หม่า จิงจิง นักศึกษาหญิงวิชาเอกชีววิทยา เดินตระเวนไปทั่วสถานที่จัดงานตลาดนัดแรงงานแห่งหนึ่งทางภาคกลางของจีน ปะปนไปกับหนุ่มสาวชาวจีนคนอื่นๆ ซึ่งต่างตั้งความหวังว่าจะสามารถค้นพบงานที่ตนเองจะทำได้ ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่หนักสืบเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19
หม่า ซึ่งอยู่ในวัย 26 ปี เป็น 1 ในคนหนุ่มสาวเกือบๆ 9 ล้านคนในประเทศจีนซึ่งกำลังสำเร็จการศึกษาและกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดงานปีนี้ ณ ช่วงเวลาที่ช่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ปกครองประเทศอยู่ รู้สึกวิตกกังวลมาก จนถึงจุดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สั่งการให้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในระดับต้นๆ
ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้อาจจะดีดตัวกระเตื้องขึ้นมาอย่างแรงแล้วจากภาวะหดตัวหนักสาหัสเป็นประวัติการณ์อันสืบเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อัตราการว่างงานของบัณฑิตผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในระดับกว่า 3 เท่าตัวของอัตราการว่างงานในเขตตัวเมือง
หม่า อยู่ในหมู่ใบหน้าเยาว์วัยจำนวนเป็นร้อยๆ ซึ่งไหลเข้าไหลออกสถานที่จัดงานตลาดแรงงานในเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนาน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านพ้นไปไม่นานมานี้ โดยที่มีพวกนายจ้างในอุตสาหกรรมนานาตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์จนถึงอุตสาหกรรมการผลิตกำลังตั้งโต๊ะรับสมัครพนักงานใหม่
เหมือนๆ กับคนอื่นๆ จำนวนมาก หม่าซึ่งมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นครูอาจารย์ รู้สึกว่า “กำลังหลงทาง” และกำลังกังวลสงสัยว่าเธอควรที่จะทำใจเข้าทำงานอะไรสักอย่างไปก่อน หรือยังไม่ทำงานแต่หันไปศึกษาต่อ
“ฉันไปยื่นใบสมัครไว้ที่โรงเรียนเอกชน 7-8 แห่ง แต่มีแห่งเดียวเท่านั้นที่ติดต่อกลับมาและเรียกฉันไปสอบสัมภาษณ์” เธอกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ณ งานตลาดนัดแรงงานแห่งดังกล่าว
“ฉันเรียนมาตั้งหลายปีแล้ว และไม่อยากให้ครอบครัวฉันต้องออกเงินให้ฉันเรียนอะไรต่ออีก” เธอบอก
“สิ่งที่ฉันกังวลมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องการเงินของฉัน”
ด้วยความตระหนักถึงความเสี่ยงที่ภาวะว่างงานของผู้คนจำนวนมหาศาล อาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง –และเป็นอันตรายต่อพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งให้สัญญาที่จะสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง เพื่อเป็นการตอบแทนการมีอำนาจทางการเมืองแบบไม่ต้องมาตั้งคำถามกัน— รัฐบาลจีนจึงกำลังใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อทำให้มีการว่าจ้างบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษากันเพิ่มขึ้น โดยผ่านทางกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ซึ่งทางการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่
ทว่าเนื่องจากโอกาสที่มีอยู่ลดน้อยลงไปมากในปีนี้ จึงกำลังผลักดันให้บางคนต้องหันไปเลือกการศึกษาต่อ, ยอมทำงานที่ตรงกับอุดมคติน้อยลง, หรือทางเลือกอื่นๆ
“วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง”
ถึงแม้เศรษฐกิจจีนทำท่าจะดีดตัวกลับมาได้อย่างแข็งแรงในไตรมาส 2 –ด้วยอัตราเติบโตเท่ากับ 3.2% ต่อปี— แต่พวกนักวิเคราะห์ยังคงเตือนว่าการกระเตื้องเช่นนี้อาจจะสูงเกินความเป็นจริง
ขณะที่ ลูอิส คูอิจส์ แห่งบริษัทวิเคราะห์ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิวส์ สำทับว่า ไม่มีข้อสงสัยใดๆ หรอกในเรื่องที่จีนกำลังฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวนี้มีขนาดใหญ่โตแค่ไหนนั่นแหละจะเป็นตัวตัดสินว่า อัตราการเติบโต “แข็งแรงเพียงพอที่จะย้อนกลับไปดูดซับปัญหาหลายๆ ปัญหาของตลาดแรงงานได้หรือไม่” เป็นต้นว่า การเลย์ออฟปลดงานงดจ้าง ซึ่งเกิดขึ้นในระยะก่อนหน้านี้ของปีนี้
เขากล่าวต่อไปว่า อัตราเติบโตที่แตกต่างกันเพียงแค่ 0.2 หรือ 0.3% อาจหมายถึงการสร้างงานที่แตกต่างกันเป็นจำนวนล้านๆตำแหน่งทีเดียว
