นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษขีดเส้นตายเจรจาความสัมพันธ์หลังเบร็กซิตกับสหภาพยุโรป (อียู) ให้ลุล่วงภายในวันที่ 15 ต.ค. และย้ำว่าอังกฤษไม่กลัวความสับสนอลหม่านที่จะเกิดขึ้น หากท้ายที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
อังกฤษและอียูเปิดเวทีเจรจารอบที่ 8 ในสัปดาห์นี้ที่กรุงลอนดอน โดยทั้งสองฝ่ายยังคงใช้วาจาแข็งกร้าวจนนำไปสู่การกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าไม่ยอมประนีประนอม และใช้กลยุทธ์ผลักดันสถานการณ์ให้ถึงจุดอันตราย (brinksmanship)
เดวิด ฟรอสต์ หัวหน้าผู้แทนเจรจาฝ่ายอังกฤษ กล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ในสื่อหนังสือพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ (6 ก.ย.) โดยยืนกรานจะไม่ยอมผ่อนปรนอะไรที่เป็นการ “ล้ำเส้น” ขณะที่ฝ่ายบรัสเซลส์เองก็ยอมรับว่า จำเป็นต้องทำข้อตกลงความสัมพันธ์กับอังกฤษให้ลุล่วงภายในกลางเดือน ต.ค. เนื่องจากต้องมีการแปลเอกสารและเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันโดยรัฐสภายุโรป
สำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษเผยแพร่คำแถลงของจอห์นสัน ซึ่งยืนยันว่า “จำเป็นต้องตกลงกับมิตรสหายในยุโรปให้ได้ก่อนการประชุมคณะมนตรียุโรปในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับในช่วงสิ้นปี”
“ดังนั้น มันไม่มีประโยชน์ที่จะคิดไกลออกไปอีก ถ้าเราตกลงกันไม่สำเร็จ ผมก็ไม่เห็นโอกาสในการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างเราอีกต่อไป”
ในกรณีดังกล่าว จอห์นสัน ระบุว่าอังกฤษจะสถาปนาความสัมพันธ์กับอียูโดยยึดรูปแบบของ “ออสเตรเลีย” หรือไม่ก็ใช้เงื่อนไขเดียวกับที่ทำกับแคนาดาและประเทศอื่นๆ
ออสเตรเลียและอียูทำการค้าโดยอิงกับกฎระเบียบด้านการค้าและภาษีขององค์การการค้าโลก (WTO) ในขณะที่รัฐบาล จอห์นสัน ต้องการใช้ระบบ “zero tariff, zero quota” คือไม่มีการเก็บภาษีสินค้าทั้งเข้าและออก และไม่กำหนดโควตาสินค้า แต่ถึงกระนั้นเขาก็เชื่อว่า “ออสเตรเลียโมเดล” ยังคงเป็นผลดีต่ออังกฤษอยู่นั่นเอง
คำขู่ของ จอห์นสัน คาดว่าจะทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่รวมกับอียู (remainers) ออกมาโจมตีรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟว่าตั้งใจให้อังกฤษถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงมาโดยตลอด แม้ปากจะพูดในทางตรงกันข้าม
อังกฤษถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา หรือเกือบๆ 4 ปีหลังการทำประชามติแยกตัวซึ่งจุดชนวนความแตกแยกทางการเมืองครั้งใหญ่ และทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกไปถึง 2 คน
จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอังกฤษคนใหม่หลังจากที่อดีตนายกฯ เทเรซา เมย์ ผลักดันข้อตกลงเบร็กซิตผ่านสภาไม่สำเร็จถึง 3 ครั้ง และตัดสินใจสละตำแหน่ง
อังกฤษยังคงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอียูระหว่างที่เจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์ใหม่ ซึ่ง จอห์นสัน รับปากว่าจะทำให้สำเร็จลุล่วงก่อนสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่านในวันที่ 31 ธ.ค.
อย่างไรก็ตาม การเจรจายังคงเผชิญอุปสรรคใหญ่จากความเห็นที่ไม่ลงรอยในเรื่องสิทธิการทำประมง และกฎระเบียบด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม
จอห์นสัน ยืนยันในเดือนนี้ว่าจะพยายามผลักดันข้อตกลงกับอียูให้สำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าอังกฤษ “พร้อม” เผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่จะตามมาหากการเจรจาล้มเหลว
ที่มา: เอเอฟพี