คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
บรรยากาศการแข่งขันกีฬา กำลังถูกปกคลุมด้วยเหตุการณ์วุ่นวายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากวิกฤติ โควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อนับล้าน ยังเกิดเหตุประท้วง หลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี เนื่องจากการกระทำรุนแรงเกินเหตุของตำรวจผิวขาว กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับโลก ดังที่เราเห็นบนสังเวียน บุนเดสลีกา เยอรมัน ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สตาร์ลีกเมืองเบียร์ อาทิ จาดอน ซานโช โกลเดน บอยลูกหนังอังกฤษ กับ อชราฟ ฮาคิมี ฟูลแบ็กจอมบุกแห่ง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ , มาร์คัส ตูราม กองหน้า โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ลูกชาย ลิลิยอง ตูราม กองหลัง ฝรั่งเศส ชุดแชมป์โลก 1998 และ เวสตัน แม็คเคนนี มิดฟิลด์อเมริกัน ชาลเก 04 ต่างรวมพลังเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ ฟลอยด์ ชายผิวสีปราศจากอาวุธ
ก่อนหน้านั้นยังมี ผู้เล่นศึก บาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) แสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ จนท. เดเร็ก เชาวิน นำโดย เลอบรอน เจมส์ ฟอร์เวิร์ดแม่ทัพ แอลเอ เลเกอร์ส ขณะที่คนที่อินกับเหตุการณ์นี้มากสุด เห็นจะเป็น เจย์เลน บราวน์ ฟอร์เวิร์ด บอสตัน เซลติกส์ ซึ่งลงทุนบึ่งรถ 15 ชั่วโมง จากเมืองบอสตัน กลับบ้านเกิด ที่มลรัฐจอร์เจีย เพื่อเข้าร่วมการชุมนุม
ตั้งแต่ทำงานวงการสื่อมวลชนมาหลายปี ฟลอยด์ ไม่ใช่เหยื่อรายแรกของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรุนแรงของตำรวจ จริงๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อไร แต่ครั้งแรกที่เคยเห็น น่าจะย้อนไปสัก 6 ปีก่อน เลอบรอน สมัยเล่นให้ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ภาค 2 เคยสวมเสื้อยืด “I can't breath” คำพูดสุดท้ายของ เอริค การ์เนอร์ ก่อนเสียชีวิตขณะเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ นิว ยอร์ก
ต่อมาปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก ควอเตอร์แบ็ก ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส ณ เวลานั้น คุกเข่าประท้วงขณะคนอื่นๆ เคารพเพลงชาติ เป็นเหตุให้ อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ต้องออกกฎ หากผู้เล่นคนใดอยากจะลงมาคุกเข่า ช่วงพิธีรีตองก่อนคิกออฟ ก็ควรเก็บตัวอยู่ ล็อกเกอร์ รูม ดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์ หลังจาก เทอร์เรนซ์ ครัทเชอร์ กับ คีธ ลามอนท์ สกอตต์ ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต
เข้าสู่ปี 2020 อาหมัด อาร์เบอรี กับ บรีออนนา เทย์เลอร์2 พลเมืองเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ก็ตกเป็นเหยื่อกระสุนของตำรวจ เดือนกุมภาพันธ์ และ มีนาคม ตามลำดับ ก่อนมาถึงคดีของ ฟลอยด์ วันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เหล่านี้คือปัญหาที่สะสมมานานของบรรดาคนผิวสี ซึ่งดำรงชีวิตอยู่บนดินแดนแห่งเสรีภาพ ด้วยความหวาดผวา ไม่รู้เมื่อไรตัวเองจะตกเป็นเหยื่อ
ตามประวัติศาสตร์เท่าที่เคยชมภาพยนตร์บางเรื่อง คนผิวดำมักถูกกดขี่ข่มเหง เป็นเพียงทาส หรือผู้ใช้แรงงาน ความเป็นอยู่ขัดสน และไม่ได้รับโอกาสเท่าเทียมกับคนผิวขาว ซึ่งทางออกของคนผิวสี มีแค่การเล่นกีฬาอาชีพ เพื่อเป้าหมายกอบโกยเงินมหาศาล สร้างชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของสังคม มิฉะนั้นก็ต้องจมอยู่กับอบายมุข เช่น ยาเสพติด หรือเป็นมิจฉาชีพ เที่ยวลักเล็กขโมยน้อย ลุกลามถึงก่ออาชญากรรมใหญ่โต และนั่นคือสาเหตุหนึ่งที่เราเห็นคนผิวสีราว 70-80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในลีกกีฬาอาชีพชั้นนำทั่วโลก
ผมไม่ได้ความเชี่ยวชาญมากมายนัก จึงมิกล้าวิจารณ์เรื่องต่างประเทศ เพียงอยากระบายต่อดินน้ำลมไฟ และหน้าจอคอมพิวเตอร์ ปัญหาของเมืองนอก น่าจะอยู่ที่คนบางคน ยังคงยึดติดค่านิยมการเหยียดผิว ซึ่งฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ยาก สุดท้ายเชื่อว่าน่าจะมีเหยื่อรายอื่นๆ ต่อจาก ฟลอยด์ พอเกิดการลุกฮือประท้วง รัฐก็ใช้กำลังทหารปักหลักข่มขู่ ม็อบก็จะมีท่าทีอ่อนลง แล้วเรื่องราวอาจจะจบที่ศาล แต่ผลการตัดสินจะเป็นที่พึงพอใจหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
กลับมามองบ้านเรา ค่อนข้างโชคดีที่ไม่มีค่านิยมเหยียดผิว เพราะเราๆ ก็ผิวเหลืองเหมือนกันหมด บางคนอาจจะคล้ำบ้าง เพราะมีบรรพบุรุษจากต่างประเทศ ก็สุดแท้แต่กรรมพันธุ์ของครอบครัว แต่ก็มีความโชคร้าย สังคมเราอาจมีพวกอีแอบ อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เหมือนตัวพ่อประชาธิปไตยระดับโลก และมองว่าผู้มีอำนาจปัจจุบัน คือ รากเหง้าเผด็จการ ที่ต้องโค่นล้ม
ปัญหาการเมืองของเรา ไม่ใช่ระบอบแต่น่าจะอยู่ที่ตัวบุคคล ทุกวันนี้อาชีพนักการเมือง เสมือนมรดกตกทอดกันมาจากรุ่นปู่ , รุ่นพ่อ , รุ่นลูก และรุ่นหลาน และกลายเป็นวังวนเดิมๆ ที่คนเหล่านั้นเลือกจะแสวงหาอำนาจ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง จริงๆ แล้วคนเหล่านี้ต่างหาก ที่ควรถูกโค่นล้มเสียมากกว่า