(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Hong Kong set to boom, not bust
by William Pesek
20/06/2020
พวกที่เรียกขานกันว่าบัณฑิตผู้รอบรู้ได้เคยขีดฆ่าชื่อของฮ่องกงออกไปหลายครั้งหลายคราในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยมีคราวไหนที่ผิดพลาดมโหฬารยิ่งไปกว่าการคาดการณ์ล่าสุดในเวลานี้
การถึงแก่มรณกรรมของฮ่องกงในฐานะที่เป็น “นครโลกของเอเชีย” (Asia’s World City) คือข่าวดีอย่างเหลือเชื่อซึ่งต้องเฉลิมฉลองกันทีเดียวสำหรับสิงคโปร์ และขณะที่ปักกิ่งกำลังกำฮ่องกงเอาไว้ในมืออย่างแน่นหนามากขึ้นด้วยกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ผู้คนจำนวนมากแนะนำว่า สิ่งที่สิงคโปร์จำเป็นต้องทำก็คือการนั่งให้สบายและคอยต้อนรับตำแหน่งงานใหม่ๆ ทางด้านการธนาคารและการเงินที่จะแห่แหนอพยพกันออกจากเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนั้น มายังนครรัฐบนปลายสุดของผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
ทุกๆ คนเลยต่างได้รับและรับทราบบันทึกว่าด้วยเรื่องนี้กันทั้งนั้นแหละ จะมียกเว้นก็แต่ผู้คนในบริษัทเอ็มเอสซีไออิงก์ (MSCI Inc.) ซึ่งดูเหมือนไม่ได้รับและดูเหมือนไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับเขา ตอนปลายเดือนพฤษภาคม สัปดาห์เดียวกับที่จีนประกาศทิ้งระเบิดทางกฎหมายลูกใหญ่ของตนอยู่นั่นเอง บริษัทผู้ให้บริการดัชนีราคาหุ้นทรงอิทธิพลรายนี้กลับออกมาแถลงว่า ตนกำลังโยกย้ายงานพิจารณาให้ไลเซนส์สำหรับตราสารอนุพันธ์จำนวนหนึ่ง ออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง
ข้อตกลงที่ MSCI ลงนามกับทางบริษัทตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเคลียริ่ง (Hong Kong Exchanges & Clearing Ltd.) คราวนี้ ครอบคลุมไลเซนส์ในการออกสัญญาซื้อขายตราสารฟิวเจอร์ส และตราสารออปชั่นจำนวน 37 ชนิด ซึ่งผูกอยู่กับมาตรวัดตลาดเอเชียและตลาดเกิดใหม่ของ MSCI (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/quote/388:HK)
การหนุนส่งจาก MSCI ดังกล่าวที่ทางบริษัทตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงได้รับนี้ จะต้องทำให้บริษัทตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(Singapore Exchange Limited ใช้อักษรย่อว่า SGX) รู้สึกหนาวอย่างแน่นอน ข่าวคราวการที่ SGX จะต้องขาดรายรับไปอักโขเช่นนี้ส่งผลทำให้ราคาหุ้นตัวนี้ลดลง 12% ภายในเวลาวันเดียว ถือเป็นการตกฮวบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบระยะเวลา 17 ปี
มันยังน่าที่จะทำให้พวกนักลงทุนต้องผ่อนเพลาการพูดจาเรื่อยเปื่อยในเรื่องที่ว่า “ฮ่องกงกำลังจะตาย” ลงไป แน่นอนทีเดียวว่า คำทำนายทายทักถึงวันโลกาวินาศทำนองนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย
พวกสื่อมวลชนต่างประเทศต่างเคยพากันประกาศการถึงแก่กรรมของนครแห่งนี้มาเป็นระยะเวลา 25 ปีแล้ว –เริ่มต้นตั้งแต่นิตยสารฟอร์จูนที่ทำรายงานเรื่องจากปกเมื่อปี 1995 โดยพาดหัวว่า “การตายของฮ่องกง” (The Death of Hong Kong) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Farchive.fortune.com%2Fmagazines%2Ffortune%2Ffortune_archive%2F1995%2F06%2F26%2F203948%2Findex.htm&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309208817&sdata=QL06KWx9NLBsoKb55bvsXITchjH5UMyXxzfJfFXk7NA%3D&reserved=0) และกลายเป็นเรื่องที่ทำให้นิตยสารฉบับนี้เสียชื่อหมดราคาไปเยอะ ในทำนองเดียวกัน การเสนอเรื่องเจาะลึกอันชวนให้รู้สึกหดหู่ ก็ได้กลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งของพวกสื่อในช่วงเวลาแถวๆ การส่งมอบฮ่องกงกลับมาอยู่ใต้การปกครองของจีนในปี 1997
อย่างไรก็ดี ทุกๆ ครั้งเลย ฮ่องกงกลับพิสูจน์ให้เห็นว่าคำสาปแช่งของพาดหัวนิตยสารเหล่านี้ช่างผิดพลาดไปไกลสุดกู่ โดยยังคงมีชีวิตชีวาสบายดี และยังคงเป็นนครศักดิ์สิทธิ์แห่งการทำธุรกิจได้อย่างเสรีของพวกบริษัทนานาชาติทั้งหลาย
มาถึงเวลานี้ จีนเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ ด้วยการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่า คือการลั่นระฆังมรณะสำหรับฐานะพิเศษและเสรีต่างๆ ของฮ่องกง
กฎหมายฉบับนี้ทำให้ความเป็นอิสรเสรีในด้านต่างๆ ฮ่องกงตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน, ความเป็นอิสระของระบบตุลาการ, ความโปร่งใส่ของภาคบริษัท, และความสะอาดศักดิ์สิทธิ์ของระบบการธนาคาร
