เอเอฟพี – รัฐบาลออสเตรเลียระบุวันนี้ (2 ก.ค.) ว่ากำลังมีการพิจารณาอย่างยิ่งจริงว่าจะให้สถานที่พักพิงอันปลอดภัยแก่ชาวฮ่องกงที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน หลังจากจีนเริ่มบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่
นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ยอมรับว่าสถานการณ์ในฮ่องกงขณะนี้ “น่ากังวลอย่างยิ่ง” และรัฐบาลของเขากำลังพิจารณาข้อเสนอต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อเปิดรับพลเมืองจากอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า ออสเตรเลียจะเสนอให้ที่พักพิงปลอดภัย (safe haven) แก่ชาวฮ่องกงใช่หรือไม่ ผู้นำออสซี่ก็ตอบว่า “ใช่” และเผยว่าแผนดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะผ่านการอนุมัติ
“เราคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ และสอดคล้องกับความเป็นประชาชาติของเรา” มอร์ริสัน กล่าว
ก่อนหน้านี้ 1 วัน รัฐบาลอังกฤษก็ประกาศเปิดช่องทางใหม่ให้ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอังกฤษนอกราชอาณาจักร (British National Overseas – BNO) และครอบครัวสามารถย้ายมาพำนักในสหราชอาณาจักรได้ และมีโอกาสที่จะได้สัญชาติอังกฤษด้วย
ฮ่องกงเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งมีการส่งมอบคืนให้แก่จีนในปี 1997 โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าปักกิ่งจะต้องให้อำนาจปกครองตนเองขั้นสูงในทางตุลาการและกฎหมายต่อฮ่องกงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 50 ปี
อย่างไรก็ดี สถานะดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากที่รัฐสภาจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กับฮ่องกงในสัปดาห์นี้ ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นการละเมิดหลักการปกครอง “หนึ่งประเทศ-สองระบบ” ที่กลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการในปี 1984
สถานทูตจีนประจำกรุงแคนเบอร์ราออกมาปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายใหม่ในวันนี้ (2) พร้อมทั้งเรียกร้องให้ออสเตรเลีย “หยุดแทรกแซงกิจการฮ่องกง และกิจการภายในของจีน”
นายกฯ มอร์ริสัน ยอมรับว่า รัฐบาลยังไม่ได้สรุปแนวทางการให้ที่พักพิงแก่ชาวฮ่องกง แต่ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ข้อเสนอของออสเตรเลียอาจทำให้ความสัมพันธ์แคนเบอร์รา-ปักกิ่งเลวร้ายลงไปอีก หลังจากที่เคยมีข้อพิพาทกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน
รัฐบาลออสซี่เรียกร้องให้ประชาคมโลกสอบสวนหาต้นตอของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จนทำให้ เฉิง จิ่งเย่ (Cheng Jingye) เอกอัครราชทูตจีนประจำออสเตรเลีย ตอบโต้ด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคชาวจีนบอยค็อตต์เนื้อวัว, ไวน์ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย
ทางการออสซี่ยังกล่าวหาจีนว่ามีพฤติกรรมขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ (economic coercion) และใช้บริษัทเทคโนโลยีอย่าง หัวเว่ย เป็นเครื่องมือสอดแนมและต่อรองทางการเมือง