ณ “สถาบันรักษาความปลอดภัยเจงกิส” (Genghis Security Academy) ซึ่งโฆษณาตัวเองว่าเป็น สถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวของจีนซึ่งมุ่งมั่นฝึกอบรมผู้ที่จะประกอบอาชีพเป็นองครักษ์โดยเฉพาะ บรรดานักศึกษาได้เรียนรู้ว่าภัยคุกคามที่จะมาถึงพวกเศรษฐีใหม่ของประเทศในยุคเทคโนโลยีนั้น น่าจะมาจากพวกแฮกเกอร์มากกว่าพวกมือปืนด้วยซ้ำ
แต่ละวันนักศึกษาในเครื่องแต่งกายชุดสูทธุรกิจสีดำ เข้าเรียนและรับการฝึกอย่างคร่ำเคร่งตั้งแต่ช่วงรุ่งสางไปจนถึงเที่ยงคืน ในสถาบันแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเทียนจิน นครใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยที่ความรู้ในเรื่องการป้องกันต่างๆ ของระบบดิจิตอล ได้รับความสำคัญทัดเทียมกับชุดทักษะความชำนาญในการให้การอารักขาแบบเดิมๆ อย่างการต่อสู้ การใช้อาวุธ และการขับรถด้วยความเร็วสูง
ผู้จบการศึกษาซึ่งมีจำนวนประมาณ 1,000 คนในแต่ละปี ต่างวาดหวังที่จะได้งานเป็นบอดี้การ์ดทำหน้าที่อารักขาคนมั่งคั่งร่ำรวยและมีชื่อเสียงของจีนซึ่งกำลังขยายตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นตำแหน่งซึ่งอาจจะสามารถได้เงินเดือนปีละ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.17 ล้านบาท หรือตกเดือนละ 180,000 บาทเศษๆ) –มากกว่าเงินเดือนของคนทำงานออฟฟิศธรรมดาหลายเท่าตัวนัก
แต่ทางสถาบันบอกว่าเวลานี้ยังไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้อย่างพอเพียง เนื่องจากในประเทศจีนกำลังมีเศรษฐีเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก โดยหากถือตามรายงานของแบงก์เครดิดสวิส ในปี 2019 จีนมีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สินระดับเกิน 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 31 ล้านบาท) อยู่เป็นจำนวน 4.4 ล้านคน มากยิ่งกว่าในสหรัฐฯอีก
สำหรับค่าเล่าเรียนที่สถาบันแห่งนี้อยู่ในอัตราคนละ 3,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 93,000 บาท) และถึงแม้ทางสถาบันต้องยกเลิกการฝึกอบรมในช่วงระเหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนปีนี้สืบเนื่องจากโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความต้องการในตลาดลดน้อยเบาบางลง
อย่างไรก็ดี เฉิน หย่งชิง (Chen Yongqing) ผู้ก่อตั้งสถาบันย้ำว่า คนที่ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะผ่านการอบรมได้สำเร็จ พร้อมกับยืนยันว่ามาตรฐานด้านระเบียบวินัยของเขานั้นเคร่งครัดยิ่งกว่าที่ใช้กันอยู่ในกองทัพเสียอีก
“ผมเป็นคนโกรธง่ายและเรียกร้องต้องการจากคนอื่นสูงมาก” เฉิน ซึ่งผ่านการเป็นทหารในกองทัพประจำเขตปกครองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือของจีน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
