เอเอฟพี - สหรัฐฯ จะลดทหารที่ประจำการในเยอรมนีลง 11,900 นาย แต่เกือบๆ ครึ่งหนึ่งจะคงไว้ในยุโรป เพื่อไว้รับมือกับสถานการณ์ความตึงเครียดกับรัสเซีย จากคำแถลงของมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมในวันพุธ (29 ก.ค.)
ในการโยกย้ายที่จะเริ่มขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ เพนตากอนจะส่งกำลังพลที่ประจำการอยู่ในเยอรมนี กลับสู่มาตุภูมิราวๆ 6,400 นาย ส่วนที่เหลืออีก 5,600 นายจะถูกส่งไปประจำการในประเทศสมาชิกนาโต้อื่นๆ
เอสเปอร์ ระบุว่าจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้กำลังทหารสหรัฐฯเหลือประจำการอยู่ในเยอรมนีราวๆ 24,000 นาย "เป้าหมายหลักของการหมุนเวียนกำลังพลในครั้งนี้ก็คือการเสริมกำลังบริเวณปีกทางตะวันออกเฉียงใต้ของนาโต้ ใกล้ๆทะเลดำ" เขากล่าว
เขาบอกว่าการโยกย้ายฐานประจำการของทหารและฝูงบินขับไล่ไปยังอิตาลี และหมุนเวียนหน่วยยานเกราะ Stryker เพิ่มเติมข้าไปในแถบภูมิภาคทะเลดำ จะมุ่งเน้นไปที่การป้องปรามภัยคุกคามของรัสเซียต่อพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป หลังจากเกิดกรณีรัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014
ส่วนอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายโครงสร้างกองบัญชาการสหรัฐฯไปยังเบลเยียม เป็นการโยกย้ายเพื่อยกระดับการประสานงานกับกองบัญชาการของนาโต้
นอกจากนี้แล้ว เอสเปอร์ บอกว่ากำลังพลบางส่วนอาจถูกส่งไปยังโปแลนด์และประเทศอื่นๆในแถบบอลติก หากว่าประเทศต่างๆเหล่านั้นบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายกับวอชิงตัน
"การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะบรรลุเป้าหมายหลักการสำคัญของสหรัฐฯและนาโต้ ในการยกระดับป้องปรามรัสเซีย และเสริมความเข้มแข็งให้แก่นาโต้ และเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ" เอสเปอร์กล่าว
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเยอรมนี ทั้งทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศแห่งนี้มีทหารสหรัฐฯหลายหมื่นนายประจำการมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือน บรรดาผู้นำรัฐต่างๆ 4 รัฐของเยอรมนี เรียกร้องให้สภาคองเกรสขัดขวางแผนลดกำลังหทาร โดยเตือนว่ามันอาจทำให้ศักยภาพในการป้อมปรามรัสเซียของพันธมิตรข้ามแอตแลนติกอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม เอสเปอร์ ยืนยันว่าการเคลื่อนย้ายครั้งนี้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่พอใจกับกระการทำหลายๆอย่างของรัฐบาลเยอรมนี
ข้อสันนิษฐานดังกล่าว มีขึ้นสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีปฏิเสธคำเชิญของ ทรัมป์ ให้ไปร่วมประชุมซัมมิต G7 ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ โดยอ้างความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ผู้นำอเมริกาได้ออกมาโวยวายว่าเบอร์ลินไม่จ่ายงบป้องกันประเทศมากพอตามเป้าหมายที่นาโต้กำหนด และยังเอาเปรียบสหรัฐฯ ในเรื่องการค้า