เกิดเหตุระเบิดครั้งรุนแรงบริเวณท่าเรือในกรุงเบรุตของเลบานอนเมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.) โดยแรงระเบิดได้ก่อให้เกิดคลื่นช็อกเวฟทำกระจกหน้าต่างแตกกระจาย พื้นดินสั่นสะเทือนและอาคารบ้านเรือนพังเสียหายยับเยินเป็นวงกว้าง ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน บาดเจ็บอีกกว่า 5,000 คน ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตลอยๆ ว่า นี่อาจเป็น ‘เหตุวินาศกรรมโจมตี’ แม้จะยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ก็ตาม
เหตุระเบิดซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายปีสำหรับกรุงเบรุตคาดว่า มีที่มีจากสาร ‘แอมโมเนียมไนเตรต’ กว่า 2,000 ตัน ซึ่งถูกเก็บเอาไว้ในโกดังสินค้าแห่งหนึ่ง
แรงระเบิดสามารถรับรู้ได้ไกลถึง ‘ไซปรัส’ ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 240 กิโลเมตร ขณะที่นักแผ่นดินไหววิทยาได้คำนวณความแรงของระเบิดที่เบรุตว่าสร้างความเสียหายเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 3.3 แมกนิจูด
ข้อมูลล่าสุดในเช้าวันพฤหัสบดี (6) ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดเพิ่มเป็นอย่างน้อย 135 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 5,000 คน โดยเจ้าหน้าที่เลบานอนคาดว่า ตัวเลขจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอีก ขณะที่หน่วยกู้ภัยเร่งค้นหาตามซากปรักหักพังเพื่อช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตและเก็บกู้ศพ
ประธานาธิบดี มิเชล อูน แห่งเลบานอน ระบุว่า สารแอมโมเนียมไนเตรตซึ่งเป็นปุ๋ยที่ใช้เพื่อการเกษตรจำนวน 2,750 ตันถูกเก็บเอาไว้ที่ท่าเรือแห่งนี้มานาน 6 ปี โดยไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ส่วน นายกรัฐมนตรี ฮัสซัน ดิอาบ ก็ยืนยันผ่านสื่อโทรทัศน์ว่าเรื่องนี้ “จะต้องมีคนรับผิดชอบ”
เหตุระเบิดขึ้นเมื่อเวลาหลัง 18.00 น.เล็กน้อย และไฟได้ลุกไหม้บริเวณท่าเรือต่อมาอีกหลายชั่วโมง ขณะที่เสียงเฮลิคอปเตอร์และไซเรนรถพยาบาลดังสนั่นทั่วทั้งเมือง
จากคลิปเหตุการณ์ซึ่งถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มควันสีดำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือท่าเรือ ตามหลังการระเบิดซึ่งก่อให้เกิดลูกไฟขนาดใหญ่และกลุ่มเมฆสีขาวรูปดอกเห็ด ซึ่งทำให้หลายคนนึกถึงหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์
ผู้ที่ถ่ายคลิปจากบนอาคารสูงซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร ระบุว่า พวกเขาโดนแรงอัดจากคลื่นช็อกเวฟจนหงายหลังเลยทีเดียว ส่วนหนังสือพิมพ์ L’Orient-Le Jour ซึ่งเป็นสื่อภาษาฝรั่งเศสในเลบานอน ก็พาดหัวข่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่ากลัวราวกับ “วันสิ้นโลก”
โรงพยาบาลในกรุงเบรุตเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากแรงระเบิด โดยเจ้าหน้าที่การแพทย์หญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลของเธอมีคนบาดเจ็บถูกส่งมารักษา 200-300 คน ซึ่งเป็นสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่เธอ “ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน”
รัฐบาลเลบานอนประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเบรุต ประกาศเตือนอันตรายจากก๊าซพิษ พร้อมเตือนให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ในอาคารและสวมใส่หน้ากากหากสามารถทำได้
เจ้าหน้าที่เลบานอนยังไม่ระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการระเบิดครั้งนี้ แต่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเผยกับสื่อท้องถิ่นว่าขณะเกิดเหตุมีคนงานกำลังเชื่อมโลหะอยู่ที่โกดังดังกล่าว
สภากลาโหมแห่งชาติเลบานอนประกาศให้กรุงเบรุตเป็นเขตภัยพิบัติ ขณะที่ ประธานาธิบดี มิเชล อูน ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 100,000 ล้านลีรา หรือประมาณ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ภัยและฟื้นฟูเมือง
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 3 วัน ก่อนที่ศาลพิเศษของสหประชาชาติจะนัดอ่านคำพิพากษาในคดีผู้ต้องหากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ 4 คน ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อปี 2005 ซึ่งทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ราฟิก อัล-ฮาริรี และเหยื่ออีก 21 คนเสียชีวิต
ฮาริรี ถูกคนร้ายใช้ระเบิดรถบรรทุกลอบสังหารบริเวณริมทะเล ห่างจากจุดที่เกิดระเบิดในท่าเรือเพียงแค่ราวๆ 2 กิโลเมตร
อิสราเอลซึ่งทำสงครามกับเลบานอนมาหลายครั้ง ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เบรุต และพร้อมจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ให้แก่เลบานอน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความสามัคคีในชาติหลังเกิดเหตุ โดยกล่าวผ่านสำนักข่าวอัลมานาร์ (Al-Manar) ว่า “นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรมอันเจ็บปวดที่มาพร้อมกับผลกระทบและความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง ประชาชนชาวเลบานอนทุกคนรวมถึงผู้มีอำนาจจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้”