“ต้องทำอะไรอย่างเข้มงวดนี่แหละจึงจะสามารถอบรมบ่มเพาะให้เกิดดาบดีๆ ขึ้นมาได้ ถ้าคุณไม่หลอมดาบไม่ตีดาบให้มันดีแล้ว มันก็จะหักเสียหายไปเอง”
นักศึกษาของที่นี่ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอดีตทหาร เฉินบอก
พวกเขาฝึกโดยเรียงกันเป็นแถวยาวในโรงเล่นกีฬาโทรมๆ ขนาดใหญ่ มือถือปืนพลาสติกสีฟ้ายกขึ้นมาข้างหน้าพวกเขาด้วยสายตาหนักแน่นมั่นคง –ก่อนที่จะเข้าชั้นฝึกหัดการเร่งรัดลูกค้าของพวกเขาให้เข้าไปหลบอย่างปลอดภัยในรถยนต์ “ออดี้” สีดำ ซึ่งกระจกรถถูกทำลายเสียหาย
สำหรับคาบเรียนอื่นๆ จัดขึ้นในห้องเรียนหรือไม่ก็ที่โรงยิม ซึ่งพวกเขาสวมเสื้อยืดสีแดงจับคู่ฝึกการต่อสู้
ตลอดระยะเวลาการฝึก นักศึกษาจะถูกยึดโทรศัพท์มือถือ เวลาอาหารก็จะต้องรับประทานกันเงียบๆ ในห้องอาหารขนาดใหญ่ประดับประดาด้วยรูปภาพของพวกผู้จบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับยกย่อง โดยพวกเขาเหล่านี้ทำหน้าที่คุ้มครองอารักขาคนดังๆ จำนวนมาก ตั้งแต่ แจ็ก หม่า บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของจีน ไปจนถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสในตอนที่มาเยือนแดนมังกร
“เรากำลังเป็นผู้ที่สร้างมาตรฐานของบอดี้การ์ดจีนขึ้นมา” ครูผู้ฝึก จี เผิงเฟย (Ji Pengfei) บอกกับเอเอฟพี
ในชั้นเรียนหนึ่ง พวกนักศึกษาจับคู่กันทำงานในฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์ว่ากำลังคุ้มครอง “ลูกค้า” ผู้หนึ่ง ให้พ้นเงื้อมมือของผู้บุกรุก
“อันตราย” จี ตะโกน พร้อมกับเร่งให้ผู้รับการฝึกรีบผลัก “เจ้านาย” ให้อยู่ทางด้านหลังพวกเขา พร้อมกับชักปืนออกมาในจังหวะเดียวกันนั้น
ใครที่ล้มเหลวทำให้เสร็จสิ้นไม่ได้ภายในเวลา 2 วินาทีจะถูกสั่งลงโทษด้วยการวิดพื้น 50 ครั้ง
พวกปืนซึ่งใช้อยู่ในสถาบันที่เทียนจินเป็นปืนปลอมทั้งนั้น –เนื่องจากจีนมีกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธปืน สำหรับการฝึกยิงปืนด้วยกระสุนจริงนั้น นักศึกษาถูกนำไปฝึกกันที่ประเทศลาว
ล้างข้อมูล, สกัดกั้นการแฮก
แต่ในประเทศอย่างจีนซึ่งมีมาตรการสอดส่องเฝ้าติดตามสูงมาก ขณะที่อัตราการเกิดอาชญากรรมตามท้องถนนอยู่ในระดับต่ำ องครักษ์สมัยใหม่จำเป็นต้องมีชุดทักษะที่เหมาะกับยุคด้วย เป็นความรู้และทักษะในเรื่องการต่อต้านการเฝ้าติดตามของภาครัฐ ตลอดจนต่อต้านขัดขวางพวกแฮกเกอร์มืออาชีพ
“พวกเจ้านายคนจีนนะไม่ได้ต้องการให้คุณคอยต่อสู้กับใครๆ หรอก” เฉินบอกกับนักศึกษาของเขาเกี่ยวกับฐานลูกค้าซึ่งมีทั้งพวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์และบริษัทเทคระดับยักษ์ใหญ่ที่สุด
