xs
xsm
sm
md
lg

WHO เตือนโควิด-19 ยังห่างไกลจากจุดจบ ยอดติดเชื้อรายวันทั่วโลกทุบสถิติสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำสถิติเป็นวันที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด ในขณะที่สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกเลวร้ายลงและยังไม่ถึงจุดพีกสุดในอเมริกากลาง จากคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันจันทร์ (8 มิ.ย.) พร้อมเรียกร้องประเทศต่างๆ เดินหน้าความพยายามควบคุมไวรัส

“นานกว่า 6 เดือนของโรคระบาดใหญ่ แต่นี่ยังไม่ใชเวลาสำหรับประเทศไหนๆ ที่จะยกเท้าออกจากคันเร่ง” เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างแถลงข่าวทางออนไลน์

ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 136,000 คนเมื่อวันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) ถือเป็นตัวเลขรายวันสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เขากล่าว พร้อมระบุว่าเกือบ 75% ในนั้นอยู่ใน 10 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกา และเอเชียใต้

ในการตอบคำถามเกี่ยวกับจีน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก บอกว่าต้องรอผลการศึกษาสืบค้นย้อนหลังว่ามันแพร่ระบาดได้อย่างไร “เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นในสิ่งที่เรากำลังทำในวันนี้ เพื่อป้องกันการสู่จุดพีกสูงระลอกสอง”

ไรอันบอกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ ในอเมริกากลาง ในนั้นรวมถึงกัวเตมาลา ยังคงเพิ่มขึ้นและยอมรับว่ามันเป็นโรคระบาดใหญ่ที่ซับซ้อนมาก “ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาแห่งความกังวลใหญ่หลวง” เขากล่าวพร้อมเรียกร้องขอให้ผู้นำรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งและขอแรงสนับสนุนนานาชาติต่อภูมิภาคดังกล่าว

เวลานี้บราซิลเป็นหนึ่งในจุดร้อนของโรคระบาด รั้งอันดับ 2 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกรองจากสหรัฐฯ และยอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าอิตาลี รั้งอันดับ 3 ของโลก ต่อจากอเมริกา และสหราชอาณาจักร

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขบราซิลถอดตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ออกจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขแดนแซมบ้าก็ก่อความสับสนและข้อถกเถียงมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเผยแพร่ชุดข้อมูลล่าสุด 2 ชุดเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสี่ยชีวิตที่มีความขัดแย้งกัน

ไรอันบอกว่า จนถึงตอนนี้ข้อมูลของบราซิลมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญสำหรับชาวบราซิลคือการตระหนักว่าไวรัสอยู่แห่งหนใดและเข้าใจถึงแนวทางจัดการกับความเสี่ยง ขณะที่ทางองค์อนามัยโลกเองแสดงความหวังว่าจะมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส

ด้าน มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาแห่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่าแนวทางที่ครอบคลุมเป็นสิ่งจำเป็นในอเมริกาใต้ “มันห่างไกลจากจุดจบ” เธอกล่าว ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดทะลุ 7 ล้านคน และเสียชีวิตเกิน 4 แสนคน

เมื่อถูกถามกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ แถลงเมื่อ 10 วันก่อนว่าจะตัดขาดความสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลก ไรอันยอมรับว่า องค์การอนามัยโลกต้องพึ่งพาพวกผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ “เราจะเดินหน้าในสิ่งที่เราทำจนกระทั่งเราได้รับคำสั่งหรือข่าวสารเป็นอย่างอื่น”


กำลังโหลดความคิดเห็น