นอกจากนั้นยังน่าจะได้เห็นคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกฐานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการพาณิชย์มูลค่าราว 66,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังเป็นการเปิดประตูให้แก่การลงโทษแซงก์ชั่นต่างๆ ในเวลาเดียวกับที่รัฐสภาสหรัฐฯยังกำลังทำให้พวกบริษัทของจีนเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในนิวยอร์กได้ยากลำบากยิ่งขึ้น (หมายเหตุผู้แปล - หลังจากข้อเขียนนี้เผยแพร่ออกไป ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ประกาศยกเลิกฐานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกงจริงๆ รวมทั้งมีมาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรอย่างอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง US ends favored Hong Kong trade, sanctions banks ใน https://asiatimes.com/2020/07/us-ends-favored-hong-kong-trade-sanctions-banks/)
กระนั้นก็ตามที สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายทั้งปวงยังคงออกมาว่า การกะเก็งคาดเดาเกี่ยวกับความตายของฮ่องกงระลอกล่าสุดนี้ เป็นการพูดเกินเลยความเป็นจริงมากยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยซ้ำไป
แน่นอนทีเดียว นี่คือใจความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นหลายครั้งหลายคราวเมื่อเร็วๆ นี้ ของ แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน อันเป็นวันสำคัญเนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 1 ปีของการเริ่มต้นการชุมนุมเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ปักกิ่งพยายามให้ทางฮ่องกงผ่านออกมาบังคับใช้ แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/06/hong-kong-seethes-on-one-year-protest-anniversary/)
ในวันนั้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2019 ผู้ประท้วงในฮ่องกงจำนวนเกือบๆ 1 ล้านคนได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนสายต่างๆ แล้วการประท้วงอีกหลายๆ ครั้งที่มีติดตามมาอย่างต่อเนื่องโดยทำท่าจะมุ่งหน้าไปสู่ความรุนแรงอันสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ก็ได้ทำให้ ลัม ต้องตัดสินใจพับเก็บร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างใหญ่โตฉบับนี้เอาไว้ก่อน
สำหรับแผนการของ ลัม ในเวลานี้ล่ะ ? เร่งรัดเพิ่มพูนเสริมส่งฐานะของฮ่องกงในการเป็นฮับทางการเงินด้วยความช่วยเหลือของจีน เพื่อทำให้นครแห่งนี้มีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดใจเพิ่มมากขึ้นอีกสำหรับพวกบริษัทนานาชาติและสถาบันการเงินนานาชาติ ลัม บอกว่า ฮ่องกงจะ “ส่งเสริมสนับสนุนการต่อเชื่อมกันอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งขึ้น” ระหว่างตลาดต่างๆ ของตนกับตลาดต่างๆ ของแผ่นดินใหญ่
“ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา เรามีการต่อเชื่อมกันระหว่างหุ้นเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกง, การต่อเชื่อมกันระหว่างหุ้นเซินเจิ้น-ฮ่องกง, และการต่อเชื่อมกันของตลาดตราสารหนี้” ลัม บอก “ยังมีการต่อเชื่อมกันอย่างอื่นๆ อีกที่เรากำลังมีการพูดจากันอยู่ ในเรื่องที่ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีการต่อเชื่อมกันด้านการประกันภัย, การต่อเชื่อมกันด้านไอพีโอ, หรือการต่อเชื่อมกันด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่งภาคเอกชน”
ไอเดียใหญ่เบื้องหลังการต่อเชื่อมเหล่านี้ เธอบอกว่า คือ “ทำให้ฮ่องกงมีความเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น, เปลี่ยนฮ่องกงให้เข้าสู่การเป็นศูนย์กลางออฟชอร์ของเงินสกุลเหรินหมินปี้ที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก, เปลี่ยนแปลงพลิกโฉมฮ่องกงให้กลายเป็นฮับสำหรับการบริหารจัดการความมั่งคั่งภาคเอกชน”
มันไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ที่ไกลสุดกู่แต่อย่างใดเลย อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีความคิดมุ่งปฏิรูปอย่างมั่นคงสม่ำเสมอและได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง นั่นคือ ลอรา ชา (Laura Cha) ผู้มีตำแหน่งเป็นประธานคนใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange ใช้อักษรย่อว่า HKSE) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/06/hks-financial-sector-in-safe-pair-of-hands/?_gl=1*wvxl6l*_ga*NDk2NDkwNTk0LjE1NzQwOTAzMTQ.)
