รัฐบาลบาห์เรนประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล วานนี้ (11 ก.ย.) ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ทั้งต่ออิสราเอลและประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังเร่งสร้างผลงานเพื่อกู้คะแนนนิยมก่อนศึกเลือกตั้ง
ข้อตกลงนี้ถือเป็นอีกขั้นของความสำเร็จของอิสราเอลและฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ซึ่งต้องการโน้มน้าวให้ชาติอาหรับยอมรับสถานะของอิสราเอลโดยไม่ต้องมีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยอมสถาปนาความสัมพันธ์การทูตสู่ระดับปกติกับอิสราเอลไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ก็คือ ความขัดแย้งกับ ‘อิหร่าน’ ซึ่งถือเป็นศัตรูร่วมเบอร์ 1 ในสายตารัฐริมอ่าวอาหรับ, อิสราเอล และรัฐบาลทรัมป์
- ทำไมบาห์เรนถึงยอมรับอิสราเอล?
บาห์เรนซึ่งเป็นราชอาณาจักรสุหนี่ ที่มีประชากรชีอะห์อยู่เป็นจำนวนมาก มีความบาดหมางกับอิหร่านอยู่เป็นทุนเดิม และจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งมีกองเรือที่ 5 ประจำการอยู่บนเกาะเล็กๆ ในอ่าวเปอร์เซียแห่งนี้
ทรัมป์ ตัดสินใจหันหลังให้กับนโยบายของสหรัฐฯ ในยุค บารัค โอบามา ด้วยการยอมขายอาวุธให้แก่บาห์เรนโดยไม่แคร์เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน และยังสนับสนุนให้บาห์เรนผูกสัมพันธ์กับอิสราเอลให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดย เจเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยคนโปรดของทรัมป์ ใช้กรุงมานามาเป็นสถานที่เปิดตัวแผนสันติภาพตะวันออกกลางเมื่อปีที่แล้ว
วิลล์ เวชสเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางของสภาแอตแลนติก ระบุว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้บ่งบอกถึง “ความกังวลใหญ่หลวง” ของรัฐริมอ่าวอาหรับซึ่งมองว่าสหรัฐฯ กำลังลดบทบาทความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ลง และอาจเปิดทางให้ผู้เล่นที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ เช่น อิหร่าน, ตุรกี รวมถึงรัสเซีย สยายอิทธิพลมากขึ้น
“สิ่งที่คุณเห็นอยู่ในตอนนี้คือการจัดตั้งแนวร่วมใหม่ เพื่อกีดกันขั้วอำนาจเหล่านั้น” เวชสเลอร์ กล่าว พร้อมอธิบายว่าอิสราเอลกับรัฐริมอ่าวอาหรับ “ไม่ใช่พันธมิตรกันโดยธรรมชาติ พวกเขามีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม แต่เรื่องเหล่านั้นได้ถูกมองข้ามไป เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ร่วมด้านภูมิรัฐศาสตร์และโอกาสทางเศรษฐกิจ”
- ชัยชนะครั้งใหญ่ของอิสราเอล
การได้รับการยอมรับจาก 2 ชาติอาหรับถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งจะเดินทางไปลงนามข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์กับทั้งยูเออีและบาห์เรนที่ทำเนียบขาวในวันอังคารหน้า (15 ก.ย.)
ยูเออีและบาห์เรนถือเป็นรัฐอาหรับกลุ่มแรกที่ประกาศยอมรับสถานะของอิสราเอลในรอบกว่า 2 ทศวรรษ และทำให้รัฐยิวเข้าใกล้การยอมรับในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านเที่ยวบินตรงสู่อ่าวเปอร์เซียได้
รัฐบาล เนทันยาฮู ยอมที่จะล้มเลิกแผนการผนวกดินแดนส่วนใหญ่ในเขตเวสต์แบงก์ แต่ไม่รับปากว่าจะยอมให้มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเออีและบาห์เรนยืนยันว่าก็ยังสนับสนุนอยู่
เวชสเลอร์ มองว่า การผนวกเวสต์แบงก์อาจกลายเป็น “หายนะทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่” สำหรับอิสราเอล และข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเออีและบาห์เรนช่วยให้รัฐยิว “หลีกเลี่ยงการทำร้ายตัวเอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเป็นไปได้สูงว่า โจ ไบเดน อาจจะโค่น ทรัมป์ ลงได้ในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เดือน พ.ย.
องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ประณามข้อตกลงของบาห์เรนว่าเสมือนเป็นการ “แทงข้างหลัง” ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการสถาปนารัฐปาเลสไตน์อาจกลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญในสายตาของกลุ่มชาติอาหรับไปในที่สุด
- ผลงานชิ้นโบแดงของทรัมป์
ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ลังเลที่จะโอ้อวดความสำเร็จทางการทูตครั้งนี้ ในขณะที่ทำเนียบขาวก็ออกมาตีปี๊บว่า ทรัมป์ ควรได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง “รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ”
ข้อตกลงกับยูเออีและบาห์เรนยังทำให้ ทรัมป์ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตนคือประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเพื่ออิสราเอลมากที่สุด หลังจากที่เคยท้าทายมตินานาชาติด้วยการประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงยิวมาแล้วเมื่อปี 2017
ที่มา: เอเอฟพี