รอยเตอร์ - การรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยอย่างแพร่หลาย มีส่วนช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอาจป้องกันการแพร่ระบาดระลอกสอง เมื่อใช้ร่วมกับมาตรการล็อกดาวน์ ผลวิจัยในอังกฤษเผยวันนี้ (10 มิ.ย.)
งานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ มหาวิทยาลัยกรีนิช พบว่า คำสั่งล็อกดาวน์เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถยับยั้งการระบาดซ้ำของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 แต่หากประชาชนพร้อมใจกันสวมหน้ากากในที่สาธารณะ จะทำให้อัตราการแพร่เชื้อลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะเป็นแค่หน้ากากโฮมเมดก็ตาม
“งานวิจัยของเราให้ผลลัพธ์ที่สนับสนุนนโยบายสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ซึ่งทั่วโลกกำลังใช้อยู่ในตอนนี้” ริชาร์ด สตัตต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุ
ทีมนักวิจัยพบว่า การสวมหน้ากากอย่างแพร่หลาย บวกกับการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน “เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยควบคุมโรคระบาดใหญ่ และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้” ระหว่างที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19
นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบโมเดลการแพร่เชื้อในกลุ่มประชากรเพื่อคำนวณหาค่า R (reproduction number) ซึ่งหมายถึงจำนวนคนโดยเฉลี่ยที่ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งจะสามารถแพร่เชื้อให้ได้ และพบว่า หากประชากรส่วนใหญ่สวมหน้ากากในที่สาธารณะจะสามารถลดค่า R ลงได้เป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับการสวมหน้ากากหลังแสดงอาการป่วยแล้ว
งานวิจัยยังพบด้วยว่า ในทุกๆ ฉากทัศน์ (scenarios) ที่ทำการศึกษา หากประชากรเกิน 50% ขึ้นไปสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้านจะช่วยให้ค่า R ลดลงต่ำกว่า 1.0 ซึ่งป้องกันความเสี่ยงที่เชื้อจะกลับมาระบาดซ้ำ และเปิดโอกาสให้รัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้
ผลการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the Royal Society A
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5) ให้รัฐบาลทั่วโลกส่งเสริมประชาชนสวมหน้ากากผ้าในที่สาธารณะ เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อโควิด-19