บทบาทของ ชา ในช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษ ในฐานะเป็นรองประธานของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตราสารฟิวเจอร์สของฮ่องกง (Hong Kong’s Securities and Futures Commission) นั้น มีรายงานกระทั่งว่าสามารถสร้างความประทับใจให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี จู หรงจี ของจีน ซึ่งสมควรจะถือได้ว่าเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของปักกิ่งในรอบระยะเวลา 20 ปีหลังมานี้
เวลาเดียวกัน พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของจีนต่างกำลังโอนเอียงกลับมาสร้างความมั่นใจให้แก่พวกนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ บอกว่า ปักกิ่ง “จะยึดมั่นในนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และให้ความสนับสนุนฮ่องกงในขณะที่ฮ่องกงแสดงบทบาทของการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ”
ขณะกล่าวปราศรัยในเวทีประชุมทางธุรกิจแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ หลิวพูดว่า “เราจะทำให้เกิดความมั่นใจว่า พวกผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างประเทศทั้งหลายในฮ่องกงจะได้รับการคุ้มครอง และความมั่งคั่งรุ่งเรืองในระยะยาวของฮ่องกงเป็นสิ่งที่สามารถไปถึงได้แน่ๆ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/business/banking-finance/article/3089518/china-committed-maintaining-hong-kongs-status)
พวกบริษัทใหญ่ในฮ่องกงซึ่งชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่รู้จักกันดีกระทั่งในระดับครัวเรือน ตั้งแต่ เอชเอสบีซี ไปจนถึง สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด, บริษัทแม่ของสายการบินคาเธย์ แปซิฟิก อย่าง สไวร์ แปซิฟิก (Swire Pacific) ไปจนถึง จาร์ดีน แมธีสัน (Jardine Matheson) ทั้งหมดต่างพูดว่าพวกเขาสนับสนุนแผนการเรื่องความมั่นคงแห่งชาติสำหรับนครแห่งนี้ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.telegraph.co.uk%2Fbusiness%2F2020%2F06%2F09%2Faviva-first-investor-hit-hsbc-hong-kong-row%2F&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309218811&sdata=JH0Cg4w1qn5WZW%2BhVnLSDtEBmc8y3O4%2FvhjGjpw5%2FBc%3D&reserved=0)
ทางด้านพวกบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายบิ๊กก็เช่นเดียว ไม่ว่าจะเป็น ซุน ฮุง ไค พร็อบเพอตี้ส์ (Sun Hung Kai Properties), นิว เวิลด์ ดีเวลอปเมนต์ (New World Development), และ ลี กาชิง (Li Ka-shing) อภิมหาเศรษฐีที่เป็นอดีตประธานของ ซีเค ฮัตชิสัน โฮลดิ้งส์ (CK Hutchison Holdings) และ ซีเค แอสเสต โฮลดิ้งส์ (CK Asset Holdings)
นี่ย่อมไม่ใช่เสียงดนตรีเสนาะหูสำหรับพวกที่ปฏิเสธไม่ยอมมองอะไรดีๆ ของฮ่องกง
ทั้ง เอชเอสบีซี และ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ซึ่งต่างเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการธนาคารสัญชาติอังกฤษ และเป็นกิจการที่ไว้วางใจได้ในฮ่องกง กำลังถูกต่อว่าต่อขานอย่างเต็มหูเรียบร้อยแล้วจากนักลงทุนไฮ-โพรไฟล์ รายหนึ่ง นั่นคือ อาวิวา อินเวสเตอร์ส (Aviva Investors) กิจการบริหารจัดการทรัพย์สินของอังกฤษ กิจการแห่งนี้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แบงก์ทั้งสองกำลังเข้าข้างปักกิ่งในการดำเนินมาตรการซึ่งอาวิวา อินเวสเตอร์ส เกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงย่ำแย่พังครืน
“เรากำลังรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องการตัดสินใจ” สนับสนุนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง เดวิด คัมมิง (David Cumming) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนสำหรับหลักทรัพย์ที่ อาวิวา อินเวสเตอร์ส กล่าว “ถ้าบริษัทต่างๆ ยอมออกคำแถลงในทางการเมือง พวกเขาก็จะต้องยอมรับความรับผิดชอบต่างๆ ในฐานะบริษัท ซึ่งจะติดตามมาภายหลังจากนั้น”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่ว่า รัฐบาลฮ่องกงจะทำอย่างไรบ้างเพื่อต่อยอดอาศัยความผูกพันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์ของสี มาหนุนเนื่องส่งเสริมฐานะความเป็นฮับทางการเงินของฮ่องกง ดังที่ ไซมอน พริตชาร์ด (Simon Pritchard) นักวิเคราะห์แห่ง กาเวคัล รีเสิร์ช (Gavekal Research) ชี้ว่า แทนที่จะยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่กับงานฝังศพ “ฮ่องกงเก่า” สิ่งที่พวกบริษัทนานาชาติทั้งหลายควรต้องทำ มีเพียงแค่การปรับตัวให้เข้ากับฮ่องกงใหม่มากกว่า
