รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ทีมทนายของ เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ หยิบยกข้อโต้แย้งใหม่ขึ้นมาแสดงต่อศาลสูงสุดรัฐบริติชโคลัมเบีย ของแคนาดา เพื่อคัดค้านการส่งตัวเธอไปดำเนินคดีฐานฉ้อโกงธนาคารในสหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น ทีมทนายของเธอยังกล่าวหาตำรวจแคนาดา และเจ้าหน้าที่ชายแดนของแคนาดา ว่า สมรู้ร่วมคิดกับเอฟบีไอ ทำให้มีการใช้อำนาจอย่างมิชอบในกระบวนการจับกุมตัวเธอตามหมายจับของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.) ตลอดจนคำแถลงของฝ่ายทนายจำเลยต่อศาลในวันเดียวกัน
ทีมทนายของ เมิ่ง โต้แย้งว่า คำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่สหรัฐฯ ส่งให้แคนาดานั้น “เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ทั้งโดยเจตนาและด้วยความหละหลวม” ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเธอ
เมิ่ง วัย 48 ปี ถูกตำรวจแคนาดาจับกุมที่สนามบินเมืองแวนคูเวอร์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ปี 2018 ตามการร้องขอของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศตั้งข้อหาเอาผิดเธอฐานฉ้อโกงสถาบันการเงิน และสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ธนาคาร เอชเอสบีซี โฮลดิง พีซีแอล เกี่ยวกับธุรกิจของหัวเว่ยในอิหร่าน
เมิ่ง ซึ่งเป็นบุตรสาวของ เหริน เจิ้งเฟย มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาณาจักรหัวเว่ย ยืนยันว่า เธอเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ยินยอมถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐฯ
การจับกุม เมิ่ง หว่านโจว ยังส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และแคนาดาเลวร้ายลง
หลักฐานสำคัญที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเอาผิด เมิ่ง ก็คือ ไฟล์ powerpoint ที่ เมิ่ง นำเสนอต่อนายธนาคารเอชเอสบีซีคนหนึ่งในฮ่องกงเมื่อปี 2013 โดยในการนำเสนอดังกล่าว เมิ่ง ระบุชัดเจนว่า บริษัท สกายคอม เทค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจในอิหร่านเป็น “หุ้นส่วนทางธุรกิจกับหัวเว่ย” ทว่า สหรัฐฯ กลับไปอธิบายว่าเป็น “บริษัทลูกอย่างไม่เป็นทางการ” ของหัวเว่ย
ทนายของ เมิ่ง โต้แย้งว่า อัยการสหรัฐฯ “มองข้าม” ข้อมูลที่ เมิ่ง เปิดเผยในพรีเซนเตชันเกี่ยวกับธุรกิจของหัวเว่ยในอิหร่าน และเรื่องที่สกายคอมทำงานร่วมกับหัวเว่ยในการจำหน่ายและให้บริการในอิหร่าน และเมื่อละเลยข้อมูลเหล่านี้ไป ข้อสรุปที่สหรัฐฯ ได้จากไฟล์ powerpoint ของ เมิ่ง จึง “คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก”
ทนายยังชี้ว่า การที่สหรัฐฯ ระบุว่า มีเพียง “พนักงานชั้นผู้น้อย” ในเอสเอชบีซีเท่านั้นที่ล่วงรู้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเว่ยกับสกายคอม เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหัวเว่ยเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเอสเอชบีซี จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจะไม่ทราบถึงความสัมพันธ์นี้
ทนายของ เมิ่ง ยืนยันด้วยว่า วงเงินกู้ 900 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ อ้างว่า เอชเอสบีซีอนุมัติให้หัวเว่ยนั้น “ไม่มีอยู่จริง” ในทางตรงกันข้าม หัวเว่ยมีวงเงินกู้รวม 1,600 ล้านดอลลาร์ อยู่กับธนาคาร 26 แห่ง และเครดิตที่ได้จากเอชเอสบีซีมีมูลค่าจำกัดไม่เกิน 80 ล้านดอลลาร์ ยิ่งไปกว่านั้นหัวเว่ยยังไม่เคยดึงวงเงินกู้ดังกล่าวมาใช้ กระทั่งมีการยกเลิกไปเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2017
ตำรวจแคนาดาสมคบคิดกับเอฟบีไอในการจับกุม ‘เมิ่ง’
ระหว่างการพิจารณาในศาลสูงสุดรัฐบริติชโคลัมเบียวันจันทร์ (12) เพื่อที่จะกำหนดตารางเวลาสำหรับการพิจารณาคดีที่สหรัฐฯขอให้ส่งตัว เมิ่ง ไปดำเนินคดีในอเมริกาคราวนี้ ทาง เดวิด มาร์ติน ทนายจำเลย ยังโต้แย้งด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่ของแคนาดาเจตนาชะลอการจับกุมตัวเธออย่างเป็นทางการเอาไว้หลายชั่วโมง ระหว่างที่ควบคุมเธอไว้ที่สนามบินเมืองแวนคูเวอร์ในเดือนธันวาคม 2018 ทั้งนี้ ก็เพื่อรวบรวมหลักฐานให้แก่สำนักงานสอบกลางกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ)
