xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้มเหตุจลาจลเหยียดผิวครั้งใหญ่คราวก่อนในอเมริกา ย้อนรอยกลุ่ม‘เกาหลี ยอดตึก’ จับปืนสู้พวกอันธพาลปล้นชิง

เผยแพร่:   โดย: คริสตินา ลิน


ชายผู้หนึ่งพยายามลากรถยนต์ซึ่งยังไม่เสียหายไปยังพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่รถยนต์คันอื่นๆ ถูกไฟเผาผลาญ ณ โรงรถท้องถิ่นแห่งหนึ่งในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ระหว่างการประท้วงการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งลุกลามบานปลายกลายเป็นความรุนแรง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

‘When looting starts, shooting starts’
by Christina Lin
30/05/2020

เหตุการณ์จลาจลในเมืองมินนิอาโปลิสและตามที่อื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ ภายหลังตำรวจสังหารโหดชายไร้อาวุธผิวดำ ทำให้เรื่องการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วกลายเป็นแค่ “เรื่องเด็กๆ” ไปเลย แต่กระนั้น มันก็กลับเป็นสิ่งคุ้นเคยบนเส้นทางเดินของสหรัฐอเมริกาเอง

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั่วโลกพากันสยดสยองที่ได้ชมคลิปวิดีโอเหตุการณ์ฆาตกรรม จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) อย่างเลือดเย็น เมื่อ ดีเรค ชอวิน (Derek Chauvin) ตำรวจเมืองมินนิอาโปลิส ใช้เข่าของเขากดทับลำคอของฟลอยด์ซึ่งนอนอยู่ที่พื้นถนนเอาไว้ และค่อยๆ ทำให้เขาหายใจไม่ออกจนกระทั่งเสียชีวิตไป หลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกมาไม่นาน ชอวินก็ถูกไล่ออกและถูกตั้งข้อหา

ความรู้สึกโกรธเกรี้ยวของผู้คนต่อความทารุณโหดเหี้ยมของตำรวจและลัทธิเหยียดผิวได้ระเบิดออกมากลายเป็นการประท้วงอย่างรุนแรงและการก่อจลาจลในมินนิอาโปลิส จากนั้นก็แพร่กระจายออกไปสู่ส่วนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ทำให้มีการเรียกระดมทหารจากกองกำลังป้องกันชาติ (เนชั่นแนลการ์ด) เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย

เรื่องเช่นนี้ชวนให้ย้อนระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่เมืองลอสแองเจลิสในปี 1992 [1] ซึ่งมีชนวนเหตุจากการที่ตำรวจทุบตี ร็อดนีย์ คิง (Rodney King) อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ในตอนนั้นหลายๆ ส่วนของเมืองนี้ถูกจุดไฟเผาและร้านรวงถูกปล้นชิงข้าวของ ซึ่งก็ทำให้มีการเรียกทหารจากกองกำลังป้องกันชาติเข้ามาดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนเช่นเดียวกัน

ความเสียหายจากการจลาจลที่แอลเอครั้งนั้นได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่มีอาคารมากกว่า 1,000 แห่ง [2] ได้รับความเสียหายหรือกระทั่งถูกทำลายยับเยิน และประมาณกันว่าธุรกิจที่ดำเนินการโดยชาวเกาหลีราว 2,000 แห่ง [3] ก็ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายยับเยิน

ย่านโคเรียทาวน์ (Koreatown) ตกเป็นเป้าถูกพวกแก๊งอันธพาลและพวกก่อจลาจลแอลเอเล็งเอาไว้อย่างเจาะจงเพื่อเข้าปล้นชิงฉกฉวยหาประโยชน์ระหว่างที่เกิดความวุ่นวายโกลาหล ในสภาพที่เวลานั้นทั้งสำนักงานตำรวจลอสแองเจลิส (Los Angeles Police Department ใช้อักษรย่อว่า LAPD) และทหารกองกำลังป้องกันชาติต่างปฏิบัติภาระหน้าที่กันจนเกินกำลังอยู่แล้ว ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีเหล่านี้ [4] จึงถูกปล่อยทิ้งให้ต้องพิทักษ์ปกป้องพวกเขากันเอง

แล้วพวกเขาทำอะไรกันบ้าง?

พวกเขาจัดแจงใช้สิทธิของพวกเขาตามที่ระบุเอาไว้ในบทแก้ไขที่ 2 (Second Amendment) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ด้วยการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัคร (militia) ขึ้นมา จัดวางคนเข้ายึดที่มั่นเพื่อการป้องกันตัวตามต่างๆ ตามยอดตึกตามดาดฟ้าหลังคาอาคาร ตลอดจนบริเวณรอบๆ สถานที่ตั้งธุรกิจทั้งหลายของพวกเขา และกลายเป็นหน่วยที่มีชื่อเสียงในสมญานามว่า “Roof Koreans” (เกาหลี ยอดตึก)

และในฉากทัศน์ภาพสถานการณ์ทำนองเดียวกับสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิต [5] เอาไว้ในสัปดาห์นี้ ทันทีที่พวกแก๊งอันธพาลและพวกก่อจลาจลเริ่มบุกเข้ามาปล้นชิงข้าวของ สมาชิกของหน่วย รูฟ โคเรียนส์ ก็เริ่มต้นยิงใส่

