รอยเตอร์ – รายงานลับขององค์การสหประชาชาติเผยหลายประเทศเชื่อว่าเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจหมายถึงการผลิตหัวรบนิวเคลียร์ย่อส่วนสำหรับติดตั้งบนขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles)
รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งรับหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามคำสั่งคว่ำบาตรของยูเอ็น ระบุว่า รัฐบาลหลายประเทศ (ไม่ระบุ) เชื่อว่าการทดสอบนิวเคลียร์ 6 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2017 น่าจะช่วยให้เกาหลีเหนือมีองค์ความรู้ก้าวหน้าพอที่จะผลิตหัวรบนิวเคลียร์ย่อส่วนได้
รายงานฉบับร่างนี้ได้ถูกส่งให้แก่คณะกรรมการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ส.ค.)
“สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียังคงเดินหน้าสานต่อโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและการสร้างเตาปฏิกรณ์น้ำมวลเบา รัฐสมาชิกรายหนึ่งประเมินว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียังคงมีการผลิตอาวุธนิวเคลียร์อยู่” รายงานดังกล่าวระบุ
ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ารัฐคอมมิวนิสต์โสมแดงจะไม่เผชิญศึกสงครามอีก เนื่องจากมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องการันตีความมั่นคง
รายงานยูเอ็นยังอ้างถึงมุมมองของรัฐสมาชิกชาติหนึ่งที่ประเมินว่า เกาหลีเหนือ “อาจพัฒนาเทคโนโลยีย่อส่วนให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อนำไปผนวกกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยในการทะลุทะลวงเป้าหมาย (penetration aid packages) หรือแม้กระทั่งระบบจรวดหลายหัวรบ”
เกาหลีเหนือถูกองค์การสหประชาชาติคว่ำบาตรมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2006 และคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นก็พยายามเพิ่มบทลงโทษให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นเพื่อตัดแหล่งเงินทุนที่อาจถูกโสมแดงนำไปใช้พัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง
ผู้นำ คิม และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เคยจัดประชุมซัมมิตทวิภาคีมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2018 แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากอเมริกายืนกรานให้เกาหลีเหนือต้องละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์จึงจะยกเลิกบทลงโทษทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เปียงยางก็ต้องการให้วอชิงตันผ่อนปรนคว่ำบาตรลงก่อน
เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2018 เกาหลีเหนือยอมระเบิดทำลายอุโมงค์ที่ปุงกเย-รี (Punggye-ri) ซึ่งเป็นสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์หลักของประเทศ เพื่อพิสูจน์ให้นานาชาติเห็นความตั้งใจจริงที่จะยุติการทดลองนิวเคลียร์ ทว่าเปียงยางกลับไม่อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์
รายงานยูเอ็นระบุว่ามีเพียงทางเข้าอุโมงค์เท่านั้นที่ถูกทำลายไป แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถึงการทำลายอุโมงค์ทั้งหมด และรัฐสมาชิกยูเอ็นประเทศหนึ่งประเมินว่าเกาหลีเหนือสามารถซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหายไปขึ้นมาใหม่ภายใน 3 เดือน