xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เบลารุสเดือด! คนนับแสนประท้วงไล่ ‘ลูคาเชนโก’ วิกฤตการเมืองฟากยุโรปที่สะเทือนถึง ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวเบลารุสกว่า 200,000 คนออกมาชุมนุมในกรุงมินสก์เพื่อขับไล่ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ซึ่งถูกครหาว่าโกงการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นการลุกฮือของมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หลังจากที่เบลารุสกลายเป็นประเทศเอกราช ขณะที่ความวุ่นวายในเบลารุสถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดย ‘รัสเซีย’ ซึ่งถือว่าเบลารุสเป็นเสมือนรัฐกันชนกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแลตแลนติกเหนือ (นาโต) และยังมีท่อลำเลียงพลังงานจากรัสเซียไปยังยุโรปด้วย

กลุ่มฝ่ายค้านในเบลารุสได้ตั้งประกาศจัดตั้งสภาประสานงานร่วมเมื่อวันอังคาร 18 ส.ค. เพื่อรับประกันการถ่ายโอนอำนาจ และขอให้รัฐบาลต่างชาติช่วยจัดการเจรจาระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเบลารุส รวมทั้งขอให้ทางการปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ถอนกองกำลังรักษาความปลอดภัยจากท้องถนน และเปิดการไต่สวนคดีอาญาต่อผู้ที่สั่งการให้ปราบปรามประชาชน และทิ้งท้ายว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ถ้า ลูคาเชนโก ยอมลาออก

ผู้นำฝ่ายค้านของเบลารุสหลายคนถูกจำคุกหรือไม่ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมถึง สเวตลานา ซิคานุสกายา (Sviatlana Tsikhanouskaya) หนึ่งในผู้ท้าชิงประธานาธิบดี ซึ่งหนีไปยังลิทัวเนียหลังการเลือกตั้งซึ่งผู้สนับสนุนอ้างว่าเธอคือผู้ชนะ

ชาวเบลารุสนับแสนๆ คนได้จัดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ (16) โดยประชาชนต่างพากันชูธงสีแดง-ขาวที่ใช้มานับจากเบลารุสแยกตัวจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 และเรียกร้องให้ ลูคาเชนโก ลาออกจากตำแหน่ง นำมาสู่การปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงของตำรวจปราบจลาจลซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน และถูกควบคุมตัวกว่า 6,700 คน

โอลกา โควัลโควา ผู้แทนของ ซิคานุสกายา ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจัดตั้งสภาความร่วมมือของฝ่ายค้าน และเธอคาดว่า ซิคานุสกายา จะเดินทางกลับมากรุงมินสก์ในเร็วๆ นี้เพื่อทำหน้าที่เสมือนผู้รับรองการเจรจาเปลี่ยนผ่านอำนาจ

“เราทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถานการณ์ตอนนี้สุ่มเสี่ยงมาก รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมเจรจา ไม่เช่นนี้เหตุการณ์จะยิ่งบานปลายไปกว่านี้” เธอกล่าว

ลูคาเชนโก ออกมาประณามทันควันว่าฝ่ายค้านพยายาม “ยึดอำนาจ” พร้อมขู่จะมีมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม

ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า ลูคาเชนโก ซึ่งปกครองประเทศมา 26 ปีโกงการเลือกตั้งเพื่อปิดบังว่าตัวเองได้สูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนแล้ว ในขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยอ้างอิงผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการที่ตัวเขากวาดคะแนนกว่า 80%

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ลูคาเชนโก จะประเมินพลังความโกรธแค้นของประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต่ำเกินไป และเริ่มปรากฏสัญญาณชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้นำรายนี้เริ่มสูญเสียอำนาจเมื่อคนงานในโรงงานของรัฐซึ่งเป็นฐานสนับสนุนเดิมของ ลูคาเชนโก ประกาศผละงานประท้วง และยังมีตำรวจและพนักงานสถานีโทรทัศน์ของรัฐบางส่วนออกมาสนับสนุนการประท้วงด้วย

กระทรวงมหาดไทยเบลารุสออกมายอมรับเมื่อวันอังคาร (18) ว่ามีตำรวจจำนวนหนึ่งลาออกจริง หลังปรากฏคลิปวิดีโอในโลกออนไลน์ที่ตำรวจหลายคนโยนเครื่องแบบทิ้งลงถังขยะ

ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ขณะพบกันที่เมืองโซชิ สถานตากอากาศริมทะเลดำ เมื่อปี 2019
ลูคาเชนโก ได้ไปเยือนโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงมินสก์เมื่อวันจันทร์ (17) เพื่อหวังปลุกปลอบฝ่ายสนับสนุนตน แต่ปรากฏว่าคนงานบางส่วนกลับจะโกนขับไล่เขาว่า “ออกไป” ขณะที่ ลูคาเชนโก ยืนยันว่า “ผมจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อแรงกดดัน” และยังบอกด้วยว่า “จนกว่าคุณก็จะฆ่าผมทิ้งนั่นแหละ จะไม่มีการเลือกตั้งอะไรกันอีก”

อย่างไรก็ตาม ลูคาเชนโก ได้ประกาศในเวลาต่อมาว่าเขาอาจจะยินดีส่งมอบอำนาจ หากมีการจัดลงประชามติทั่วประเทศในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายต่อต้านมองว่าเป็นความพยายามซื้อเวลามากกว่า

ซิคานุสกายา วัย 37 ปี ถือเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่กลายมาเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีเต็งหนึ่งของฝ่ายค้าน หลังจากนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงสามีของเธอ ถูกสั่งจำคุกหรือไม่ก็ถูกห้ามลงเลือกตั้ง เธอได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ภายใต้แนวทางสันติวิธี และยังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปปฏิเสธผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ ลูคาเชนโก ถูกประกาศให้เป็นผู้ชนะด้วย

ในส่วนของ ลูคาเชนโก เองอ้างว่าการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเกิดจากการปลุกปั่นยั่วยุของต่างชาติ ขณะที่สำนักข่าวเบลตาของรัฐบาลเบลารุสได้เผยแพร่คลิปวิดีโอประณามผู้ประท้วงว่าเป็น “พวกเดนมนุษย์ที่พร้อมจะขายมารดาของตัวเองเพื่อเงินแค่ 20 ดอลลาร์”

ทำเนียบเครมลินรายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ ลูคาเชนโก เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ และยืนยันว่ามอสโกพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเบลารุสผ่านข้อตกลงทางทหารหากมีความจำเป็น

หลายฝ่ายต่างจับตามองว่ารัสเซียจะตอบสนองวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในอดีตรัฐโซเวียตแห่งนี้อย่างไร โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเคยส่งทหารเข้าแทรกแซงและยึดแหลมไครเมียไปจากยูเครนมาแล้วเมื่อปี 2014 หลังจาก วิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นผู้นำโปรแดนหมีขาว ถูกประชาชนลุกฮือโค่นล้ม

เบลารุสถือว่ามีความใกล้ชิดกับรัสเซียมากเป็นพิเศษทั้งในด้านของวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยมีการทำสนธิสัญญาความร่วมมือในลักษณะของ ‘union state’ เช่น มีการเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี เป็นต้น


นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และ ชาร์ลส มิเชล ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ ปูติน เมื่อวันอังคาร (18) ซึ่งต่อมาทำเนียบเครมลินแถลงว่า ปูติน ได้กล่าวเตือนผู้นำทั้ง 3 รายว่าต่างชาติไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของเบลารุส

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าสภาพยุโรปเตรียมประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่เบลารุส ขณะที่นักการทูตยุโรปบางคนมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเบลารุสตอนนี้แตกต่างจากปัญหาในยูเครนเมื่อ 6 ปีก่อน เนื่องจากฝ่ายค้านเบลารุสไม่ได้มีเจตนาปลีกตัวออกห่างรัสเซีย เพียงแต่ต้องการให้ ลูคาเชนโก พ้นจากอำนาจเท่านั้น

ประธานาธิบดีจากกลุ่มวิแชกราด (Visegrad Group) ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐเช็ก, ฮังการี, โปแลนด์ และสโลวาเกีย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในวันพุธ (19) เรียกร้องให้เบลารุสเปิดทางไปสู่การจัดเลือกตั้งใหม่ และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก ลาฟรอฟ ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า “ไม่มีความจำเป็น” ที่ต่างชาติจะต้องเข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในเบลารุส และยังกล่าวหาสหภาพยุโรปว่ามีแรงจูงใจทางภูมิรัฐศาสตร์ในการเข้าแทรกแซงเรื่องนี้

สเวตลานา ซิคานุสกายา (Sviatlana Tsikhanouskaya) อดีตครูสาวซึ่งผันตัวมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเบลารุส






กำลังโหลดความคิดเห็น