ในเอกสารซึ่งยื่นต่อศาล ฝ่ายจำเลยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็น “กลอุบายที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า” เพื่อเปิดทางให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแอบค้นหาพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเธอ โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นการตรวจสอบของศุลกากร
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายจำเลยยังให้การเอาไว้ว่า เอฟบีไอได้ขอให้นำเอาอุปกรณ์ต่างๆ ของเมิ่ง มาเก็บเอาไว้ในถุง “ปิดกั้นสัญญาณ” ซึ่งทางสำนักงานบริการด้านชายแดนแคนาดา (the Canada Border Services Agency) ก็สนองให้ตามคำขอ
นอกจากนั้น เอฟบีไอยังขอให้ฝ่ายแคนาดาบันทึกหมายเลขอิเล็กทรอนิก ซีเรียล นัมเบอร์ส (electronic serial numbers) และภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ของเมิ่งอีกด้วย
มาร์ตินเรียกการขอให้ส่งตัวเมิ่งของสหรัฐฯว่า เป็น “การใช้เขตอำนาจศาลแบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างมากมายเกินขอบเขต”
เขาชี้ไปที่บันทึกภายในฉบับหนี่งของสำนักงานข่าวกรองความมั่นคงแคนาดา (Canadian Security Intelligence Service หรือ CSIS) ซึ่งกล่าวว่า เอฟบีไอจะไม่ปรากฏตัวให้เห็นในการจับกุมเมิ่ง “เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรับรู้ความเข้าใจขึ้นว่าในเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพล” โดยเขาบอกว่านี่คือหลักฐานพิสูจน์ว่า CSIS นั้น “มีความสำนึกถึงความเกี่ยวข้องอย่างซ่อนเร้นของเอฟบีไอ”
ทั้งนี้ บันทึกภายในฉบับดังกล่าวในสภาพที่ถูกตัดข้อความออกไปเป็นจำนวนมาก ได้ถูกเผยแพร่ออกมาโดยศาลส่วนกลางแห่งหนึ่งของแคนาดาในวันศุกร์ (12)
ในบันทึกนี้ CSIS เตือนว่า การจับกุมเมิ่งจะกลายเป็น “เรื่องการเมืองอย่างสูง” และน่าที่จะ “ส่งคลื่นช็อกออกไปทั่วโลก”
นอกจากนั้นแล้ว แน่นอนที่ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็น “ประเด็นปัญหาทวิภาคีที่สำคัญประเด็นหนึ่ง” สำหรับแคนาดาและจีน บันทึกฉบับนี้บอก
ทางด้าน เฮทเธอร์ โฮล์มส ผู้ช่วยหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดรัฐบริติชโคลัมเบีย ระบุในการแถลงวันจันทร์ (15) ว่า เธอต้องการไต่สวนคำร้องของทางการสหรัฐฯ ให้แล้วเสร็จเสียก่อน จึงค่อยหันไปพิจารณาข้ออ้างของ เมิ่ง ที่ว่าเธอถูกละเมิดสิทธิระหว่างการจับกุม
เมื่อวันที่ 27 เดือนที่แล้ว ผู้พิพากษาของศาลสูงสุดรัฐบริติชโคลัมเบีย ได้อนุมัติให้การไต่สวนคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนดำเนินต่อไปได้ โดยปฏิเสธข้อโต้แย้งของทนายหัวเว่ยที่ว่า ข้อหาที่สหรัฐฯ จะเอาผิดกับ เมิ่ง นั้น ไม่ถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายแคนาดา
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของแคนาดาคือ “ความผิดกฎหมาย 2 ประเทศ” ซึ่งหมายความว่า การกระทำนั้นต้องเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งในแคนาดาและประเทศที่ร้องขอส่งตัวผู้ร้ายด้วย ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาตัดสินดังกล่าว จึงถือเป็นชัยชนะสำคัญของฝ่ายสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาคดีของศาลยังไม่ได้เสร็จสิ้นลง และทางฝ่ายหัวเว่ยก็ดูจะมีข้อโต้แย้งเพิ่มเติมอยู่มาก ผู้สังเกตการณ์จึงต่างเห็นว่า คดีนี้น่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีก
ในส่วนของปักกิ่ง เจ้า ลี่เจียน โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ ว่า บันทึกของ CSIS ฉบับดังกล่าว “แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า กรณี ของ เมิ่ง หว่านโจว ทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ร้ายแรง”
“มันพูดออกมาด้วยเสียงดังสนั่นเกี่ยวกับการคาดคำนวณทางการเมืองของสหรัฐฯ ด้วยเจตนาที่จะกำราบเล่นงานหัวเว่ย และบริษัทไฮเทคของจีนรายอื่นๆ” เจ้ากล่าว พร้อมกับพูดด้วยว่า แคนาดาได้ประพฤติตนเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” รายหนึ่ง
“เราขอเรียกร้องต่อแคนาดาอีกครั้งหนึ่ง ให้พิจารณาจุดยืนอันขึงขังและความกังวลห่วงใยของจีนอย่างจริงจัง ปลดปล่อย เมิ่ง ในทันที และรับประกันให้เธอสามารถกลับมายังประเทศจีนอย่างปลอดภัย และไม่ก้าวเดินต่อไปอีกในเส้นทางที่ผิดพลาด” เขากล่าว