ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “..... ที่มีการลือกันว่า รัฐบาลแพ้แล้วต้องจ่ายค่าเสียหายแล้วนั้น ตอนนี้ยังไม่มีใครแพ้ ใครชนะทั้งสิ้น” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบข้อสงสัยคดีเหมืองทองอัคราฯ หลังมีการปล่อยข่าวลวง หรือ Fake New ในช่วงที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำลังพิจารณางบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรม 111 ล้านบาท เพื่อต่อสู้คดีเหมืองอัคราฯ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ตามเกมการเมืองที่ฝ่ายค้านมีโอกาสเป็นขย่มรัฐบาลแบบเอาทุกเม็ด ผสมโรงด้วยการปล่อยข่าวผ่านโลกออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจที่จะเห็นข่าวมั่วๆ แชร์กันไปโดยไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร สร้างความเข้าใจผิดแบบไปกันใหญ่อย่างคดีเหมืองทองอัคราฯ ที่ความจริงแล้วอยู่ในกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่ลือกันไปว่ารัฐบาลแพ้คดีแล้ว ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายค่าโง่ให้เอกชนหลายหมื่นล้าน
เรื่องของเรื่องที่ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนและตอนนี้ก็สร่างซาลงไปแล้วนั้น ก็ด้วยว่า นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ฯ จากพรรคเสรีรวมไทย ใช้สิทธิแปรญัตติตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อต่อสู้คดีระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร วงเงิน 111 ล้านบาท ของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่มีสิทธิใช้งบประมาณต่อสู้คดี กรณีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ
เดือดๆ กันข้ามคืนข้ามวัน พอมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีนายวราเทพ รัตนากร รองประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า ที่ประชุมกมธ.มีมติเสียงข้างมาก 38 ต่อ 21 เสียง ให้ปรับลดงบประมาณเพียง 12 ล้านบาท ตามที่อนุ กมธ. เสนอมาเท่านั้น
เมื่อผลการลงมติออกมาเช่นนี้ นพ.เรวัต จึงขอใช้สิทธิสงวนคำแปรญัตติขอให้ตัดงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาท ในชั้นการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายนที่จะถึงนี้อีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบโต้กระแสที่มีการแชร์บนโลกออนไลน์กรณีที่เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งหยุดเหมืองทองอัคราฯ ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวนั้นว่า เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยแก้ไข จนกระทั่ง คสช. เข้ามาแก้ปัญหา ตนไม่ใช่คนทำ แต่เป็นผู้เข้ามายุติหยุดปัญหาต่างหาก ยืนยันว่าไม่หวั่นไหวแม้ปัญหาจะเข้ามารุมเร้า ยอมรับเตรียมใจตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว
เนติบริกรของรัฐบาล นายวิษณุ ก็ออกมาช่วยอธิบายว่า การสั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ เป็นการให้หยุดดำเนินการเหมืองเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะมีพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แล้วให้เข้าขออนุญาตดำเนินการอีกครั้งเนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนั้นการที่มีกลุ่มการเมืองเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีกรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองจนเกิดความเสียหาย จึงขอยืนยันว่า ไม่ได้ใช้มาตรา44 สั่งปิดเหมืองแต่อย่างใด
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเหมืองทองอัคราฯ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ประชาชนได้รับผลกระทบมีปัญหาสุขภาพที่ร้องเรียนกันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าบางส่วน จึงให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบ
ส่วนการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และต่อมาได้รับรายงานว่าออสเตรเลีย ก็ตรวจสอบพบการทุจริตเช่นกัน ซึ่งระหว่างการให้หยุดดำเนินการ บริษัทดังกล่าวมีการเลิกจ้างคนและปิดเหมืองของเขาเอง
รองฯวิษณุ ยังบอกด้วยว่า หลังจาก พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ออกมา บริษัทดังกล่าวก็ไม่ได้เข้ามาขออนุญาตดำเนินการ แต่กลับนำประเด็นนี้ ไปฟ้องร้องต่อศาลต่างประเทศ เหมือนคดีวอลเตอร์บาว ที่มีการฟ้องร้องในศาลต่างประเทศ ก็ต้องไปจ้างทนายสู้คดีกันไป
สำหรับเรื่องการใช้งบประมาณ ในการต่อสู้คดี รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่มีข้อพิพาทในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และฟ้องร้องในศาลต่างประเทศ หรือในองค์การการค้าโลก ก็ต้องมีการเสนองบประมาณและจ้างทนาย
มาตามย้อนรอยเหมืองทองหมื่นล้าน เส้นทางอัคราไมนิ่งบนขุมทองรอยต่อพิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ กันอีกครั้ง
“อัคราไมนิ่ง” หรือบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated NL) ประเทศออสเตรเลีย สำรวจและผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำและเงิน ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจสายแร่ทองคำ นับแต่ปี 2530 และจดทะเบียนก่อตั้ง 13 สิงหาคม 2536 มีสัมปทานเหมืองแร่ชาตรี บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตามใบประทานบัตร 14 แปลง เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ บริเวณรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก
ปี 2538 บริษัทอัคราไมนิ่ง สำรวจพบสายแร่ทองจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ และยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำสำเร็จ กระทั่ง 27 ธันวาคม 2542 ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,259 ไร่ พร้อมได้ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ พื้นที่ประมาณ 1,575 ไร่ เพื่อเปิดการผลิตเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ใต้)
มิถุนายน 2543 บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับใบประทานบัตร ขุดสำรวจ ขุดแร่ ผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำ ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร (19 มิ.ย.2543 – 18 มิ.ย. 2563) ตามโครงการเหมืองทองคำชาตรี จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,259 ไร่ เดินสายพานผลิตแร่ทองคำส่งไปสกัดเป็นทองบริสุทธิ์ที่ออสเตรเลีย และนำเข้าเมืองไทยอีกครั้ง
12 ธันวาคม 2544 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปทำพิธีเปิดเหมืองทองคำผลิตทองคำแท่งเชิงพาณิชย์ของเหมืองแร่ทองคำชาตรีใต้ก้อนแรก ขณะที่บริษัทฯ ได้กว้านซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านโดยทุ่มจ่ายทั้งค่านายหน้า ค่ารื้อถอน เงินสะพัดไปทั่วพื้นที่รอบเหมืองทอง
ช่วงนั้น กระแสการต่อต้านเหมืองเริ่มหนักขึ้น เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านรอบเหมืองเริ่มเปลี่ยน ข้าวปลาอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค-น้ำในการเกษตรเหือดแห้ง ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ และเจ็บป่วยด้วยอาการแพ้ มีผื่นคันเป็นตุ่มบริเวณผิวหนัง มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ต่อเนื่อง
กุมภาพันธ์ 2550 บริษัทอัคราฯ ได้ทำ EIA กรณีขอประทานบัตรจำนวนอีก 9 แปลง พื้นที่ประมาณ 2,466 ไร่ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคาชาตรีเหนือ และขอจัดตั้งสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ พื้นที่ประมาณ 161 ไร่ รวมทั้ง 2แหล่ง อัคราฯ ได้ประทานบัตรจำนวน 14 แปลง พื้นที่ 3,926 ไร่
พฤศจิกายน 2550 เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราไมนิ่ง กระทั่งได้ใบประทานบัตร 9 แปลง และยังขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ ที่เพชรบูรณ์
2551 บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ขอขยายพื้นที่และโรงงานเหมืองและผลิตโลหกรรมเพิ่มเติม ใช้ชื่อว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคาชาตรีเหนือ” ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่เดิม (เหมืองชาตรีใต้) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเห็นว่าการขอขยายพื้นที่ไม่มีการจัดทำ EIA ตามมาตรา 46-49 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 แต่ก็มีการออกใบอนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ขยายพื้นที่ดังกล่าวได้
ปี 2553 บริษัทอัคราไมนิ่งฯ สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 บนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (เดิม) ซึ่งส่อผิดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตใช้พื้นที่ รวมทั้ง EIA ก็กำหนดให้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 อยู่ห่างจากคลองและชุมชนอย่างน้อย 1 กิโลเมตร
พฤศจิกายน 2553 ตัวแทนประชาชนหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ จำนวน 44 คนยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก กรณีบ่อเก็บเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ทับเส้นทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน เพราะเป็นการก่อสร้างบนโฉนดที่ดินของ บริษัทสวนสักพัฒนา ซึ่งออกตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1834 ดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่
รวมทั้งขอให้ศาลมีคาสั่งเพิกถอนประทานบัตร 5 แปลงแรกของบริษัทฯ ที่ไม่ได้มีการทำ EHIA และยุติการดำเนินการใดๆ ในเขตประทานบัตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว รวมถึงขอให้เพิกถอนการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเหมืองแร่ โดยกรมป่าไม้ และเพิกถอนมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วม
ระหว่างระบวนการทางศาล เหมืองทองชาตรีไม่ได้หยุด และมีการขอขยายพื้นที่ทำเหมือง โรงงานทำเหมืองแร่และผลิตโลหะกรรมเพิ่มเติมในแปลงประทานบัตร 9 แปลง นำไปสู่การร้องเรียน-ยื่นฟ้องกรณีผลกระทบเพิ่มขึ้น
ธันวาคม 2553 ศาลปกครอง สั่งให้หยุดการทำงานของเครื่องจักรและให้หยุดทำเหมืองทองคำ จากนั้นได้มีการวัดคุณภาพของน้ำ กระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้ถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง ระบุไม่จัดทำ EIA ของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทาง
พฤษภาคม 2556 กลุ่มพีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบเหมือง ถูกบริษัทฟ้องกรณีบุกรุกและเข้าไปยังสถานที่เหมือง
พฤษภาคม 2557 ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสานักนายกรัฐมนตรี และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่ตรวจเจาะเลือด โดยผลการตรวจคนรอบเหมืองทองจานวน 738 คน เด็ก 67 คน มีสารหนูในเลือดสูง และผู้ใหญ่ 664 คน มีสารหนู 104 คน
ส่วนผลตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ประชาชน 200 ราย มี DNA ผิดปกติ ทำให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยุคนั้น ออกคำสั่งห้ามทำเหมือง 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2558 เพื่อให้แก้ปัญหา แต่บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คาสั่งดังกล่าว
