xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: “ทรัมป์” ฮึ่มจะให้เพิกถอนบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ แต่สถาบันวิจัยชื่อดังบอกทำอย่างนี้ “ไร้สาระ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังอยู่ในภาวะเลวร้ายที่สุดในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และตลาดหลักทรัพย์ดูเหมือนกลายเป็นหนึ่งในแนวรบล่าสุดซึ่งกำลังถูกใช้เป็นสมรภูมิประลองกำลังกัน ในความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจใหญ่ทั้งสอง

เมื่อเดือนพฤษภาคม วุฒิสภาสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะห้ามปรามไม่ให้บริษัทจีนจำนวนมากจดทะเบียนซื้อขายหุ้นของพวกตนในตลาดสหรัฐฯ

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ข่มขู่อีกคำรบหนึ่งว่า “การหย่าร้างแยกขาดจากจีนอย่างสมบูรณ์” ยังคงเป็นทางเลือกด้านนโยบายทางเลือกหนึ่งของคณะบริหารของเขา ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังเร่งเร้าให้พวกสมาชิกรัฐสภาเสาะหาวิธีการต่างๆ ในการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นต่อพวกบริษัทแดนมังกร ซึ่งนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) ใช้อักษรย่อว่า PIIE สถาบันคลังสมองชื่อดังด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาฉบับหนึ่งที่มีข้อสรุปว่า การเพิกถอนพวกบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เป็น “ความเคลื่อนไหวที่ไร้ความหมาย” เนื่องจากมันไม่ได้ส่งผลให้กิจการแดนมังกรเหล่านี้ถูกปิดกั้น ไม่อาจเข้าถึงตลาดทุนอเมริกันได้ ตลอดจนไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่การเติบโตขยายตัวของจีน

รายงานของ PIIE ฉบับนี้ซึ่งเขียนโดย นิโคลัส ลาร์ดี (Nicholas Lardy) และ เทียนเล่ย หวง (Tianlei Huang) ระบุว่า พวกบริษัทจีนยังคงมีหนทางมากมายในการหาเงินทุนจากพวกนักลงทุนอเมริกัน เป็นต้นว่า ผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาด (private equity) ตลอดจนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

“จุดที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่สุด ตลาดสำหรับเงินทุนนั้น มีลักษณะเป็นตลาดระดับโลก การปิดไม่ให้พวกกิจการของจีนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จะไม่ใช่เป็นการปิดกั้นปฏิเสธไม่ให้กิจการเหล่านี้เข้าถึงเงินทุนสหรัฐฯได้เลย” ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ระบุ

ปัจจุบันมีบริษัทจีนประมาณ 230 แห่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นแนสแดค และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก รายงานฉบับนี้ชี้ โดยที่มีมูลคาตามตลาดหุ้นรวมเท่ากับประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์

ในความเป็นจริงแล้ว แม้ไม่ต้องรอให้ทางการออกกฎเกณฑ์บังคับให้เพิกถอนบริษัทจีนเหล่านี้ออกจากตลาดหุ้นอเมริกัน ก็มีพวกกิจการลงทุนนอกตลาดของสหรัฐฯ เข้าเทกโอเวอร์และนำบริษัทจีนจดทะเบียนเหล่านี้ออกจากตลาดกันอยู่แล้ว ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้ วอร์เบิร์ก พินคัส และ เจเนอรัล แอตแลนติก เป็นผู้นำในการทำดีลเพื่อเข้าซื้อหาและนำเอา 58.com กิจการเทคโนโลยีของจีนออกมาจากตลาด รายงานของ PIIE ชี้

นอกจากนั้น พวกบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯอยู่แล้ว กำลังหาทางเข้าไปจดทะเบียนเป็นตลาดที่สองในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง --ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินและทางธุรกิจในเอเชียที่เปิดกว้างให้แก่เหล่านักลงทุนระหว่างประเทศ ยังกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายงานฉบับนี้บอก

ทั้งนี้ พวกบริษัทจีนซึ่งเพิ่งเสนอขายหุ้นของตนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งที่สอง (secondary offerings) ในฮ่องกง มีทั้งเพลเยอร์เทคโนโลยีรายบิ๊ก อย่างเช่น อาลีบาบา, เจดี.คอม และ เน็ตอิส รวมอยู่ด้วย

