xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยกระดับกีดกัน ‘หัวเว่ย’ ไม่ให้เข้าถึงชิปที่ใช้เทคโนโลยีอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (17 ส.ค.) ว่าจะยกระดับคุมเข้มไม่ให้บริษัท หัวเว่ย เทคโยโลยีส์ ของจีนสามารถเข้าถึงชิปคอมพิวเตอร์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีของอเมริกา

ประกาศเรื่องนี้ที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
คือการขยายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้เมื่อเดือน
พ.ค. เพื่อมุ่งป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์โดยไม่มีใบอนุญาตพิเศษ
ทั้งนี้รวมถึงชิปที่บริษัทต่างชาติเป็นผู้ผลิตหรือพัฒนา ทว่ามีการใช้ซอฟแวร์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯอยู่ในกระบวนการดังกล่าว

แหล่งข่าวหลายรายระบุว่า คณะบริหารทรัมป์ ยังได้เพิ่มรายชื่อ38
บริษัทใน21 ประเทศที่เป็นกิจการในข่ายของหัวเว่ยลงในบัญชีดำทางเศรษฐกิจ
ทำให้ขณะนี้มี152 บริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี
นับตั้งแต่หัวเว่ยโดนอเมริกาใส่ชื่อลงไปเป็นรายแรกเมื่อเดือน พ.ค. ปี2019 ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พวกบริษัทในเครือหัวเว่ยซึ่งถูกกระทบคราวนี้
มีอาทิ บริษัทในจีน, บราซิล, อาร์เจนตินา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สิงคโปร์, ไทย,
และสหราชอาณาจักร

วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ฟ็อกซ์บิสสิเนสว่า
คำสั่งกีดกันชิปหัวเว่ยฉบับก่อนที่บังคับใช้เมื่อเดือน พ.ค. “ทำให้บริษัทแห่งนี้ใช้มาตรการหลบเลี่ยงบางประการ พวกเขากำลังกระทำผ่านบรรดาฝ่ายที่สามทั้งหลาย”
แต่กฎเกณฑ์ฉบับใหม่นี้จะทำให้มีความชัดเจนว่า
ห้ามไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์อเมริกันหรืออุปกรณ์ที่ผลิตชิปของอเมริกันใดๆ ทั้งสิ้น เว้นเสียแต่จะมีใบอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

ท่ามกลางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่ตกต่ำสุดในรอบหลายสิบปี วอชิงตันพยายามบีบให้รัฐบาลทั่วโลกปฏิเสธอุปกรณ์ของหัวเว่ย
โดยอ้างว่าจะทำให้ถูกจีนสอดแนมเอาได้ ซึ่งหัวเว่ยยืนกรานปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด

ระหว่างให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์นิวส์วานนี้ (17) ทรัมป์ ยังคงกล่าวหาโดยไร้หลักฐานว่าหัวเว่ยสอดแนมชาวอเมริกัน “เราไม่ต้องการอุปกรณ์ของพวกเขาในสหรัฐฯ เพราะพวกเขาจ้องแต่จะสอดแนมเรา”
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า คำสั่งใหม่ซึ่งมีผลบังคับทันทีจะทำให้หัวเว่ยไม่สามารถหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ (The Semiconductor Industry Association) แถลงเตือนว่า “ข้อจำกัดการขายชิปเพื่อการพาณิชย์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างมากเหล่านี้
จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯเอง เราประหลาดใจและกังวลใจที่จู่ๆ คณะบริหารก็ละทิ้งแนวทางแก้ปัญหาที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้
ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกว่า และจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงของชาติตามที่ระบุเอาไว้ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่บริษัทอเมริกันมากเกินไป””

ในอีกด้านหนึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตชั่วคราวเป็นการทั่วไป
สำหรับพวกบริษัทให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ที่ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีสื่อสารของหัวเว่ย
หลังจากการผ่อนผันชั่วคราวนี้ได้หมดอายุลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14) โดยที่ตอนนี้ฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องจะต้องยื่นขออนุญาตสำหรับธุรกรรมต่างๆ
ที่ก่อนหน้านี้เคยกระทำได้

มาตรการควบคุมจำกัดต่างๆ ที่สหรัฐฯนำออกมาใช้อยู่ในเวลานี้
กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อหัวเว่ยและพวกซัปพลายเออร์ของบริษัท
ถึงแม้มาตรการที่ประกาศในเดือน พ.ค. ยังไม่ได้มีผลบังคับอย่างสมบูรณ์จนกว่าจะถึงวันที่
14 ก.ย.

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา นิตยสารการเงิน ไฉซิน (Caixin) รายงานว่า หัวเว่ยจะเลิกผลิตชิปเซต ‘คิริน’ ซึ่งเป็นชิปเรือธงของบริษัทในเดือน ก.ย. เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถใช้เทคโนโลยีของอเมริกาได้

ไฮซิลิคอน บริษัทในเครือของหัวเว่ยที่ดูแลด้านการออกแบบชิป
ต้องพึ่งพาอาศัยซอฟต์แวร์จากพวกบริษัทสหรัฐฯอย่างเช่น เคเดนซ์ ดีไซน์ ซิสสเตมส์
อิงค์ และ ซีนอฟซิส อิงค์ ในการออกแบบชิปของตน
แล้วก็เอาต์ซอร์สออกไปให้พวกโรงงานผลิต อย่างเช่น บริษัทไต้หวัน
เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (ทีเอสเอ็มซี) เป็นผู้ผลิตให้

ทีเอสเอ็มซี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก
และต้องใช้พวกอุปกรณ์ทำชิปจากบริษัทอเมริกัน ก็ประกาศแล้วว่าจะหยุดส่งแผ่นเวเฟอร์ชิปให้แก่หัวเว่ยหลังจากวันที่
15 ก.ย. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น