“หลังจากขบคิดไตร่ตรองแล้ว” พริตชาร์ด บอก “ผลที่ออกมาจะเป็นการทำให้ฮ่องกงมีความเป็นนครของจีนเพิ่มมากขึ้น และความสำเร็จทางเศรษฐกิจของนครแห่งนี้จะผูกพันอยู่กับพวกธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่กำลังดำเนินการโดยกิจการต่างๆ ของแผ่นดินใหญ่”
เรื่องนี้สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของฮ่องกงในการเป็นฮับทางการเงิน – และก็สามารถที่ส่งเสริมเพิ่มพูนฐานะของฮ่องกงได้ด้วย
“ตำแหน่งที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่เรื่องการระดมหาเงินทุนของแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเรื่องกระบวนการของการทำให้เงินสกุลเหรินหมินปี้กลายเป็นสกุลเงินนานาชาติ” พริตชาร์ด กล่าวต่อ
“ด้วยเหตุนี้ แม้กระทั่งในขณะที่ฮ่องกงสูญเสียอัตลักษณ์อันเฉพาะโดดเด่นของตนไป และมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกตัดขาดจากพวกสถาบันต่างๆ จำนวนหนึ่งเมื่อมองจากพื้นฐานของการที่ฮ่องกงไม่ได้สามารถยืนอยู่ได้เพียงลำพังตนเองอีกต่อไปแล้ว มันก็ยังคงมีเหตุผลที่พึงรับฟังได้ว่า ฮ่องกงจะได้เห็นการไหลเวียนของเงินทุนเพิ่มมากขึ้น และเห็นกิจกรรมกล้าเสี่ยงที่ส่งผ่านออกมาจากแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น” เขากล่าว
แกนกลางของแผนการของ สี คือ เขตเกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย (Greater Bay Area) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fasiatimes.com%2F2020%2F06%2Fhainan-greater-bay-area-to-support-each-other%2F&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309228805&sdata=uA4ay3IsvNhgTNupBlMiT5IseN8UL9e3HeghcG7QgFQ%3D&reserved=0) ซึ่งจะเชื่อมโยงฮ่องกง, มาเก๊า, และมหานครของแผ่นดินใหญ่อย่างกว่างโจว เข้าด้วยกัน แม้กระทั่งเมื่อปักกิ่งบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ ทางด้านความมั่นคงใหม่ๆ ในฮ่องกงแล้ว ปักกิ่งก็ยังจัดทำแผนการรายละเอียดสำหรับฮับของภาคบริการทางการเงินอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ โดยที่เกาะแห่งนี้ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในฐานะเรื่องการท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องการธนาคาร
แต่แทนที่ฮ่องกงจะต้องรู้สึกถูกคุกคามจากความเป็นไปได้ที่จะมีฮับด้านเทรดดิ้งแห่งใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ การผงาดขึ้นมาของไหหลำกลับน่าจะเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาให้ฮ่องกงมุ่งเติบใหญ่ตามเกมของตนเอง
“เราควรที่จะไขว่คว้าโอกาสทุกๆ โอกาสของการที่เศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่มีการปฏิรูปอย่างหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น และมีการเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่ามันจะเป็นในระดับส่วนกลางหรือในระดับมณฑล โดยถือเป็นโอกาสสำหรับฮ่องกง” ลัม กล่าว สาระสำคัญที่สุดของคำพูดนี้ของเธอ แปลความหมายออกมาได้ว่า “ฉันมองเห็นช่องทางของการทำงานประสานกำลังกันและศักยภาพที่จะร่วมมือกัน อยู่เยอะแยะมากมาย”
ไม่มีที่ไหนที่จะมีการทำงานประสานกำลังกันอย่างยิ่งใหญ่กว่าการดำเนินการต่อเชื่อมตลาดซึ่งฮ่องกงกับจีนกำลังสร้างเสริมต่อเติมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014
อันดับแรกเลยคือการเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์แบบช่องทางข้ามพรมแดน ( cross-boundary channel) ซึ่งกำลังเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เข้ากับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.hkexgroup.com%2Fsitecore%2Fcontent%2FHKEX-Market%2FHomepage%2FMutual-Market%2FStock-Connect%3Fsc_lang%3Den&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309238800&sdata=l9SMJN3EhONdAXQu8pv%2FVzwiUyEvZvQlvCkGKj08eXg%3D&reserved=0) แผนการนี้ทำให้พวกลูกค้านักเสี่ยงโชคสามารถที่จะซื้อขายหุ้นข้ามตลาดกันระหว่าง 2 ตลาดนี้ได้ โดยใช้พวกโบรกเกอร์ท้องถิ่นและสำนักงานชำระบัญชีท้องถิ่น ในปี 2016 การเชื่อมต่อตลาดหุ้น “แบบนั่งรถไฟต่อเชื่อมหลายสายโดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้ที่นั่ง” (stock-connect “through-train”) ได้เปิดขึ้นระหว่างฮ่องกงกับเซินเจิ้น
