xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกตะลึง!! รัสเซียอนุมัติใช้ ‘วัคซีน COVID-19’ เป็นชาติแรก โวยอดสั่งจองทะลุ ‘พันล้านโดส’ แม้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ชัวร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
รัสเซียประกาศตัวเป็นชาติแรกในโลกที่อนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังใช้เวลาทดสอบในคนเพียงแค่ไม่ถึง 2 เดือน ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้เชี่ยวชาญตะวันตกที่ออกมาแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ยกย่องความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนว่าเป็นย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับการยิงดาวเทียมได้สำเป็นชาติแรกในยุคสงครามเย็น

วัคซีนซึ่งรัสเซียพัฒนาขึ้นเองนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘สปุตนิก-วี’ (Sputnik V) ตามชื่อดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ยิงโดยสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1957 โดยเจ้าหน้าที่รัสเซียยืนยันว่ามันสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่เสถียรและมีความปลอดภัย ขณะที่ ปูติน อ้างว่าลูกสาวคนหนึ่งของเขาได้อาสาทดลองฉีดวัคซีนตัวนี้และยังคงสบายดี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนอย่างรีบร้อนและอนุมัติใช้งานทั้งที่ยังไม่ผ่านการทดลองเฟส-3 ในคน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อทดสอบผลข้างเคียงของวัคซีน ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ฝั่งตะวันตกออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามอสโกอาจมุ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติโดยมองข้ามเรื่องของความปลอดภัย

“ผมทราบมาว่ามันมีประสิทธิภาพดีทีเดียว และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง และผมขอย้ำอีกครั้งว่าวัคซีนตัวนี้ผ่านการทดสอบที่จำเป็นทุกขั้นตอนแล้ว” ปูติน กล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี

บุคลากรทางการแพทย์และครูอาจารย์จะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนจำนวน 2 โดสตามความสมัครใจในราวๆ สิ้นเดือน ส.ค. หรือต้นเดือน ก.ย. ส่วนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมคาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค. ขณะที่กลุ่มบริษัท Sistema ของรัสเซียประกาศจะเริ่มดำเนินการผลิตวัคซีนในปริมาณมากภายในสิ้นปีนี้

วัคซีน ‘สปุตนิก-วี’ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา (Gamaleya) ของรัสเซีย โดยมีพื้นฐานมาจากอะดีโนไวรัส 2 เซโรไทป์ ซึ่งแต่ละตัวจะมีเอส-แอนติเจนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเมื่อเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

ตัวอย่างวัคซีน ‘Sputnik-V’ ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยา Gamaleya ของรัสเซีย
คีริลล์ ดมิตริเยฟ ผู้อำนวยการกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund - RDIF) ซึ่งเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินและช่วยเหลือประสานงานการพัฒนาวัคซีน ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า การทดลองระยะที่ 3 ในกลุ่มคนขนาดใหญ่จะเริ่มต้นในวันพุธที่ 12 ส.ค. ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และขณะนี้มี 20 ประเทศที่ได้แจ้งความประสงค์สั่งจองวัคซีนสปุตนิก-วีเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านโดส

สมาคมองค์การทดสอบทางคลินิก (Association of Clinical Trials Organizations หรือ ACTO) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงมอสโก และมีฐานะเป็นองค์กรตัวแทนของพวกผู้ผลิตยาระดับท็อปของโลกในรัสเซีย ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขชะลอการอนุมัติวัคซีนไปก่อนจนกว่าการทดลองขั้นสุดท้ายจะประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์

ACTO ระบุในหนังสือที่ส่งไปถึงกระทรวงว่า การอนุมัติจดทะเบียนยาก่อนที่ผลการทดลองขั้นสุดท้ายจะออกมานั้น “มีความเสี่ยงสูงมาก”

“การทดลองในขั้นนี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงปฏิกิริยาเชิงลบต่างๆ ซึ่งอาจปรากฏขึ้นกับคนไข้บางกลุ่ม เช่น คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือคนที่มีโรคประจำตัว” หนังสือฉบับนี้กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติหลายคนตั้งคำถามว่ารัสเซียอนุมัติการใช้วัคซีนตัวนี้เร็วเกินไปหรือไม่

เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี กล่าวเมื่อวันพุธ (12) ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัสเซีย “ยังไม่ผ่านการทดสอบอย่างเพียงพอ” และย้ำว่าเป้าหมายของการพัฒนาวัคซีนคือการได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่แข่งกันเป็น “ชาติแรก” ที่เริ่มให้วัคซีนแก่ประชาชน

ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ตนยังไม่เคยเห็นหลักฐานว่าวัคซีนของรัสเซียมีความพร้อมสำหรับใช้งานในวงกว้าง

“ผมหวังว่ารัสเซียคงจะทำการทดสอบจนได้ผลลัพธ์ยืนยันแล้วว่าวัคซีนตัวนี้ปลอดภัยและได้ผลจริง แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาได้ทำเช่นนั้นแล้ว” เฟาซี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมตอบสนองโควิด-19 ของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับ National Geographic