ถ้าสหรัฐฯห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้จดทะเบียนในอเมริกาอีกต่อไป “พวกนักลงทุนระดับสถาบันของสหรัฐฯ และพวกผู้พำนักอาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งต้องการเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ก็เพียงแค่ซื้อหามันในฮ่องกงเท่านั้นเอง ทำนองเดียวกัน พวกนักลงทุนต่างประเทศซึ่งได้ลงทุนในบริษัทจีนเหล่านี้เอาไว้โดยผ่านการซื้อขายในตลาดทางนิวยอร์ก ก็จะไปซื้อมันในฮ่องกงเท่านั้นเอง” รายงานฉบับนี้บอก


การหย่าร้างแยกขาดทางการเงิน “ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้”

ความยากลำบากที่จะตัดพวกบริษัทจีนให้ขาดออกจากบรรดานักลงทุนสหรัฐฯอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก 2 รายนี้ มีการพึ่งพาอาศัยกันอย่างแนบแน่นกันถึงขนาดไหน

การบูรณาการเช่นนี้ดูน่าที่จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน ถึงแม้คำพูดเตือนของทรัมป์เมื่อเดือนที่แล้วในเรื่องที่ว่า “การหย่าร้างแยกขาดจากจีนอย่างสมบูรณ์” ยังคงเป็นทางเลือกด้านนโยบายประการหนึ่งของเขา รายงานของ PIIE บอก

พวกสถาบันการเงินสหรัฐฯยังคงกำลังเพิ่มการปรากฏตัวของพวกเขาในประเทศจีน โดยที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของแดนมังกรเองก็กำลังค่อยๆ ผ่อนผันกฎระเบียบในเรื่องกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ PIIE ได้ยกตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่บริษัทอเมริกันกำลังฉวยใช้ประโยชน์จากการที่จีนกำลังเปิดภาคการเงินของตนมากขึ้น อาทิ:

**ในเดือนมีนาคม 2020 โกลด์แมน แซคส์ ได้รับอนุญาตให้เพิ่มหุ้นของตนใน โกลด์แมน แซคส์ เกา หัว ซีเคียวริตีส์ บริษัทหลักทรัพย์ร่วมลงทุนของตนในแดนมังกร จาก 33% เป็น 51%

**ในเวลาเดียวกัน มอร์แกน สแตนลีย์ ก็ได้รับอนุมัติทำนองเดียวกันให้เพิ่มหุ้นของตนในบริษัทหลักทรัพย์ร่วมลงทุน มอร์แกน สแตนลีย์ หัวซิน ซีเคียวริตีส์ จาก 49% เป็น 51%

**เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง อเมริกัน เอ็กซ์เพรส ได้รับอนุญาตให้เป็นบริษัทบัตรเครดิตต่างประเทศรายแรกที่สามารถเปิดดำเนินกิจการแบบออนชอร์ในจีนได้ โดยผ่านกิจการร่วมลงทุนแห่งหนึ่ง

พัฒนาการเหล่านี้จะทำให้การหย่าร้างแยกขาดในทางการเงินระหว่างสหรัฐฯกับจีน “ยิ่งไม่น่าที่จะทำได้ เพิ่มมากขึ้นไปอีก” ผู้เขียนรายงานของ PIIE บอก

ถึงแม้พวกที่เรียกร้องต้องการให้สหรัฐฯหย่าร้างแยกขาดออกจากจีน พากัน “จุดพลุดอกไม้ไฟ” เฉลิมฉลองชัยชนะในเรื่องที่เวลานี้วอชิงตันตั้งเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายในด้านภาษีศุลกากรและการลงทุนต่อแดนมังกร แต่การบูรณาการจีนเข้าไปในตลาดการเงินระดับโลกก็ยังคงเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว รายงานนี้กล่าว

“อันที่จริง เมื่อดูจากมาตรวัดส่วนใหญ่แล้ว การบูรณาการนี้ดูเหมือนยิ่งเร่งตัวขึ้นอีกด้วยซ้ำในรอบปีที่แล้ว และพวกสถาบันการเงินที่ตั้งฐานในสหรัฐฯต่างกำลังเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อย่างแข็งขันกระตือรือร้น ทำให้การหย่าร้างแยกขาดจากกันในทางการเงินระหว่างสหรัฐฯกับจีนยิ่งเพิ่มความไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เข้าไปใหญ่”

(เก็บความและเพิ่มเติมจากเรื่อง Think tank explains why it’s ‘pointless’ to delist Chinese companies from U.S. stock markets ของ ซีเอ็นบีซี )
กำลังโหลดความคิดเห็น