ธันวาคม 2557 ชาวบ้านจาก 5 จังหวัด (พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี) ประมาณ 40 คน ยื่นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน และขอให้เป็นตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองทองคำ ฟ้องร้องเอาผิดต่อ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
กันยายน 2558 กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ
สิงหาคม-พฤศจิกายน 2558 ดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ จำนวน 1,004 คน ว่าพบสารปนเปื้อนในร่างกายเกินมาตรฐาน
ตุลาคม 2558 กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ยื่นหนังสือคัดค้านอีก ขอให้ยุติและเพิกถอนประทานบัตร อาชญาบัตร อาชญาบัตรพิเศษ และให้ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำ ต่อสำนักนกยกรัฐมนตรี พร้อมกับเรียกร้องให้ตรวจรักษาสุขภาพคนรอบเหมือง และชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม
13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ให้ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว สั่งปิดเหมืองทองคำทั่วประเทศไทยร่วมทั้ง จ.พิจิตร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เพราะมีปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองมีผลกระทบจากสารโลหะหนัก ปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำและนาข้าว
5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกท เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทย เป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ (22,672 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
30 ตุลาคม 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม บอกต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลไทยมีทางเลือกว่าจะยอมจ่ายให้เรื่องจบ หรือประนีประนอมแล้วให้กลับมาเปิดเหมืองต่อ หรือสู้คดี และในช่วงเดือนมีนาคม 2563 นายสุริยะ นำกรณีเหมืองทองฯ เสนอที่ประชุมครม. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติจ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อยุติปัญหาการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอในการออกคำสั่งปิดเหมืองเป็นการชั่วคราว
เวลานี้ คดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเจรจาตามเงื่อนไขของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งประชุมพิจารณาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยช่วงแรกเป็นการให้ทั้ง 2 ฝ่ายส่งข้อมูลทั้งในรูปเอกสาร และบุคคลขึ้นชี้แจง ส่วนขั้นตอนที่สองคือให้คู่กรณีไปหาทางเจรจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม คือการตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตฯ ตามหลักฐานทางเอกสาร การชี้แจงของบุคคลที่ให้การไว้แล้ว
ทั้งนี้ นายสุริยะ เน้นย้ำกับนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกตฯ ว่าจะต้องไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนในชุมชนหรือในพื้นที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเอกชนซึ่งหมายถึงเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ต้องอยู่ได้ด้วย
บริษัท อัคราฯ ประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 โดยวัดจากปริมาณสำรองแร่ที่สามารถพัฒนามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ปี 2562 เป็นแร่ทองคำ 890,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ37,020 ล้านบาท และแร่เงิน 8,900,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,272 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 41,292 ล้านบาท ยังไม่รวมเศษทองที่อยู่ในโรงประกอบโลหการที่ถูกสั่งหยุด ไม่สามารถขนย้ายหรือสกัดต่อได้ ซึ่งยังไม่ได้ตีมูลค่าชัดเจนไว้
การที่ยื่นฟ้องศาลอนุญาโตฯ ของบริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ในแหล่งแร่ดังกล่าว บริษัทเชื่อว่าจะเป็นฝ่ายชนะรัฐบาล และยืนยันไม่ได้ทำกฎหมายทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และเรื่องของการดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบๆ เหมือง แต่บริษัท คิงส์เกตฯ ก็รู้อยู่เต็มอกว่ามีปมปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไทยมีโอกาส 'น็อก' คิงส์เกตฯ ได้แน่
ประเด็นแรก คือเรื่องของสินบนข้ามชาติที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนอยู่ในเวลานี้ โดยช่วงปี 2558 ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)
นั่นคือพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี ก.พ.ร.กับพวกรวม 6 คน กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดังกล่าว
ส่วนการกระทำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และนายปกรณ์ สุขุม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
สำหรับประเด็นที่ ก.ล.ต. ไทยที่ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจากก.ล.ต.ออสเตรเลีย หรือ ASIC กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหา เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบนั้น เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
อีกประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่เหมืองอัคราถูกกล่าวหามีความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ในการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง โดยเหตุเกิดบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
นี่แค่เพียงหนังตัวอย่างที่รัฐบาลไทยใช้เป็นหลักฐานต่อสู้ในคณะอนุญาโตฯ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบในการดำเนินธุรกิจ คดีนี้จึงต้องว่ากันอีกหลายยก ยาวไปๆ