เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ วันนี้ (10 ก.ย.) แถลงในงานประชุมอาเซียนที่กรุงฮานอย เวียดนาม ต่อหน้ารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ และมี 27 ชาติร่วมการประชุม ว่า วอชิงตันต้องการให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสัมพันธ์ “บ.จีน” ช่วยรัฐบาลปักกิ่งสร้างเกาะเทียมกลางทะเลจีนใต้
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (10 ก.ย.) ว่า การออกมาแสดงความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ในงานประชุมอาเซียนที่กรุงฮานอย เวียดนาม ที่เริ่มมาตั้งแต่วันพุธ (9) ในความคาดหวังของการแสวงหาความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามระดับโลกและพยายามลดความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ลง
ซึ่งภายในงานนอกจากรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียนจาก 10 ชาติแล้ว ยังมีอีก 27 ชาติทั่วโลกเข้าร่วม รวมถึง จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และ อินเดีย ที่เข้าร่วมการประชุมแบบทางไกล อ้างอิงจากรอยเตอร์
ทั้งนี้ บรรยากาศภายในการประชุมนั้น มีอิทธิพลความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง โดยพอมเพโอกล่าวในวันพฤหัสบดี (10) ว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท
ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนที่มีปักกิ่งเป็นเจ้าของโดยชี้ว่า บริษัทเหล่านี้ช่วยเหลือกองทัพปลดแอกจีนในการช่วยเหลือการสร้างเกาะเทียม
“มันไม่ใช่พูดแค่นั้นแต่ต้องทำด้วย” เขากล่าวต่อรัฐมนตรี 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ในที่ประชุมระหว่างการประชุมซัมมิตทางออนไลน์วันพฤหัสบดี (10)
และเสริมต่อว่า “ให้พิจารณาทบทวนความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทเหล่านี้ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของว่าระรานบรรดาประเทศสมาชิกแถบชายฝั่งทะเลจีนใต้”
พอมเพโอชี้ต่อว่า “อย่าปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน เหยียบย่ำพวกเราและประชาชนของพวกเรา”
ทั้งนี้ สหรัฐฯมีสำนักงานทางการทูตประจำอาเซียน U.S. Mission to ASEAN ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย และจากเว็บไซต์ของทางหน่วยงาน พบว่า พอมเพโอจะเข้าร่วมการหารือการประชุมซัมมิตแม่โขง-กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership Foreign Ministers)
รอยเตอร์รายงานว่า หวัง ยี่ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯว่าเข้าแทรกแซงโดยตรงต่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และยังเป็นแรงขับดันใหญ่ที่สุดของจีนในการเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหาร
“สันติภาพและเสถียรภาพถือเป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของจีนในทะเลจีนใต้” เขากล่าวในการประชุมอ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเสียงของสมาชิกอาเซียน คือ เรตโน มาร์ซูดี (Retno Marsudi) รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ถึงความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ว่า ถือเป็นความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจในการต่อสู้เชิงภูมิศาสตร์ทางการเมือง
“เราไม่ต้องการติดอยู่ในความขัดแย้งที่เป็นศัตรูของพวกเขา” เธอกล่าวในวันอังคาร (8) โดยชี้ไปถึงการประชันแสนยานุภาพระหว่างกันทางน้ำ ว่า “ถือว่าน่าวิตก”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงประจำ “เอส.ราชารัตนัม” คณะการศึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางชื่อดังของสิงคโปร์ คอลลิน โค้ว (Collin Koh) ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับท่าทีของอาเซียนต่อประเด็นความขัดแย้งภูมิภาคทะเลจีนใต้ว่า
“ไม่มีการแสดงความปราถนาว่าจะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือจะสามารถถูกมองว่ามีการกระทำเช่นนั้น”
และเสริมว่า “อาเซียนพยายามที่จะไม่ให้ความสนใจต่อความเป็นอริระหว่างกัน (ของทั้งสองชาติ) ที่เพิ่มมากขึ้น”
รอยเตอร์รายงานว่า อาเซียนจะหารือกับจีนในประเด็นความคืบหน้ากฎการปฏิบัติทางน้ำและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19
และหารือร่วมกับสหรัฐฯในการเพิ่มการลงทุนจากวอชิงตัน
ซึ่งในวันพุธ (9) จีนได้ออกมาเรียกร้องให้อาเซียนมีข้อสรุปของการเจรจาต่อในสิ่งที่เรียกว่าระเบียบปฏิบัติกับอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะในทะเลจีนใต้
ในรายงานของสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น หวังกล่าวในที่ประชุมทางออนไลน์วันพุธ (9) ว่า “จีนสมควรที่จะได้สรุปขั้นสุดท้ายถึงระเบียบและการปฏิบัติกับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างกรอบข้อปฏิบัติที่จะสะท้อนถึงลักษณะสำคัญของภูมิภาค”
ทั้งนี้ ไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตด้วยเช่นกัน โดยในข้อแถลงของทางกระทรวงต่างประเทศเมื่อวันนี้ (10) มีใจความถึงท่าทีฝ่ายไทยในการประชุมว่า
ในวันพุธ (9) ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายโทชิมิทสึ โมเทกิ (Mr. Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมหารือถึงความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ในสาขาต่างๆ และประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
โดยเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ อาเซียนแสดงความชื่นชมต่อการที่ญี่ปุ่นประกาศจัดสรรเงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์ฯ
ในที่ประชุมดังกล่าว ไทยในฐานะว่าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการสอดประสานความร่วมมือระหว่างเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the
Indo-Pacific: AOIP) กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้ปรับมุมมองต่อสาขาความร่วมมือภายใต้เอกสาร AOIP โดยหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชื่อมโยงระหว่างกัน และความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นสาธารณสุข ทั้งนี้ ไทยผลักดันให้อาเซียนและญี่ปุ่นดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมร่วมกับศูนย์อาเซียนต่างๆ อาทิ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพและนวัตกรรม ที่จัดตั้งขึ้นในไทยด้วย