ซีดีซี หน่วยงานรับผิดชอบในการรับมือโรคติดต่อของสหรัฐฯ กำลังขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทุกมลรัฐเตรียมพร้อมแจกจ่ายวัคซีนให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร็วที่สุดปลายเดือนตุลาคมนี้ กำหนดการดังกล่าวที่กระชั้นชิดก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่กี่วัน ทำให้หลายคนคิดว่าอาจเป็นแผนการของทรัมป์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย เนื่องจากวัคซีนที่คาดว่า จะนำมาแจกจ่ายยังไม่มีตัวไหนผ่านการทดสอบเฟสสุดท้ายเลย
โฆษกของศูนย์เพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงยืนยันเมื่อวันพุธ (2 ก.ย.) ว่า เพื่อการวางแผนเบื้องต้น ซีดีซีจึงแจ้งรัฐต่างๆ เกี่ยวกับข้อสมมติฐานการวางแผนบางอย่างเพื่อเตรียมการสำหรับการแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีวัคซีนแจกจ่ายในปริมาณจำกัดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานก่อนหน้านี้ว่า ซีดีซีได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ในทั้ง 50 รัฐและ 5 เมืองใหญ่เกี่ยวกับข้อมูลการวางแผนดังกล่าว
ช่วงเช้าวันพุธ แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางของอเมริกา ขณะพูดในรายการของสถานีเอ็มเอสเอ็นบีซี ยังคงให้ความเห็นว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ จึงอาจจะมีข้อมูลทางคลินิกเพียงพอว่า หนึ่งในวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้ อิงกับจำนวนผู้ที่สมัครเข้าร่วมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้
ก่อนหน้านี้ ฟาวซีให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า วัคซีนอาจพร้อมเมื่อถึงช่วงปลายปีนี้ ไปจนกระทั่งถึงครึ่งแรกของปีหน้า
อย่างไรก็ตาม เอกสารที่นิวยอร์กไทมส์เผยแพร่ทางออนไลน์ระบุว่า ซีดีซีกำลังเตรียมวัคซีน 1 หรือ 2 ตัวเพื่อแจกจ่ายในปริมาณจำกัดโดยอย่างเร็วที่สุดคือในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทั้งนี้จะเป็นการแจกจ่ายฟรีให้แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติ และผู้ที่อยู่ในสถานพักฟื้น
แม้เจ้าหน้าที่หลายๆ แห่งทั่วโลกยืนยันว่า ความเร็วในการพัฒนาจะไม่ลดทอนความปลอดภัยของวัคซีน เนื่องจากผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นนี้มาจากการทดลองหลายๆ อย่างคู่ขนานกันไปที่ปกติแล้วจะดำเนินการตามลำดับขั้นตอน แต่ข้อโต้แย้งนี้ก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้ทุกคนเชื่อถือได้
สก็อตต์ แรตแซน ผู้นำร่วมของกลุ่มบิสเนส พาร์ตเนอร์ส ทู คอนวินซ์ เผยว่า ผลสำรวจเบื้องต้นที่จัดทำขึ้นในช่วง 3 เดือนล่าสุดใน 19 ประเทศพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในอังกฤษและอเมริการาว 70% เท่านั้นที่บอกว่า ถ้ามีวัคซีนโควิด-19แล้วก็พร้อมที่จะรับการฉีด
ปัจจุบัน บริษัทยา เช่น โมเดอร์นา, แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ กำลังเป็นผู้นำในการแข่งขันพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา
เอกสารของซีดีซีอธิบายวัคซีน 2 ตัวที่เป็นแคนดิเดตนั้นจำเป็นต้องจัดเก็บในอุณหภูมิลบ 70 - ลบ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งตรงกับโปรไฟล์ของวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา
เดือนที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า ซีดีซีกำลังดำเนินการใช้ออปชั่นในสัญญาที่มีอยู่กับบริษัทแมคเคสสัน คอร์ป เพื่อสนับสนุนการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ แมคเคสสันซึ่งเป็นบริษัทค้าส่งจะยื่นขออนุญาตจัดตั้งศูนย์แห่งต่างๆ ขึ้นมา เมื่อมีวัคซีนพร้อมแก่การกระจายแจกจ่าย
โดยที่ โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผุ้อำนวยการของซีดีซี ได้ขอให้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ เร่งรัดทำตามคำขอของแมคเคสสันในการตั้งศูนย์แจกจ่ายวัคซีนและพิจารณายกเว้นระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ที่จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน
จากจังหวะเวลาในการแจกจ่ายวัคซีนที่จะเกิดขึ้นไม่นานก่อนกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่านี่เป็นความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อชนะการเลือกตั้ง หลังจากที่คณะบริหารของเขาได้ทุ่มงบไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ในการเร่งรัดพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตกว่า 180,000 คน และติดเชื้อกว่า 6 ล้านคนในขณะนี้
ทั้งนี้ ภายใต้กระบวนการปกติ ผู้ควบคุมการทดสอบต้องรอเป็นเดือนเพื่อดูว่า อัตราการติดเชื้อในสองกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนปลอมมีความแตกต่างกันหรือไม่
ทว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน สตีเฟน ฮาห์น ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาก่อนที่การทดลองจะเสร็จสิ้น ขณะที่เร็วๆ นี้ เขายังกล่าวยกย่องอย่างเกินเลยความจริงไปมาก เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์ โดยเขาระบุว่า สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 35 คน จาก 100 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นเห็นว่าตัวเลขน่าจะเป็น 5 จาก 100 คน
ฮาห์นยังคงยืนยันว่า ไม่ได้ถูกกดดันจากทรัมป์ และการอนุมัติวัคซีนจะอิงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์
อย่างไรก็ดี ลอรี การ์เร็ต นักระบาดวิทยาที่มีรางวัลการันตี ไม่มั่นใจกับแผนการของซีดีซีในการฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกันทั่วประเทศภายในเวลาเร่งรัดเช่นนี้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนตัวใดเข้าสู่การทดลองเฟส 3 และการเร่งรัดให้ได้ตามเป้าหมายที่ประกาศออกมาถือว่า อันตรายมาก