สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เผยตลาดการเงินยังผันผวน จับตาทีมเศรษฐกิจใหม่ คาดแนวโน้มบาทแข็ง กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ 0.25%ในเดือนสิงหาคมนี้ เผยโจทย์ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องรับช่วงเร็ว-สานต่อนโยบายต่อเนื่อง
นายทิม ลีฬหะพันธ์ุ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปีน่าจะยังอยู่ในภาวะผันผวน ขณะที่ภูมิภาคเอเชียเริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาหลังสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของไทย 5 เดือนแรกของปี 2563 มีเงินทุนออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิราว 1.3 แสนล้านบาท แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีเงินทุนกลับเข้ามาในตลาดสุทธิประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
"ตลาดการเงินไทยยังคงมีความผันผวนโดยเฉพาะตลาดพันธบัตร แต่คงไม่หนักเท่าในเดือนมีนาคม แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูคือในช่วงที่เหลือของปีมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอยู่ 5 แสนล้าน เฉพาะไตรมาส 3 มีถึง 3 แสนล้าน ต้องดูว่าการออกหุ้นกู้มารีไฟแนนซ์ดังกล่าวจะราบรื่นในต้นทุนที่เหมาะสมหรือไม่ รวมถึงกรณีการแก้ไขปัญหาของสายการบินแห่งชาติ และหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มีการเปิดให้เข้ามาของนักท่องเที่ยวในบางประเทศเข้ามาได้ ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น การว่างงานดีขึ้น ก็จะทำให้ความกังวลในปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคลายลง"
นอกจากนี้ ตลาดการเงินให้น้ำหนักประเด็นการเมือง และความต่อเนื่องของนโยบายการเงิน-การคลัง โดยหากต้องมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจในช่วงนี้ ต้องให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ ความต่อเนื่องในโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการ ECC โครงการขนส่งขนาดใหญ่ต่างๆ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มาตรการเดิมหมดอายุลงจะขาดช่วงไปนานหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ หรือการเยียวยาต่างไป และความต่อเนื่องของงบประมาณปี 2564 ที่อาจจะล่าช้าหากทีมเศรษฐกิจยังไม่ลงตัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วจากงบประมาณปีก่อนที่ล่าช้าไป 4-5 เดือน
"ความท้าทายของทีมเศรษฐกิจใหม่ไม่ใช่เรื่องของชื่อ แต่เป็นเรื่องของการรับช่วงต่อได้เร็ว และความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ เพราะขณะนี้เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ และทีมเดิมที่ ดร.สมคิด ทำไว้ค่อนข้างดีอยู่แล้วทั้งนโยบายใหญ่ๆ อย่าง ECC ที่นักลงทุนต่างชาติพอใจและการเยียวยาต่างๆ รวมโครงการที่จะทำต่อไปอย่างการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น"
สำหรับทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากเงินทุนที่เริ่มกลับเข้ามาที่ตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย แต่ต้องติดตามดูว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดเอเชียนี้มีความต่อเนื่องเพียงใด ซึ่งหากมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และหากไทยสามารถกลับมาเปิดภาคท่องเที่ยวอีกครั้งได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาทยิ่งขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจจะแข็งค่ากว่านั้นที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งไปอยู่ 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการคลังในช่วงเปลี่ยนถ่ายทีมเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจไทยหดตัวในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อในปียังติดลบ โดยคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ -1% ปีหน้าอยู่ที่ 1% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท.
ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดยังคงมุมมองการเติบโตของจีดีพีปีนี้ที่ -5% โดยในไตรมาส 2 เป็นช่วงที่ติดลบต่ำสุดที่ -13% ไตรมาส 3 ที่ -1% และไตรมาส 4 ที่ 0%
**เผยคำถามนักลงทุนถึงผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่**
นายทิม กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนต่างๆ ในประเด็นคำถามที่อยากฟังจากผู้ว่าฯ ธปท.พบว่า ประเด็นแรกอยากได้ความชัดเจนในการทำ QE และการคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร รวมถึงประเด็นการแยกการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและราคาทองคำไม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะทำได้หรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่อัตราดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