วิธีขัดขวางเมื่อโทรศัพท์มือถือถูกแฮก, ความปลอดภัยของเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม, การสังเกตตรวจจับพวกแอบดักฟัง, และการล้างข้อมูลในไฟล์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องมีอยู่ในคลังแสงขององครักษ์ยุคใหม่
“คุณจะต้องทำยังไงถ้าเจ้านายต้องการให้ทำลายไฟล์วิดีโอไฟล์หนึ่งทันที” เฉินถามขึ้นในชั้นเรียน
กระนั้นก็ตาม ภัยคุกคามแบบเก่าๆ เดิมๆ ก็ยังคงปรากฏอยู่ในประเทศจีน –อย่างก่อนหน้านี้ในปีนี้ อภิมหาเศรษฐี เหอ เสี่ยงเจี้ยน (He Xiangjian) ผู้ก่อตั้งกลุ่มมิเดีย (Midea) บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และเป็นหนึ่งในผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของประเทศ ได้ถูกจับกุมลักพาตัวจากบ้านพักของเขาเอง
ตามรายงานของสื่อจีน บุตรชายของเขารอดพ้นมือคนร้ายได้โดยการกระโดดลงแม่น้ำ และจากนั้นก็สามารถแจ้งตำรวจ ซึ่งแถลงในเวลาต่อมาว่าจับกุมผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุได้ 5 คน
จู เพ่ยเพ่ย (Zhu Peipei) นักศึกษาคนหนึ่งของสถาบัน เวลานี้อายุ 33 ปี เคยเป็นทหารอยู่ที่มณฑลซานซี วาดหวังว่าจะได้อาชีพเป็นบอดี้การ์ดซึ่งจะสามารถชดเชยข้อด้อยของเขาในเรื่องไม่มีทักษะทางวิชาชีพหรือคุณวุฒิทางวิชาการ
“แล้วแน่นอนล่ะ มันเจ๋งด้วย” เขากล่าวต่อ
แต่จริงๆ แล้วมีศิษย์เก่าที่จบจากสถาบันเจงกิสแห่งนี้ ไปได้ตำแหน่งงานที่ดูจำเจซ้ำซากอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น การติดตามดูแลลูกๆ ของคนร่ำรวยมีชื่อเสียงในช่วงอยู่ที่โรงเรียน –โดยที่ได้ค่าจ้างกัน 180,000 หยวน (26,000 ดอลลาร์) ต่อปี
อัตราขนาดนั้นถึงยังไงก็ยังดีกว่าเงินเดือนระดับพื้นฐานในบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 53,000 หยวน
พวกนักศึกษายังจะต้องรู้จักรับมือกับพฤติการณ์ประหลาดๆ ของลูกค้ามั่งคั่งร่ำรวยของพวกเขาด้วย ผู้ฝึกสอน จี กล่าว
มีบางคนยอมรับไว้วางใจบอดี้การ์ดเฉพาะคนที่เกิดปีนักษัตรเข้ากันได้กับปีนักษัตรของพวกเขาเท่านั้น เขาอธิบายขยายความ --ขณะที่มีอยู่คนหนึ่ง มาจากบริษัทใหญ่ระดับติดอยู่ใน ฟอร์จูน 500 (Fortune 500) ต้องการจ้างคนที่มาจากเมืองเกิดของเขาเท่านั้น
มีอีกคนหนึ่งต้องการให้ผู้ที่อยู่ในข่ายจะเป็นองครักษ์ของเขาได้ บอกให้ทราบว่าชอบอ่านหนังสืออะไร –โดยเขาตกลงว่าจ้างหลังบอกว่าชอบอ่านนวนิยายทหาร
คนที่อยู่ในระดับมือดีที่สุดนั้น สามารถได้เงินตอบแทนกัน 500,000 หยวนต่อปีทีเดียวแม้ทำงานภายในประเทศจีนเอง แต่ก็มีบางคนมุ่งมองไปที่ตำแหน่งงานในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะได้ทำงานกับพวกลูกค้าต่างชาติ
“ผมต้องการทำงานในฟิลิปปินส์หรือพม่า” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวโดยขอให้สงวนนาม
“ผมจะสามารถถือปืนพกปืนได้ ... มันจะท้าทายมากกว่า และผมก็สามารถทำเงินได้มากกว่าด้วย”
(ที่มา: เอเอฟพี)