เอเจนซีส์ - ยุโรปพบผู้ป่วยโควิด-19 ติดเชื้อรอบสองจำนวน 2 คน ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนา แต่ยังมีข่าวดีคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อัตราการระบาดและเสียชีวิตทั่วโลกดูเหมือนเบาลง ยกเว้นเอเชียและเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
มาร์ก แวน แรนสต์ นักไวรัสวิทยาและสมาชิกคณะกรรมการโควิด-19 ของเบลเยียม เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (25 ส.ค.) ว่า พบหญิงคนหนึ่งที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมและรักษาหายแล้ว กลับมาติดเชื้ออีกครั้งในเดือนมิถุนายนแต่เป็นไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์ และมีแนวโน้มว่า อาจพบผู้ที่กลับมาติดเชื้อซ้ำในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
แวน แรนสต์แจงว่า ผู้หญิงคนดังกล่าวที่อยู่ในวัย 50 ปี มีสารแอนติบอดี้น้อยมากหลังการติดเชื้อครั้งแรก แม้สารภูมิต้านทานเหล่านั้นอาจช่วยจำกัดอาการป่วยได้ก็ตาม เขายังบอกว่า กรณีการกลับมาติดเชื้อซ้ำอาจจะเป็นข้อยกเว้นซึ่งจะมีเพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัด
เขาสำทับว่า เชื้อไวรัสทั้งหลายมีการกลายพันธุ์ และแม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ดูเหมือนมีสภาวะทางพันธุกรรมเสถียรกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เท่ากับว่า วัคซีนที่เป็นความหวังอาจจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดไป หรือแม้แต่แค่ 5 ปีก็ตาม
วันเดียวกัน สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติเนเธอร์แลนด์เผยว่า พบผู้กลับมาติดเชื้อซ้ำรอบสอง 1 คน โดยครั้งหลังนี้เป็นไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์กับครั้งแรกเช่นเดียวกัน
มาเรียน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาชั้นนำของเนเธอร์แลนด์และสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ผู้ป่วยดังกล่าวซึ่งเป็นผู้สูงวัย มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเสริมว่า ไม่คิดว่ากรณีการติดเชื้อซ้ำจะเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป
ทางด้านสำนักงานใหญ่ของ WHO ที่นครเจนีวา มาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างบรรยายสรุปต่อสหประชาชาติ เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำรายแรกของโลกที่ฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถึงแม้รายงานยังอยู่ในรูปของข้อมูลที่บอกเล่ากันมา แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารกันให้เกิดชัดเจน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อซ้ำหลังจากรักษาหายราว 4 เดือนครึ่ง และเชื้อที่พบครั้งที่ 2 เป็นคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า กรณีการติดเชื้อซ้ำเริ่มปรากฏ อาจเป็นผลของการขยายการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั่วโลก มากกว่าเป็นเรื่องที่ไวรัสมีการเปลี่ยนรูปแบบการแพร่ระบาด
กระนั้น นพ.เดวิด สเตรน อาจารย์อาวุโสทางคลินิกของมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์และประธานคณะกรรมการเจ้าหน้าที่วิชาการทางการแพทย์ของแพทยสมาคมอังกฤษ ชี้ว่า เรื่องนี้น่ากังวลจากเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อคือ เป็นการบ่งชี้ว่า การติดเชื้อครั้งแรกไม่ได้รับประกันว่า จะป้องกันไวรัสได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อคืนวันจันทร์ (24) WHO ได้ออกรายงานอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกโดยระบุว่า ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ยังคงเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่มีการรายงานทั่วโลก และ 62% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก 39,240 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันอังคารที่รายงานโดยรอยเตอร์ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 23.65 ล้านคน และเสียชีวิต 811,895 คน
รายงานของ WHO แจงว่า ช่วงหนึ่งสัปดาห์จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม มีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 1.7 ล้านคน และเสียชีวิต 39,000 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4% สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อ และ 12% สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต
สำหรับภูมิภาคที่รายงานนี้ของ WHO เรียกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่เห็นชัดว่าเน้นหนักไปที่เอเชียใต้ด้วยซ้ำนั้น องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าเป็นภูมิภาคที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดอันดับ 2 ของโลก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 28% และ 15% สำหรับผู้เสียชีวิต โดยที่ส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย ขณะที่เนปาลเริ่มมีการระบาดรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ในวันพุธ (26) อินเดียรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 60,000 คนติดต่อกันเป็นวันที่ 8 รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 3.2 ล้านคน และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1,059 คน เป็น 59,449 คน
เช่นเดียวกับทางซีกตะวันออกของภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 4% แต่ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่องตลอด 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปแม้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 สัปดาห์ แต่สัปดาห์ที่แล้วเริ่มลดลง 1% และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงลดลงทั่วภูมิภาค
รายงานเสริมว่า ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกพบผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง 5% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ จีน และเวียดนามทุเลาลง ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ที่พบเคสใหม่พุ่งขึ้นถึง 180% ส่วนใหญ่เนื่องจากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา