รอยเตอร์ – หุ้นของธนคาร HSBC และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตกต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1998 หลังสื่อรายงานว่า ธนาคารเหล่านี้และธนาคารอื่นๆรวมถึง ธนาคารบาร์เคลย์ส และธนาคารดอยช์ แบงก์ ได้ทำการเคลื่อนเงินผิดกฎหมายมหาศาลร่วม 2 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับบรรดาบริษัทออฟชอร์หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และเพิ่งหยุดไปเมื่อปี 2017 ถึงแม้จะเคยได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
รอยเตอร์รายงานวันนี้(21 ก.ย)ว่า สื่อบัซฟีดของสหรัฐฯและสื่ออื่นๆได้รายงานถึงรายงานความเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่เรียกว่ารายงาน SARs ถูกยื่นโดยธนาคารและบริษัทการเงินอื่นๆกับแผนกเครือข่ายบังคับอาชญากรรมทางการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ FinCen (Financial Crimes Enforcement Network)
ทั้งนี้พบว่าในวันจันทร์(21)หุ้นของธนาคาร HSBC ในกรุงลอนดอนตกลงไปถึง 3.6% ต่ำสุดนับตั้งแต่สถานการณ์วิกฤตค่าสกุลเงินเอเชียปี 1998
ขณะที่หุ้นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตกไปถึง 3.6% หรือต่ำสุดในรอบ 22 ปีท่ามกลางการเทขายออกในตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับดัชนี STOXX Europe 600 ต่ำไป 4%
ทั้งนี้พบว่ารายงานความเคลื่อนไหวผิดปกติมากกว่า 2,100 ฉบับ ซึ่งในตัวรายงานไม่จำเป็นต้องเป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดนั้นสื่อบัซฟีดของสหรัฐฯเป็นผู้ได้รับและได้แชร์ข้อมูลกับหน่วยงานนักข่าวเชิงสอบสวน ICIJ (International Consortium of Investigative Journalists) และสื่อสำนักข่าวอื่นๆ
อย่างไรก็ตามธนาคาร HSBC ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ผ่านทางอีเมลไปให้กับรอยเตอร์วันอาทิตย์(20) กล่าวว่า
“ข้อมูลทั้งหมดที่ออกมาจาก ICIJ เป็นประวัติศาสตร์” ทางธนาคารยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2012 ธนาคารได้เริ่มต้นมาตรการที่ใช้ระยะเวลาหลายปีสำหรับปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการต่อสู้กับภัยอาชญากรรมทางการเงิน
ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกล่าวผ่านทางแถลงการณ์เช่นกันว่า ทางธนาคารมีความรับผิดชอบต่อการสู้รบกับอาชญากรรมทางการเงินอย่างจริงจังและได้ลงทุนเป็นจำนวนมากต่อโครงการเหล่านี้
ส่วนธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) ชื่อดังของอังกฤษ กล่าวว่า ทางธนาคารเชื่อมั่นว่าได้ปฎิบัติตามหน้าที่ตามปกติทางกฎหมาย รวมไปถึงทำตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
รอยเตอร์รายงานว่า รายงานความเคลื่อนไหวผิดปกติส่วนใหญ่ที่สื่อบัซฟีดได้รับนั้นเกี่ยวข้องกับธนาคารดอยช์ แบงก์ และในวันนี้(21)พบว่าหุ้นของดอยช์ แบงก์ร่วงลงไป 5.2%
โดยในแถลงการณ์วันอาทิตย์(20) ดอยช์ แบงก์กล่าวว่า “ทาง ICIJ ได้รายงานจำนวนของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต” และเสริมต่อว่า “ทางเราได้อุทิศทรัพยากรจำนวนมากเพื่อทำให้ระบบการควบคุมของเรามีความเข้มแข็งขึ้น และเราให้ความสำคัญต่อภาระความรับผิดชอบและหน้าที่”
ทั้งนี้พบว่าไฟล์ทั้งหมดมีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ช่วงระหว่างปี 1999 – 2017 ที่ถูกเตือนโดยแผนกภายในสถาบันทางการเงินว่า “น่าสงสัย”
โดยในรายงานของ ICIJ เปิดเผยว่า ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าธนาคารชื่อดังของโลกเหล่านี้มักจะเคลื่อนย้ายเงินให้กับบริษัทธุรกิจต่างๆที่ถูกจดทะเบียนในแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของโลก เป็นต้นว่า หมู่เกาะบริติชเวอร์จินของอังกฤษ และไม่ทราบถึงเจ้าของบัญชีที่แท้จริง
เจ้าหน้าที่ประจำธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักใช้กูเกิลเพื่อเสิร์ชหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกรรมการเงินมูลค่าสูง และในบางกรณีพบว่าธนาคารยังคงเคลื่อนย้ายเงินที่ผิดกฎหมายถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯจะเตือนว่าอาจต้องเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายหากยังคงเดินหน้าทำธุรกิจกับอาชญากรหรือรัฐบาลต่างชาติที่คอร์รัปชัน