อิหร่านซึ่งหนุนหลังขบวนการฮิซบอลเลาะห์ รวมถึงซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นมหาอำนาจมุสลิมนิกายสุหนี่ ต่างประกาศยื่นมือช่วยเหลือเลบานอน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ, กาตาร์ และ ตุรกี
นิค กิบบ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาของอังกฤษ ยืนยันว่า รัฐบาลลอนดอนกำลังหารือเพื่อส่งความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเงินให้แก่เลบานอน พร้อมเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้ ส่วนฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทหาร 2 ลำ พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและช่วยชีวิตไปยังเลบานอน โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือด้านสุขอนามัยและคลินิกเคลื่อนที่ที่สามารถรองรับผู้บาดเจ็บได้ประมาณ 500 คน
รัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ สเต็ฟ โบลก ยืนยันผ่านทวิตเตอร์ว่า มีเจ้าหน้าที่การทูตดัตช์ประจำสถานทูตเลบานอนในกรุงเบรุตได้รับบาดเจ็บไป 5 คน ขณะที่รัสเซียยืนยันไม่มีบุคลากรทางการทูตได้รับบาดเจ็บ และแม้อาคารสถานทูตจะเสียหายเล็กน้อย แต่ยังคงให้บริการได้ตามปกติ
ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์รายงานในวันพุธ (5) ว่า มีพลเมืองฟิลิปปินส์เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย จากเหตุระเบิดที่เบรุต และมีอีก 12 คน ที่ยังคงสูญหาย ขณะที่ นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ยืนยันมีพลเมืองจิงโจ้เสียชีวิต 1 คน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุระเบิดซึ่งทำให้ท่าเรือเบรุตและอาคารบ้านเรือนโดยรอบพังวินาศสันตะโรอาจเกิดจาก ‘การโจมตี’ แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้เลยก็ตาม
“มันดูเหมือนเป็นการโจมตีที่เลวร้ายมาก” ทรัมป์ กล่าว พร้อมเผยว่า ตนได้หารือกับนายพลสหรัฐฯ บางคนซึ่งมองว่าหายนะคราวนี้ไม่น่าจะใช่อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม “พวกเขาเหมือนจะเชื่อว่ามันเป็นการโจมตีด้วยระเบิดสักชนิดหนึ่ง”
ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น และโยนคำถามกลับไปที่ทำเนียบขาวแทน
เจ้าหน้าที่อเมริกัน 2 คน ผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ไม่รู้ว่า ทรัมป์ ไปได้ข้อมูลมาจากไหน แต่เบื้องต้นยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นจะเป็นการก่อวินาศกรรม
เว็บไซต์บิสสิเนสอินไซเดอร์ อ้างความเห็นจากผู้สันทัดกรณีซึ่งออกมาเปรียบเทียบความรุนแรงของเหตุระเบิดที่เบรุตกับการระเบิดครั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ พร้อมปฏิเสธข้อสงสัยที่ว่ามันอาจเกิดจาก “อาวุธนิวเคลียร์” โดยอ้างอิงภาพจากคลิปวิดีโอซึ่งชาวเบรุตได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้
วีพิน นารัง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์และการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ยืนยันหนักแน่นว่า “มันไม่ใช่” ระเบิดนิวเคลียร์อย่างแน่นอน ส่วน มาร์ติน เพฟเฟอร์ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกก็ชี้ว่า ระเบิดที่เบรุตปราศจากข้อบ่งชี้ของการจุดระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งจะต้องมี “แสงสีขาวสว่างวาบ” และความร้อนสูงซึ่งทำให้เกิดเพลิงไหม้ทั่วบริเวณและผิวหนังมนุษย์ถูกเผาไหม้รุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า เหตุระเบิดที่เบรุตน่าจะมีความแรงเทียบเท่า TNT ประมาณ 3 กิโลตัน หรือคิดเป็น 20% ของอานุภาพทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ ‘ลิตเติลบอย’ ที่ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมะของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945
แอมโมเนียมไนเตรตมีสูตรทางเคมี ว่า NH4NO3 มีไนโตรเจนร้อยละ 34 คุณสมบัติละลายน้ำได้ดีมาก ดูดความชื้นง่ายมาก เป็นสารเคมีที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนประกอบของปุ๋ย และหากนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะกลายเป็นระเบิดซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองหรือการก่อสร้างโยธา
อย่างไรก็ตาม สารชนิดนี้ยังเป็นวัตถุดิบที่กลุ่มก่อความไม่สงบนิยมนำไปผลิตระเบิดแสวงเครื่องด้วย โดยมีประวัติการนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตไปใช้ทำระเบิดเพื่อก่อการร้ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 ที่สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น อัฟกานิสถาน ก็ยังนิยมทำและใช้อยู่
เนื่องจากระเบิดแบบนี้ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนประกอบ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ระเบิดปุ๋ย (fertilizer bomb)
สารตกผลึกใสไร้กลิ่นชนิดนี้เคยเป็นต้นตอของเหตุระเบิดทางอุตสาหกรรมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น เหตุระเบิดที่โรงงานปุ๋ยในรัฐเทกซัสเมื่อปี 2013 ซึ่งคร่าชีวิตคนไป 15 ศพ และอุบัติเหตุโรงงานสารเคมีระเบิดที่เมืองตูลูสของฝรั่งเศสซึ่งมีผู้เสียชีวิต 31 รายเมื่อปี 2001 เป็นต้น
ภายใต้กรอบมาตรฐานต่อต้านการก่อการร้ายโรงงานผลิตสารเคมี (Chemical Facility Anti-Terrorism Standards) ของสหรัฐฯ โรงงานที่มีแอมโมเนียมไนเตรตอยู่เกินกว่า 900 กิโลกรัมจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