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม สถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐปารานาของบราซิลได้ประกาศในวันพุธ (12) ว่ามีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับมอสโกเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รัสเซียพัฒนาและรับรองการใช้งานเป็นชาติแรกของโลกภายในครึ่งหลังของปี 2021

ด้าน อเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อในไต้หวันว่า ตนมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะสามารถพัฒนาวัคซีนต้านโควิดได้เองในที่สุด “เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะมีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ปลอดภัยมาตรฐานทองคำเป็นสิบๆ ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และจะตามมาอีกหลายร้อยล้านโดสในปีหน้า”

ขณะนี้ทั่วโลกมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มากกว่า 100 ตัว และมีอยู่อย่างน้อย 4 ตัวที่เริ่มเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟสที่ 3 ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ออกมายกย่องความสำเร็จของรัสเซียในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยประกาศว่าจะเข้าร่วมการทดสอบด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพ

“ผมจะบอกกับประธานาธิบดี (วลาดิมีร์) ปูติน ว่า ผมมีความเชื่อถืออย่างมากต่อผลการวิจัยของท่านเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และผมเชื่อว่าวัคซีนที่ท่านพัฒนาขึ้นจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ” ดูเตอร์เต แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ (10) ทั้งยังระบุว่า “ผมพร้อมจะเป็นคนแรกที่ทดลองใช้มัน”

ก่อนหน้านี้ ดูเตอร์เตเคยเรียกร้องไปยังผู้นำจีนให้ช่วยจัดส่งวัคซีนต้านโควิด-19 แก่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกๆ ซึ่งสะท้อนความกังวลในกลุ่มชาติกำลังพัฒนาเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก

จากข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (13) ฟิลิปปินส์มีผู้ติดเชื้อโควิดสะสมมากกว่า 143,000 คน สูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียนแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างอินโดนีเซียซึ่งมีผู้ติดเชื้อประมาณ 130,000 คน

ผู้นำฟิลิปปินส์ได้ฟื้นคำสั่งล็อกดาวน์เข้มงวดในกรุงมะนิลาและเขตปริมณฑลเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่งสูง ขณะที่ ดูเตอร์เต ยังเตือนว่ารัฐบาลอาจจำเป็นต้องส่งทหารลงพื้นที่ชุมชนเพื่อบังคับใช้คำสั่งล็อกดาวน์หากยังคุมการแพร่ระบาดไว้ไม่อยู่

รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มบังคับสวมหน้ากากอนามัยตามสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์ได้ประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ระดับ 3 ในเมืองออกแลนด์ และฟื้นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทั่วประเทศ หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 รายซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยใหม่กลุ่มแรกในรอบกว่า 3 เดือน

แดนกีวีนั้นไม่พบการแพร่เชื้อภายในชุมชนมาเป็นเวลานานถึง 102 วัน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังหาคำตอบไม่ได้ว่าแหล่งแพร่เชื้อระลอกใหม่มาจากที่ใด

แอชลีย์ บลูมฟิลด์ อธิบดีกรมสุขภาพของนิวซีแลนด์ ระบุว่าจากการสอบสวนเบื้องต้นคาดว่าไวรัสอาจจะติดมากับสินค้านำเข้า ซึ่งทางการกำลังตรวจหาเชื้อไวรัสบนพื้นผิวของห้องเย็นแห่งหนึ่งในเมืองออกแลนด์ซึ่งชายในครอบครัวผู้ติดเชื้อทำงานอยู่

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนก็เคยตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปะปนมากับอาหารทะเลแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

เว็บไซต์ของ WHO ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยืนยันได้ว่ารับเชื้อผ่านทางอาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีผลการศึกษาที่พบว่าไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่รอดบนพื้นผิวพลาสติกได้นานสูงสุด 72 ชั่วโมง

จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เมื่อวันพฤหัสบดี (13) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งสูงกว่า 20.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 747,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นยอดตายในสหรัฐฯ ถึง 165,000 คน ส่วนยอดผู้ป่วยสะสมในอเมริกายังคงขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 5.2 ล้านคนแล้ว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) เรียกร้องให้รัฐสมาชิกอียูนำข้อจำกัดบางอย่างกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ทางการปารีสของฝรั่งเศสเริ่มบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยตามแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน

สเปนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละเกือบ 5,000 คนในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมนี และอิตาลีรวมกันเสียอีก ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะทั่วประเทศ ขณะที่บางภูมิภาคตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง

อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนักที่สุดในเอเชียมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วมากกว่า 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 46,000 คน และยังพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นถึง 60,963 คนในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (12) ขณะที่ภูฏานประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ หลังพบพลเมืองซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกหลังออกจากสถานกักตัว และได้ไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนจำนวนมากในกรุงทิมพู
กำลังโหลดความคิดเห็น