อย่างที่นักวิเคราะห์หลายๆ รายชี้ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ฮ่องกงจะต้องต่อยอดสร้างเสริมยิ่งขึ้นไปอีกจากปัจจัยพิเศษเฉพาะของตนเช่นนี้ เพิ่มความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่บทบาทของตนเองในการเป็น “เขตกรีนโซนที่ปลอดภัยมีความมั่นคงสูง” ในทางการเงินของจีน นี่หมายความว่าจะต้องเป็นผู้ชนะในสมรภูมิต่อไประหว่างฮ่องกงกับสิงคโปร์ ซึ่งได้แก่ ตลาดซื้อขายตราสารล่วงหน้าหลักทรัพย์จีน
ขณะที่ปักกิ่งเปิดเสรีตลาดการเงินของประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ การได้เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องพวกเครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงสำหรับบรรดาหลักทรัพย์แผ่นดินใหญ่ จึงกลายเป็นสิ่งที่มีศักยภาพอันกว้างขวางยิ่ง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิงคโปร์จะต้องตอบโต้โจมตีกลับ ประมาณ 36% ของรายรับทั้งหมดของ SGX ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม มาจากการขายพวกตราสารอนุพันธ์ของหลักทรัพย์ต่างๆ
แต่นครรัฐที่เป็นคู่แข่งของฮ่องกงแห่งนี้ กำลังตกเป็นฝ่ายสูญเสียพื้นที่ในเรื่องการค้าเงินตราออฟชอร์ ขณะที่ฮ่องกงเป็นผู้ชนะได้ธุรกิจเพิ่มมากขึ้นจากพวกบริษัทแผ่นดินใหญ่ นอกจากนั้นสิงคโปร์ยังกำลังเสียหายจากการที่หาหลักทรัพย์มาจดทะเบียนซื้อขายได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่ออินเดียผลักดันให้โยกย้ายการซื้อขายสัญญาตราสารฟิวเจอร์สบางอย่างบางประเภทจากสิงคโปร์ไปอยู่ที่มุมไบ (บอมเบย์)
เราสามารถที่จะพิจารณาได้ว่าฮ่องกงกำลังอยู่ถูกที่ถูกทางในจังหวะเวลาที่ถูกต้องเหมาะเหม็ง เมื่อปีที่แล้ว ตลาดตราสารหนี้ของจีนแซงหน้าตลาดตราสารหนี้ของญี่ปุ่น ก้าวขึ้นไปเป็นตลาดบอนด์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เฉพาะในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียว พวกนักลงทุนสถาบันของต่างประเทศเทเงินจำนวนถึง 30,000 ล้านดอลลาร์เข้ามาซื้อตราสารหนี้แผ่นดินใหญ่ พุ่งพรวด 31% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2019
เรื่องนี้เกิดขึ้นมา 8 ปีหลังจากจีนแซงหน้าญี่ปุ่นในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) การพุ่งพรวดของกิจกรรมตราสารหนี้ในปัจจุบันจึงมีความหมาย 2 ประการ
ประการแรก ข่าวลือที่ว่าจีนกำลังย่ำแย่ถึงขั้นเกิดภาวะหลอมละลาย ซึ่งผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ไคล แบสส์ (Kyle Bass) แห่ง ไฮย์แมน แคปิตอล แมเนจเมนต์ (Hayman Capital Management) และบุคคลจำพวกเดียวกันกับเขากำลังวางเดิมพันเอาไว้นั้น น่าจะเกินเลยความเป็นจริงไปอย่างมโหฬารมาก ประการที่สอง การเติบโตขยายตัวอย่างชนิดระเบิดระเบ้อของระบบการเงินของประเทศจีน –รวมทั้งอุปสงค์ความต้องการในสินทรัพย์สกุลเงินเหรินมินปี้ จะนำพาให้ฮ่องกงไต่สูงตามไปด้วย
ในปี 2017 ตอนที่หน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนและของฮ่องกงอนุมัติแผนการเชื่อมต่อด้านตราสารหนี้ ตลาดแผ่นดินใหญ่มีมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ ทุกวันนี้ ตัวเลขทะยานขึ้นเป็น 13 ล้านล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fchinaeconomicreview.com%2Fchinas-13-trillion-bond-market-shines-as-treasuries-turn-treacherous%2F&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309238800&sdata=srhBzazkyDWTyqeSLq4Ns%2FBlFnA4aBYa69FvDC627qE%3D&reserved=0) และสามารถยืนเด่นกลายเป็นแหล่งหลบภัยที่ปลอดภัยอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ขณะที่ผลพวงของโรคระบาดกำลังกระหน่ำใส่ตลาดการเงินทั่วโลก และอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็อยู่ในระดับเชื่องช้าที่สุดในรอบ 30 ปี
จีนยังกำลังเปิดประตูกว้างยิ่งขึ้นในด้านอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งถือเป็นลางดีสำหรับฮ่องกง เวลาเดียวกับที่สงครามการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวขัดขวางสกัดกั้นการไหลเวียนทางการค้า รัฐบาลของสี กลับกำลังผลักดันเดินหน้ามาตรการเปิดตลาดทางการเงินให้แก่พวกแบงก์, บริษัทประกันภัย, และกิจการบริการทางการเงินประเภทอื่นๆ ของต่างประเทศ นี่รวมถึงการทำให้ต่างประเทศสามารถเข้าถึงหุ้นและตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกับที่หุ้นและตราสารหนี้จีนก็กำลังถูกเพิ่มเข้าไปในพวกดัชนีระดับโลกสำคัญๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ กำลังช่วยลดทอนน้ำหนักของพวกข้อกล่าวหาที่ทรัมป์ใช้มาเล่นงานจีนว่า ไม่ได้เปิดกว้างเพียงพอให้เงินทุนอเมริกันเข้าถึงได้ ขณะที่การเติบโตขยายตัวในภาคเหล่านี้ขยับสูงขึ้นไป ฮ่องกงก็จะยังคงอยู่ในฐานะที่ดีในการเป็นนครเอเชียซึ่งถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของพวกบริษัทนานาชาติ
แท้จริงแล้ว การที่จีนดำเนินกระบวนการเปิดเสรีตลาดการเงิน ควรสามารถเพิ่มกระแสเงินทุนไหลเวียนเข้าสู่เศรษฐกิจของฮ่องกง โดยขณะเดียวกันก็ยังกำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งนี้การบริหารจัดการเงิน (Money management) เป็นหนึ่ง (แต่ไม่ใช่อย่างเดียว) ของแวดวงที่มีศักยภาพจะเจริญรุ่งเรืองเช่นนี้ได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.reuters.com%2Farticle%2Fus-china-parliament-hongkong-finance%2Fhong-kong-bankers-worry-that-new-laws-could-lead-to-capital-flight-idUSKBN22Y125&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309248799&sdata=%2BAIrG5LSP3Fpk8BNh58upB19Vuvb%2FOMqR8w%2FK6s9We4%3D&reserved=0)
แน่นอนทีเดียว โอกาสเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาได้ ปัจจัยที่สำคัญมากประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลฮ่องกงของ ลัม สามารถหรือไม่ที่จะสร้างความสมดุลอันละเอียดอ่อนระหว่างการแสดงความซื่อสัตย์ภักดีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากต่อปักกิ่ง ขณะเดียวกันก็ยังคงสงวนรักษาส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งทำให้ฮ่องกงมีความเป็นพิเศษของตนเอง
บรูโน ลี (Bruno Lee) นายกของสมาคมกองทุนเพื่อการลงทุนฮ่องกง (Hong Kong Investment Funds Association) บอกว่า “ยังคงมีความเชื่อมั่น” ในนครแห่งนี้ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน “สำคัญ” แห่งหนึ่งได้ต่อไป ภายหลังโรคระบาดโควิด-19 ในปีนี้ และการประท้วงของมวลชนในปีที่แล้ว ทั้งนี้ภายหลังจากผ่านระยะของการปรับตัว
ลี ตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมที่เขาประกอบอาชีพอยู่ กำลังเผชิญ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและการสะดุดติดขัดที่สำคัญ ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่กำลังวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วมาก แต่ความเปลี่ยนแปลงพลิกผันเช่นนี้เอง ได้เกิดโอกาสอันงดงามขึ้นมาจำนวนหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมนี้ในฮ่องกงที่จะพัฒนาและเติบโตขยายตัวในระยะ 5 ปีข้างหน้า”
สิ่งนี้เป็นความท้าทายไม่ใช่เพียงเฉพาะต่อพวกผู้นำของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น แต่ยังต่อรัฐบาลของลัมอีกด้วย กองทุนเพื่อการลงทุนกำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดแก่กระบวนการที่ฮ่องกงจะบูรณาการเข้ากับอีก 10 เขตอื่นๆ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta economic zone) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.scmp.com%2Fnews%2Fchina%2Fpolitics%2Farticle%2F3087986%2Fhainan-free-trade-plan-will-help-hong-kong-not-rival-it-top&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309248799&sdata=crz1xqlZfE8yDJQD2Ff3tFrl7gnhLpmWxMv%2BpJhJkgY%3D&reserved=0)
ทั้งสิงคโปร์และไต้หวันต่างวาดหวังที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากความตึงเครียดทางสังคม, ภาวะเศรษฐกิจถดถอย, และผลพวงของกฎหมายความมั่นคง ที่กำลังเกิดขึ้นกับฮ่องกง เวลานี้ทั้งคู่ต่างกำลังพยายามตกให้ได้ปลาตัวโตอย่างกระตือรือร้น ด้วยการพยายามชักจูงให้พวกบริษัทนานาชาติโยกย้ายสำนักงานใหญ่ออกไปจากฮ่องกง
“ในแวดวงของการลงทุนเกี่ยวกับจีน สิงคโปร์และไต้หวันต่างสามารถเสนอความได้เปรียบและความคุ้นเคยอย่างใหญ่โตมโหฬาร” นี่เป็นเสียงเชียร์ของ เจฟฟ์ คิงสตัน (Jeff Kingston) ผู้อำนวยการด้านเอเชียศึกษา ของมหาวิทยาลั้ยเทมเปิล วิทยาเขตโตเกียว (Temple University’s Tokyo campus)
กระนั้นก็ตาม สิงคโปร์ยังคงไม่ได้เห็นกระแสเงินทุนไหลทะลักจากฮ่องกงไปท่วมล้นที่สิงคโปร์ อย่างที่คุณน่าจะคาดหมายเอาไว้ เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศการเล่าเรื่องบรรยายความแบบ “ไปสู่สุคตินะ ฮ่องกง” เช่นนี้
ยอดเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศในพวกสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในฮ่องกง มีจำนวนเท่ากับ 564,000 ล้านดอลลาร์ ณ ตอนสิ้นเดือนเมษายน สูงขึ้น 20% จากเมื่อ 1 ปีก่อน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีสัญญาณเครื่องบ่งชี้ใดๆ ในแวดวงตลาดตราสารหนี้ว่าเกิดการไหลเข้าอย่างระเบิดเถิดเทิงภายหลังจากช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในความเป็นจริงแล้ว แรงกดดันที่มุ่งทำให้เงินดอลลาร์ฮ่องกงมีค่าสูงขึ้น กลับเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นไปในทิศทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ
กระนั้น ฮ่องกงก็ยังคงเผชิญกับ “ปัญหาทรัมป์” อยู่ดี นอกเหนือจากความพยายามที่จะริบเอาฐานะพิเศษทางการค้าของนครแห่งนี้ไปแล้ว ทั้งทรัมป์และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ยังกำลังเล็งที่จะดำเนินการลงโทษคว่ำบาตรแบบพุ่งเป้าเจาะจงอีกด้วย การดำเนินขั้นตอนทำนองนั้นจะทำให้ทั้งสหรัฐฯและทั้งภูมิภาคเกรตเทอร์ไชน่า กลายเป็นผู้สูญเสียพ่ายแพ้ไปทั้งสองฝ่าย นี่เป็นความคิดเห็นของ หลุยส์ คูอิจส์ (Louis Kuijs) แห่งบริษัทออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics)
ทว่าแม้กระทั่งสหรัฐฯใช้ทั้งการข่มขู่คุกคามและการบีบคั้นกดดัน มันก็ดูเหมือนว่ากลับมีพวกบริษัทใหญ่จำนวนมากขึ้นกำลังมุ่งหน้ามาทางฮ่องกงกัน ตัวอย่างเช่น การซื้อขายเงินหยวนโพ้นทะเล กำลังโยกย้ายออกจากลอนดอน, สิงคโปร์, และนครเพื่อนบ้านแห่งอื่นๆ มายังฮ่องกงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตลาดตราสารหนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน ก็จะได้เห็นการออกตราสารใหม่และการทำดีลกันเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งเสริมเพิ่มพูนบทบาทของฮ่องกงในการเป็นปากประตูเปิดสู่จีน ขณะที่การซื้อขายเงินวอนเกาหลีใต้น่าที่จะกำลังหมุนมายังทางฮ่องกงเช่นเดียวกัน
นักวิเคราะห์และนักลงทุนบางรายบอกว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วสำหรับฮ่องกงที่จะพยายามหาทางให้ได้ธุรกิจทั้ง 2 อย่างนี้ พวกเขาบอกว่า การที่ฮ่องกงมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือจุดขายที่แข็งแกร่งของนครแห่งนี้
เรื่องนี้จะยิ่งกลายเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าหากรัฐบาลของลัมสามารถผลักดันให้ชาวแผ่นดินใหญ่ 1,400 ล้านคนสามารถเข้าถึงการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากมายยิ่งกว่านี้ ด้วยการเข้าซื้อขายผ่านฮ่องกง
นี่อาจจะรวมถึงการล็อบบี้ปักกิ่งให้เพิ่มโควตารายวันในแผนการต่อเชื่อมหุ้นเหนือ-ใต้ และยกระดับความพยายามในการทำตลาดให้ฮ่องกงมีฐานะเป็นฮับระดับท็อปสุดสำหรับการซื้อขายเงินตราในเอเชียเหนือ
อันที่จริง ปัญหาท้าทายอย่างใหม่ของฮ่องกงอาจจะเป็นเรื่องการหาวิธีการมาจัดการรับมือกับเงินทุนใหม่ๆ ทั้งหลายซึ่งกำลังเล็งมายังทิศทางของฮ่องกง ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ สำนักงานการเงินฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority ใช้อักษรย่อว่า HKMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่เสมือนเป็นแบงก์ชาติของฮ่องกง ได้เข้าแทรกแซงอย่างหนักทีเดียวเพื่อประคองรักษาให้ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงยังผูกตรึงตายตัวอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอาไว้ ขณะที่ดอลลาร์ฮ่องกงแข็งโป๊กจนขยับขึ้นถึงระดับสูงสุดของช่วงแถบความเคลื่อนไหวของมัน
ทั้งนี้ HKMA ได้ขายสกุลเงินตราท้องถิ่นเป็นมูลค่าเท่ากับมากกว่า 6,100 ล้านดอลลาร์แล้ว เพื่อต่อสู้กับเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน แน่นอนทีเดียวว่า เงินไหลเข้าเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการทำไอพีโอที่มูลค่ามหาศาลของบริษัทเกม เน็ตอีส (Netease) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fedition.cnn.com%2F2020%2F06%2F10%2Ftech%2Fnetease-hong-kong-pop-intl-hnk%2Findex.html&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309248799&sdata=YO6sh6FPPXjsjLyGwpAdqhy2j3z5qE3hJlREycqDeFk%3D&reserved=0)
