เอเอฟพี – นักวิจัยยุโรปเผยชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ยังคงมุ่งมั่นยกระดับคลังแสงของตนให้ก้าวล้ำทันสมัย กระพือสถานการณ์ตึงเครียดและทำให้การรณรงค์ควบคุมอาวุธแลดู “สิ้นหวัง”
แชนนอน คีล จากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) และหนึ่งในผู้เรียบเรียงรายงาน ระบุว่า “การสูญเสียช่องทางสื่อสารหลักระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ อาจจะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธระลอกใหม่”
รัสเซียและสหรัฐฯ มีปริมาณคลังแสงนิวเคลียร์รวมกันกว่า 90% ของโลก
สิ่งที่ คีล อ้างถึงก็คือ สนธิสัญญาการลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (New START) ระหว่างวอชิงตันกับมอสโก ซึ่งเป็นข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เหลืออยู่เพียงฉบับเดียวระหว่าง 2 มหาอำนาจ โดยมุ่งจำกัดปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ให้ต่ำกว่าในยุคสงครามเย็น ทว่าข้อตกลงนี้กำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.พ. ปี 2021
“การเจรจาเพื่อต่ออายุ New START หรือการจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ไม่มีความคืบหน้าเลยในปี 2019” ทีมวิจัย SIPRI ระบุ
ขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาอาวุธของตนให้ทันสมัยยิ่งๆ ขึ้นไป และในส่วนของจีนและอินเดียยังสะสมอาวุธในคลังแสงเพิ่มขึ้นด้วย
“แผนพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์ของจีนให้ทันสมัยนั้นเดินมาถึงครึ่งทางแล้ว นอกจากนี้พวกเขายังสร้างสิ่งที่เรียกว่ากลุ่ม 3 นิวเคลียร์ (nuclear triad) ขึ้นมาได้เป็นครั้งแรก ซึ่งหมายถึงขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ยิงจากภาคพื้นดิน, ขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ยิงจากทะเล และเครื่องบินที่สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทางอากาศ”
จีนยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ปักกิ่งเข้าร่วมเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยของ SIPRI พบว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลดลงในปีที่แล้ว โดยในช่วงต้นปี 2020 สหรัฐฯ, รัสเซีย, อังกฤษ, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, อิสราเอล และเกาหลีเหนือ มีหัวรบนิวเคลียร์รวมกัน 13,400 หัวรบ ลดลง 465 หัวรบจากสถิติปี 2019 ซึ่งตัวเลขที่ลดลงนี้มาจากฝั่งสหรัฐฯ และรัสเซียเป็นส่วนใหญ่
แม้สหรัฐฯ และรัสเซียจะยังคงปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญา New START ดังจะเห็นได้จากปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ประเทศในปี 2019 ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่ระบุไว้ในข้อตกลง แต่ถึงกระนั้น SIPRI ก็พบว่า ทั้ง 2 ชาติยังมีการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์, ขีปนาวุธและระบบยิงจากเครื่องบิน ตลอดจนโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
สำหรับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation of Nuclear Weapons - NPT) ซึ่งถือเป็นเสาหลักของการรณรงค์ไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ทั่วโลกกำลังจะมีอายุครบ 50 ปีในปีนี้
หัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยมีมากที่สุดเกือบ 70,000 หัวรบในช่วงทศวรรษ 1980