xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เผยเอกสาร ‘หลักประกัน 6 ประการ’ ที่ให้กับ ‘ไต้หวัน’ อ้างเพื่อตอบโต้จีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ประกาศเริ่มต้นเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไต้หวัน พร้อมเปิดเผยโทรเลขลับยุคอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ที่ระบุถึง “หลักประกัน 6 ประการ” ที่อเมริการับรองต่อไทเป ในความเคลื่อนไหวซึ่งถูกมองว่าเป็นการประกาศจุดยืนหนุนหลังไต้หวันและท้าทายอำนาจจีนมากยิ่งขึ้น

ประกาศของสหรัฐฯ มีขึ้นในช่วงเวลาที่จีนยกระดับข่มขู่ไต้หวัน อีกทั้งความสัมพันธ์สองมหาอำนาจก็ตกต่ำย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก กล่าวต่อที่ประชุมเสมือนซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Heritage Foundation ในสหรัฐฯ ว่า ท่าทีล่าสุดของวอชิงตันไม่ถือเป็นการพลิกนโยบาย หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญภายใต้กรอบนโยบาย “จีนเดียว” ที่อเมริกายึดถือมานาน

สติลเวลล์ อธิบายว่า สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะต้องทำเช่นนี้ “เนื่องจากปักกิ่งทำตัวเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ” และยังพยายามโดดเดี่ยวไต้หวันในทางการทูต รวมถึงใช้แสนยานุภาพทางทหารเข้าข่มขู่

“สหรัฐฯ จะยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวัน เพื่อต้านทานแรงกดดัน, การข่มขู่ และความพยายามลดความสำคัญของไต้หวันโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน” สติลเวลล์ ระบุ

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันออกมาแถลงขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้การหนุนหลัง พร้อมยืนยันจะเดินหน้าเสริมศักยภาพด้านการป้องกันประเทศต่อไป

สหรัฐฯ ยอมรับหลักการจีนเดียว (One China) มาตั้งแต่ปี 1979 และไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ถึงกระนั้นอเมริกาก็ยังเป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ และมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนไต้หวันให้สามารถป้องกันตนเองได้

แดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกคนก่อนหน้า สติลเวลล์ ชี้ว่า หลักประกัน 6 ประการ (Six Assurances) ที่รัฐบาล เรแกน ให้ไว้กับไต้หวันนั้นเป็น “เรื่องลับที่ไม่ลับ” เสียทีเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่การที่สหรัฐฯ นำโทรเลขดังกล่าวออกเผยแพร่ในตอนนี้น่าจะเพื่อลดแรงกดดันจากพวกสายเหยี่ยวในรัฐบาล ซึ่งต้องการให้อเมริกาละทิ้ง “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ซึ่งหมายถึงนโยบายไม่แสดงเจตนารมณ์ปกป้องไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง แต่ยังคงให้การสนับสนุนที่พอเพียงเพื่อป้องปรามการรุกรานทางทหารของจีน

หลักประกัน 6 ประการที่สหรัฐฯ ให้ไว้กับไต้หวันเมื่อปี 1982 โดยไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการมาก่อนนั้น ได้แก่ 1) ไม่กำหนดเวลายุติการขายยุทโธปกรณ์แก่ไต้หวัน 2) ไม่ตกลงปรึกษาหารือจีนก่อนขายยุทโธปกรณ์แก่ไต้หวัน 3) ไม่แสดงบทบาทไกล่เกลี่ยระหว่างจีนกับไต้หวัน 4) ไม่ทำการเปลี่ยนแปลงกฎหมายความด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน 5) ไม่ทำการเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยเหนือไต้หวัน และ 6) ไม่กดดันไต้หวันให้ร่วมเจรจากับจีน

ดักลาส พาล อดีตผู้แทนสหรัฐฯ ประจำไต้หวัน มองว่าสหรัฐฯ เพียงแค่ต้องการโชว์ความแข็งกร้าวกับจีน ทว่ายังคงไม่กล้า ‘ข้ามเส้น’ ในประเด็นไต้หวันอยู่นั่นเอง

สติลเวลล์ เผยว่า การเจรจาทางเศรษฐกิจกับไต้หวันจะครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์, สาธารณสุข, พลังงาน และอื่นๆ โดยเน้นหนักในเรื่องของเทคโนโลยี

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง จำกัด (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุน 12,000 ล้านดอลลาร์เพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ที่รัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามหาทางตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานสินค้าไฮเทคของโลก

ไต้หวันพยายามเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เรื่อยมา แต่ก็เผชิญอุปสรรคจากการที่ ทรัมป์ เรียกร้องให้ไทเปแก้ไขปัญหาอเมริกาขาดดุลการค้า


ที่มา: รอยเตอร์



เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก
กำลังโหลดความคิดเห็น