี้ ขณะที่อัตราการเติบโตของการส่งออกก็ขึ้นไปอยู่ในระดับตัวเลขสองหลัก
ดัชนีประจำเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นตัวเลขรายเดือนล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมการผลิต, ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคที่อยู่นอกอุตสาหกรรมการผลิต, และดัชนีเอาต์พุตของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยรวม ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้ว
พื้นฐานต่างๆ ที่กำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ของจีน กำลังสะท้อนปรากฏให้เห็นอยู่ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
เมื่อวินิจฉัยจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต แสดงให้เห็นว่าภายหลังการทรุดตัวแรงเหมือนหล่นลงเหวในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของจีนก็กำลังฟื้นตัวขึ้นมาอย่างไม่หยุดหย่อน
ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่างทำนายว่า จีนจะเป็นหนึ่งในจำนวนเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถบรรลุอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขบวกได้ในปีนี้
สินทรัพย์สกุลเงินหยวนกำลังเป็นที่นิยม
เหวิน ปิน ชี้ว่า จีนยังคงกำลังส่งเสริมสนับสนุนการเปิดกว้างตลาดภาคการเงินของตนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกนักลงทุนระหว่างประเทศมองการณ์แง่ดี เกี่ยวกับทิศทางอนาคตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรและเกี่ยวกับทิศทางอนาคตของสินทรัพย์สกุลเงินหยวน เรื่องนี้แสดงให้เห็นด้วยการที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดทุนของจีนอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็มีส่วนช่วยทำให้เงินหยวนแข็งค่า
ตามตัวเลขข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้โดย สำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐ (State Administration of Foreign Exchange) ตัวเลขสุทธิของการที่ต่างประเทศถือครองหลักทรัพย์จดทะเบียนและพันธบัตรภายในประเทศของจีนในเดือนกรกฎาคม ได้สูงขึ้นมา 1.4 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ดุลของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นในทางบวกมาเป็นเวลา 4 เดือนต่อเนื่องกันแล้ว
นอกจากนั้น ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนได้ธำรงนโยบายการเงินแบบระมัดระวังและเด็ดขาดเอาไว้เรื่อยมาระหว่างที่เกิดโรคระบาด ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานทำนองเดียวกันในต่างประเทศ เรื่องนี้ช่วยรักษาให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของจีน อยู่ในระดับที่สูงกว่าหลักทรัพย์ทำนองเดียวกันของสหรัฐฯ จึงเป็นการเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดของสินทรัพย์สกุลเงินหยวน
ณ วันที่ 28 สิงหาคม อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของจีน อยู่ในระดับสูงกว่าพันธบัตรชนิดเดียวกันของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ 230 เบซิส พอยต์ (2.30%) จึงกำลังดึงดูดให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
อนาคตของเงินหยวนจะเป็นอย่างไร ?
ค่าเงินตราที่แข็งขึ้นทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง, เพิ่มการบริโภคในด้านการท่องเที่ยว, และช่วยพวกที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ ทว่ามันก็จะทำให้สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น และนี่กำลังสร้างความวิตกให้แก่ประเทศอื่นๆ ในโลก
เหวิน ปิน ทำนายว่าพวกนักลงทุนจะยังคงมองแง่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจะดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นการสนับสนุนค่าเงินหยวน
อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะลดน้อยลงในระยะกลางและระยะยาว เมื่อระบบเศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มต้นฟื้นตัว และเสนอทางเลือกที่ดึงดูดใจแห่งอื่นๆ ให้แก่พวกนักลงทุน
เห็นได้ชัดเจนว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนน่าจะแข็งค่าต่อไปอีก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดตามมา รวมทั้งในสภาพที่กำลังมีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระดับทั่วโลก, ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯซึ่งกำลังเลวร้ายลง, และการควบคุมเงินทุนแบบอสมมาตร จึงคาดว่า การแข็งค่าของเงินหยวนอาจจะชะลอลงมาอยู่แถวราวๆ 6.7-6.8 ต่อดอลลาร์ เวลาเดียวกัน ผลกระทบต่อการส่งออกหากเงินหยวนยังคงแข็งค่าต่อไป ก็น่าที่จะมีผลในทางทำให้สกุลเงินจีนอ่อนตัวลงเช่นกัน
ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนได้ออก “รายงานว่าด้วยการนำเอานโยบายทางการเงินของจีนมาปฏิบัติสำหรับไตรมาสสองปี 2020” (Report on China’s Monetary Policy Implementation for the Second Quarter of 2020) เมื่อเดือนสิงหาคม ในเอกสารฉบับนี้เสนอให้ดำเนินการปฏิรูปอย่างลงลึกยิ่งขึ้นในเรื่องการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามปัจจัยของตลาด, การปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ (managed floating exchange rate), และการรักษาความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารกลางของจีนบอกว่าจะยังคงบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงอยู่กับเศรษฐศาสตร์มหภาค และการปฏิบัติตามตัวสร้างเสถียรภาพอัตโนมัติของการชำระเงินระหว่างประเทศ (an automatic stabiliser of international payments) จากการดำเนินการเช่นนี้เป็นที่วาดหวังว่าจะสร้างเสถียรภาพให้แก่ความคาดหมายของตลาด และรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล
(จากเซคชั่น Asia Times Financial)