รอยเตอร์ – ผลสำรวจล่าสุดชี้กระแสสนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมีแนวโน้มลดลง หลังจากที่จีนเตรียมนำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาบังคับใช้
การประท้วงในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจะเปิดทางให้มีการส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายในเดือน มิ.ย. เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงได้ยกระดับข้อเรียกร้องไปสู่การปฏิรูปการเมืองเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และเกิดเหตุปะทะรุนแรงกับตำรวจ
แม้จะมีกิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงนี้ ทว่าผู้เข้าร่วมกลับลดน้อยลงมาก เนื่องจากจีนประกาศแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงซึ่งทำให้รัฐบาลต่างชาติและนักเคลื่อนไหวในฮ่องกงต่างรู้สึกกังวล
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยความคิดเห็นสาธารณะแห่งฮ่องกง (Hong Kong Public Opinion Research Institute) ระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย. ที่ผ่านมาพบว่า ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” ที่จีนจะนำกฎหมายความมั่นคงมาใช้กับเกาะศูนย์กลางธุรกิจแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าชาวฮ่องกงที่สนับสนุนการชุมนุมประท้วงลดลงเหลือแค่ 51% จากเดิมที่เคยสูงถึง 58% ในโพลเดือน มี.ค. ส่วนผู้ที่ตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการประท้วงก็เพิ่มขึ้นจาก 28% กลายเป็น 34%
“มันอาจเป็นผลทางจิตวิทยาด้วย เนื่องจากชาวฮ่องกงเห็นว่าปักกิ่งเริ่มกันมาใช้มาตรการขั้นรุนแรงมากขึ้น” หมิง ซิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์จาก Hong Kong University of Science and Technology ระบุ
“ถ้าคุณเอาแต่ยืนกราน (ข้อเรียกร้อง) มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร” เขาให้ความเห็น
สถานการณ์ในพื้นที่ก็สะท้อนให้เห็นถึงกระแสต่อต้านจีนที่เริ่มซาลง โดยการชุมนุมที่จัดขึ้นตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่ร้อย และไม่นานก็สลายตัวกันไป ขณะที่ตำรวจฮ่องกงก็อ้างสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ห้ามประชาชนรวมตัว และมีผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนคำสั่งถูกจับไปแล้วหลายราย
สัปดาห์ที่แล้ว สหภาพแรงงานและกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่สามารถระดมมวลชนได้มากพอที่จะนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคง
แนวโน้มที่เปลี่ยนไปนี้มาจากกลุ่มคนที่มีความเห็นสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยผลสำรวจพบว่าผู้ที่สนับสนุนการประท้วงอย่างแข็งขันลดลงจาก 40% เหลือเพียง 34% และผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 28% ส่วนคนที่ตอบว่า “ค่อนข้าง” สนับสนุนหรือคัดค้านยังมีจำนวนเท่าเดิม
ข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ประท้วงก็ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยลงเช่นกัน โดยประเด็นการขอให้ตั้งคณะสืบสวนอิสระตรวจสอบกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงมีผู้สนับสนุนลดลง 10 จุดเหลือเพียง 66%, การขอให้จัดเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) ลดลงจาก 68% เหลือ 61% และข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารสูงสุด แคร์รี ลัม ลาออกลดลงจาก 63% เหลือ 57%
ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 21%
แม้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จะยังร่างไม่เสร็จ แต่จากเนื้อหาสำคัญๆ ที่เผยแพร่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่า มันจะเปิดทางให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบังคับใช้และตีความอย่างไรก็ได้
ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบคำถามชาวฮ่องกง 49% ไม่เห็นด้วยกับแผนของปักกิ่ง และ 7% ตอบว่า “ค่อนข้าง” ไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือบอกว่ารู้สึกเฉยๆ หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ
สำหรับประเด็นการเรียกร้องเอกราชฮ่องกงนั้นยังมีผู้สนับสนุนคงเดิมที่ 21% แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นเพิ่มขึ้นจาก 56% เป็น 60%