ถึงแม้อัตราการว่างงานในเขตเมืองของจีนได้ลดฮวบลงเหลือแค่ 5.7% ในเดือนมิถุนายน ทว่าผู้จบการศึกษาใหม่ถึง 19.3% ยังคงไม่มีงานทำ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของยูโอบี ระบุเอาไว้รายงานฉบับหนึ่ง พร้อมกับเสริมว่า ตลาดแรงงานของจีน “ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายต่างๆ ต่อไปอีก”
ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาในระดับสวยสด ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ากำลังมีการจ้างงานกันอย่างคึกคักมากขึ้น
หนุ่มแซ่คัง วัย 27 ปีซึ่งจบการศึกษาเมื่อปี 2017 กำลังกลับเข้าไปในตลาดหางานอีกครั้ง ภายหลังสัญญาจ้างทำงานในอุตสาหกรรมสื่อสารที่กรุงปักกิ่งของเขาสิ้นสุดลง
เขาตัดสินใจเดินทางกลับเจิ้งโจว แต่ก็ได้รับการติดต่อกลับเพียงแค่ 5 รายเท่านั้นภายหลังส่งใบสมัครไปยังกิจการต่างๆ มากกว่า 30 แห่ง – และมาถึงตอนนี้เขาก็ยังคงกำลังมองหางานอยู่
“การระบาดของไวรัสกลายเป็นอุปสรรคจำกัดการเดินทาง และงานตลาดนัดแรงงานจำนวนมากเลยต้องเลื่อนไปหรืองดไปเลย” เขากล่าว “ผมรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง”
ลี่ว์ อี้ฟาน วัย 25 ปี ก็บอกว่า โรคระบาดคราวนี้เป็นสาเหตุทำให้พวกนักศึกษาจีนซึ่งไปเรียนต่อในต่างประเทอย่างเช่นตัวเขาต้องกลับบ้านเร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ --กลายเป็นการเพิ่มจำนวนผู้หางานทำเข้ามาอีกมากมาย
เจ้า จิงอิง อายุ 22 ปีผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมณฑลกวางตุ้ง บอกกับเอเอฟพีว่า “สำหรับพวกเราในปีนี้แล้ว การได้รับข้อเสนองานแม้แค่งานเดียวก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว”
อีกคนหนึ่ง หว่อ รุยซี วัย 23 ปีซึ่งพำนักอยู่ที่ปักกิ่ง จบออกมาจากมหาวิทยาลัยในเดือนกรกฎาคม แต่กำลังวางแผนเข้าศึกษาต่อเป็นรอบที่ 2 ภายหลังไม่ประสบความสำเร็จในการหางานทำเป็นเวลา 5 เดือน
สำหรับฝ่ายนายจ้าง “แรงกดดันก็เพิ่มขึ้น”
วิกฤตการณ์คราวนี้ยังกำลังสร้างปัญหาให้แก่พวกนายจ้างด้วยเช่นกัน
หยาง
ชางเหวย ผู้จัดการของ เต๋อโหย่ว เรียลเอสเตท
บอกกับเอเอฟพีที่งานตลาดนัดแรงงานในเจิ้งโจวว่า
เป็นเรื่องลำบากขึ้นมากในการมองหาผู้สมัครที่พร้อมทำงานขายแบบได้ค่าตอบแทนในรูปคอมมิสชั่น
“มันเหมือนกับว่าความคิดจิตใจของพวกคนหางานทำ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว” เขากล่าว
“ในงานขาย
คุณอาจจะทำดีลได้สำเร็จ (และได้ค่าคอมมิสชั่น) หรืออาจจะไม่สำเร็จก็ได้
แต่กับงานอย่างอื่นๆ คุณอาจจะรู้สึกมั่นคงกว่าในเรื่องรายได้
และเป็นเพราะโรคระบาดคราวนี้
ทำให้ต่างรู้สึกกันว่าแรงกดดันทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น”
เวลานี้ทางการจีนกำลังเพิ่มความพยายามในการทำให้มีการว่าจ้างผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ
เพิ่มมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง
เพิ่งประกาศว่าจะมีการว่าจ้างตำแหน่งงานใหม่ๆ กว่า 9 ล้านตำแหน่งในปีนี้
คำชี้แนะของคณะรัฐมนตรีจีนที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า
พวกกิจการขนาดเล็กที่รับผู้จบใหม่โดยมีสัญญาจ้างมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
จะได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือพิเศษ ขณะที่พวกรัฐวิสาหกิจ
ก็จะขยายขนาดการว่าจ้างผู้จบใหม่ทั้งในปีนี้และในปีหน้า “อย่างต่อเนื่อง”
ตัวอย่างเช่น
ในมณฑลเหอหนาน พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเปิดเผยว่า
ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครกันตามรัฐวิสาหกิจต่างๆ
ของมณฑลอย่างน้อยครึ่งหนึ่งทีเดียวจะสงวนเอาไว้ให้ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในปีนี้
ขณะเดียวกัน เมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ก็กันงบประมาณเอาไว้
1,000 ล้านหยวน (ราว 4,470 บาท) เพื่อสร้างตำแหน่งฝึกงานต่างๆ ราว 100,000
ตำแหน่ง สำหรับรองรับพวกผู้จบใหม่ที่กำลังดิ้นรนหางานทำกันอยู่
ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน
(เก็บความจากเรื่อง China's young jobseekers struggle despite economic recovery ของสำนักข่าวเอเอฟพี)