JD.com ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ช ก็สร้างข่าวพาดหัวตัวโตเช่นเดียวกันในการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดฮ่องกง นักวิเคราะห์บางรายเสนอแนะว่า จากการมีดีลทำนองนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงพูดจาในเรื่องเกี่ยวกับความหยุ่นตัวของฮ่องกงอาจจะมีมนตร์ดึงดูดเงินทุนจากโพ้นทะเลเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้ พวกนักลงทุนมีความโน้มเอียงที่จะทำ “ชอร์ต” ดัชนีหุ้นหั่งเส็ง ตัวอย่างเช่นในการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม มีรายงานว่าปริมาณ short-selling อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 20 ปี และมีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 21% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดทีเดียว
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นหั่งเส็งในเวลานี้เมื่อวัดกันบนพื้นฐานของอัตราส่วนราคาต่อกำไร (price-to-earnings) แล้ว มีราคาถูกกว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 โดยหากคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ถูกกว่ากันถึงราว 50% อย่างที่พวกเพลเยอร์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นนั่นแหละ พวกที่กำลังวางเดิมพันข้างที่ว่าฮ่องกงจะรักษาเรื่องการตรึงค่าเงินตรากับดอลลาร์สหรัฐฯเอาไว้ไม่ได้นั้น น่าจะต้องผิดหวังไปตามๆ กัน
กระนั้น ยังคงมีเหตุผลเยอะแยะที่พวกผู้สนับสนุนและพวกนักลงทุนซึ่งเชียร์ฮ่องกง ควรที่จะรู้สึกกังวลใจ ไมเคิล เฮียสัน (Michael Hirson) นักวิเคราะห์ของ ยูเรเชีย กรุ๊ป (Eurasia Group) บอก ถึงแม้กระแสการประท้วงเมื่อปีที่แล้วถูกกระตุ้นจากร่างกฎหมายที่เปิดทางให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีน แต่มันก็มีรากเหง้าอยู่ในความไม่เท่าเทียมกันอย่างเรื้อรังและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของนครแห่งนี้เช่นกัน
ดัชนี Gini coefficient ซึ่งเป็นมาตรวัดในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้นั้น ของฮ่องกงเวลานี้อยู่ที่ 0.539 เกือบจะอยู่ในจุดสูงที่สุดในรอบ 45 ปีทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam12.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.oxfam.org.hk%2Fen%2Fnews_5577.aspx&data=02%7C01%7C%7Cf1813b3f9da44210227808d80e2107e5%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637274882309258789&sdata=VgV1C1jEzkjfs%2BQcqK7BC0zaSvtbxuvoOuuMewoL%2Bb8%3D&reserved=0) นี่ทำให้นครซึ่งขึ้นชื่อเรื่องตึกระฟ้าหรูหราและเจ้าพ่อมหาเศรษฐีที่มีเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจแห่งนี้ อยู่ตามหลังพวกประเทศเฉกเช่น กัวเตมาลา และ ปารากวัย ที่เป็น 2 ประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนของพวกเขา
“เพื่อนำตัวเองให้ออกจากปัญหาแย่ๆ เช่นนี้ ฮ่องกงจะต้องรื้อและสร้างโครงสร้าง (reinvent) ของตนเองขึ้นมาใหม่” มาร์แชล เมย์ส (Marshall Mays) ผู้อำนวยการของ อีเมอร์จิ้ง อัลฟา แอดไวเซอร์ส (Emerging Alpha Advisors) กล่าว
“ฮ่องกงจะต้องสร้างสัญญาทางสังคมขึ้นมาใหม่ในบ้านของตนเอง จะต้องเรียนรู้การพูดว่า ‘ไม่เอา’ กับเงินทองไม่ถูกต้องซึ่งมาจากแผ่นดินใหญ่ และจะต้องโฟกัสที่การเป็นสิ่งที่ตนเองได้เคยเป็นมาในอดีต นั่นคือ เป็นเมืองท่าเพื่อการค้าและการลงทุนที่มีประสิทธิผล –ในแง่ของเวลาที่ต้องใช้” เมย์ส บอก
พวกนักลงทุนนั้นมองความขัดแย้งกันอันมากมายของฮ่องกงในแบบแยกส่วนกันมานานแล้ว พวกที่มีความศรัทธาแรงกล้าในเรื่องตลาดเสรีอย่างเช่น มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) กลับยินดีมองข้ามพวกความไม่เสรีทั้งหลายของฮ่องกง อย่างเช่น สกุลเงินตราที่ผูกตรึงกับดอลลาร์สหรัฐฯ, ตลาดอสังหาริมทรัพย์แบบผูกขาดโดยคนกลุ่มน้อย, สวนสนุกของดิสนีย์แห่งเดียวในโลกที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ, และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้นำของฮ่องกงนั้นคัดเลือกขึ้นมาโดยปักกิ่ง โดยยังคงยินดีประทับตราให้ดินแดนแห่งนี้ว่า เป็น “ระบบเศรษฐกิจที่เสรีที่สุดบนพื้นพิภพนี้”
มนตร์เสน่ห์ที่ยั่งยืนของฮ่องกง ไม่ว่าเวลานี้หรือในอดีตกาล ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการเล่นได้อย่างพลิกแพลงและสร้างความราบรื่นให้แก่ความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ แต่มันมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า พวกผู้นำและหน่วยงานกำกับตรวจสอบของฮ่องกงจะสามารถสร้างความสมดุลขึ้นมา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกที่คอยปฏิเสธคอยทำนายให้นครแห่งนี้ถึงแก่ความตายอย่างเรื้อรังแก้ไม่หายนั้น จะยังคงเป็นฝ่ายผิดอีกคำรบหนึ่ง