รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ประธานกรรมการบริษัท หัวเว่ย เกา ปิง แถลงวันพุธ (23 ก.ย.) ว่า ในเวลานี้หัวเว่ยมีปัญหาซัปพลายเชนส์ป้อนให้กับบริษัทหลังถูกโจมตี สหรัฐฯขวางไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับหัวเว่ย จนทำให้เกิดวิกฤตชิปในมือ ขณะที่บริษัทในออสเตรเลียเกิดปัญหาถูกแบน 5G ต้องสั่งปลดพนักงานไป 1,000 คน
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (23 ก.ย.) เกา ปิง (Guo Ping) ประธานกรรมการหมุนเวียนของหัวเว่ยแถลงในวันพุธ (23) ภายในงานตลาดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารของจีนที่จัดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ยืนยันว่า ในเวลานี้ซัปพลายเชนส์ของบริษัท “ถูกโจมตี” แต่ไม่ยอมเปิดเผยในรายละเอียด
ซึ่งทางเกาได้ออกมาเรียกร้องให้บรรดาซัปพลายเออร์ผู้ผลิตให้ยื่นมือเข้ามาช่วยหัวเว่ยหลังถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ และห้ามบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯทำการค้าขายกับหัวเว่ย
ภายในงานเกากล่าวว่า “สหรัฐฯยังคงโจมตีเราอย่างต่อเนื่อง...และทำให้กลายเป็นความท้าทายต่อการผลิตและปฏิบัติการของเรา” เขาเสริมต่อว่า “เรามีชิปล็อตสุดท้ายกลางเดือนกันยายน และเรายังคงประเมินกันในรายละเอียดเวลานี้”
อย่างไรก็ตาม เกากล่าวอย่างหนักแน่นว่า ทางบริษัทมีชิปในมืออย่างเพียงพอสำหรับภาคธุรกิจต่อธุรกิจ ที่จะรวมไปถึงอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก แต่เกาไม่ได้เปิดเผยว่ามีชิปมากเพียงใดสำหรับการผลิตโทรศัพท์มือถือ
หลังจากที่หัวเว่ยถูกสหรัฐฯสั่งแบนทำให้หัวเว่ยมีทางเลือกไม่มากนักในการได้มาซึ่งชิปที่ต้องการ
ทั้งนี้ วันพฤหัสบดี (17) ที่ผ่านมา รอยเตอร์รายงานว่า ราคาโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหัวเว่ยในจีนมีราคาพุ่งสูงขึ้นเนื่องมาจากความวิตกว่าชิปจะขาดตลาด
ผู้บริโภคจีนต่างพยายามแย่งซื้อโทรศัพท์มือถือหัวเว่ยที่มาพร้อมกับชิปไฮเอนด์ “คิริน” ด้วยเกรงว่า จากการที่บริษัท หัวเว่ย ไม่สามารถเข้าถึงชิปที่ว่านี้จะทำให้บริษัทตัดสินใจยกเลิกการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นเรือธงที่ติดชิปที่ว่านี้ไป โดยบริษัท TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปคิรินจะไม่สามารถส่งชิปนี้ให้กับหัวเว่ยนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.เป็นต้นไป อ้างอิงจาก CNBC สื่อสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ภายในงาน เกากล่าวไปถึงบริษัท Qualcomm โดยชี้ว่า บริษัทแห่งนี้มีความสำคัญเสมอกับหัวเว่ย และหัวเว่ยได้ทราบมาว่าทางบริษัทได้ยื่นขอรัฐบาลสหรัฐฯให้ออกใบอนุญาตเพื่อให้ Qualcomm สามารถส่งออกชิปมาให้กับทางหัวเว่ย และหากสำเร็จหัวเว่ยจะใช้ชิปของ Qualcomm ในผลิตภัณฑ์โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตัวเอง สื่อสหรัฐฯรายงาน
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท หัวเว่ย ในออสเตรเลียตัดสินใจปลดพนักงานและลดการลงทุนลงเกิดขึ้นหลังทางบริษัทถูกแบนการเข้าร่วมการพัฒนาระบบเครือข่าย 5G ในออสเตรเลีย โดยทางแคนเบอร์ราได้อ้างในปี 2018 ว่าเนื่องมาจากเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ
โดยในอีเมลของ เจรามี มิตเชล (Jeremy Mitchell) หัวหน้าแผนกเจ้าหน้าที่กิจการบริษัทสัมพันธ์ของหัวเว่ยประจำออสเตรเลีย ระบุว่า จากเหตุผลเกี่ยวข้องกับการแบนระบบ 5G ต่อหัวเว่ยทำให้ทางบริษัทต้องสั่งปลดพนักงานไฮเทคร่วม 1,000 คน โดยชี้ว่า ทางบริษัทแต่เดิมมีราว 1,200 คน และจะเหลือน้อยกว่า 200 คนภายในปีหน้า
นอกจากนี้ บริษัท หัวเว่ย ในออสเตรเลียยังตัดสินใจยกเลิกการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในออสเตรเลียอีก 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 72.3 ล้านดอลลาร์