ภาพถ่ายข้อความ 2 ข้อความเกี่ยวกับการประท้วงและการจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในเมืองมินนิอาโปลิส ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โพสต์ทางทวิตเตอร์ในวันที่ 29 พ.ค.  ทั้งนี้ข้อความที่ 2 (ด้านล่าง) ได้ถูกทวิตเตอร์ขึ้นคำเตือนว่ามีข้อความสรรเสริญความรุนแรง
เหตุปล้นชิงและยิงต่อสู้ในโคเรียทาวน์

ลองแองเจลิสกลายเป็นพื้นที่สงครามระหว่างเกิดการจลาจลปี 1992 และขณะที่ LAPD กับกองกำลังป้องกันชาติประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังคงอยู่ระหว่างการค้นหาว่าพวกเขาจะทำอะไรกันได้บ้างอยู่นั้น พลเมืองในพื้นที่ 150 ช่วงตึกของโคเรียทาวน์ก็ถูกปล่อยทิ้งละเลยโดยกองกำลังอาวุธเหล่านี้ซึ่งอ้างว่ามีภารกิจที่จะ “ปกป้องและรับใช้” พวกเขา



พวกเขาได้รับแจ้งให้ขนข้าวของต่างๆ ของพวกเขาและอพยพออกจากพื้นที่ไปเสีย และจำนวนมากซึ่งหลบหนีผละจากไปก็ได้พบในตอนหลังว่าธุรกิจของพวกเขาถูกเผาราบเรียบ

แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่ปฏิเสธไม่ยอมตกเป็นเหยื่อรับเคราะห์ และตัดสินใจที่จะอยู่ พวกเขาจับอาวุธขึ้นมาปกป้องทรัพย์สินของพวกเขา และ “ปกป้องและรับใช้” กันและกันภายในชุมนุมของพวกเขา

 “รูฟ โคเรียนส์” เมื่อปี 1992  ภาพจาก: https://imgur.com/gallery/463ZD

 “รูฟ โคเรียนส์” เมื่อปี 1992  ภาพจาก: : https://imgur.com/gallery/kjo3efv
ถึงแม้มีจำนวนน้อยกว่า [6] พวกก่อจลาจลที่ติดอาวุธ ซึ่งพยายามเข้าปล้นชิงข้าวของจากธุรกิจต่างๆ ของโคเรียทาวน์ แต่ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีเหล่านี้ก็ยังคงยืนหยัดรักษาที่มั่น—และยอดตึกลานดาดฟ้าของพวกเขาเอไว้ และเริ่มต้นยิงตอบโต้กลับไป

ชายเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเป็นทหารผ่านศึกที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ หรือไม่ก็เป็นอดีตทหารเกณฑ์ในกองทัพเกาหลีใต้ ทั้งนี้เกาหลีใต้กำหนดให้ชายทุกคนต้องรับราชการเป็นทหารเป็นเวลา 2 ปี –รวมทั้งชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีด้วย [7] — เนื่องจากภาวะขาดแคลนกำลังคน

อาวุธยุทโธปกรณ์ที่พวกเขามีอยู่ในครอบครอง สามารถสร้างตื่นตระหนกให้แก่ชาวแคลิฟอร์เนียธรรมดาๆ โดยเฉลี่ยในปี 1992 ได้ทีเดียว ตามคำบอกเล่าของ แอนดี้ วูล์ฟ (Andy Wolf) ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ “War Is Boring” [8] พวกเขามีทั้งพวกปืนเล็กยาวในรูปลักษณ์แบบปืนอาก้า (AK-pattern rifles), ปืนพกกล็อค 17 (Glock 17s) , ปืนเล็กยาวรูเกอร์ มินิ-14 (Ruger Mini-14s), ปืนเล็กสั้น เอสเคเอส (SKS carbines), ปืนเล็กยาวเออาร์-15 (AR-15s), ปืนพกอัตโนมัติเทค-9 (TEC-9s), ปืนพกอัตโนมัติในรูปลักษณ์แบบปืนกลมืออูซี่ (Uzi-pattern pistols), ปืนลูกซองเรมิงตัน 870 (Remington 870 shotguns), ปืนเล็กยาวแบบลูกเลื่อน (bolt-action rifles), ปืนพกลูกโม่ (revolvers), และปืนเล็กสั้นกึ่งอัตโนมัติ แดวู เค-1 ในรูปแบบแตกแขนงออกไปหลายหลาก (Daewoo K-1 semi-automatic variants) ซึ่งเป็นอาวุธของทหารเกาหลีใต้ในสมัยนั้น

มรดกของ “รูฟ โคเรียนส์”

เป็นเรื่องน่าเสียใจมาก ถึงแม้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าพวกชาวบ้านชาวเมืองในย่านโคเรียทาวน์ถูกทอดทิ้ง [9] โดยตำรวจ LAPD ที่ทำตัวเหนียมอายเหมือนแกะเชื่องๆ แต่สื่อมวลชนกลับเสนอข่าวเกี่ยวกับกองกำลัง “รูฟ โคเรียนส์” ในเชิงวิพากษ์โจมตี การกระทำของพวกเขาถูกเรียกว่าเป็น “การก่อกวนความสงบเรียบร้อย” รวมทั้งพวกเขายังถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ชาร์ลส์ วิตแมน (Charles Whitman) ชาวอเมริกันที่เป็นฆาตกรสังหารหมู่ซึ่งได้รับฉายาอันเหม็นโฉ่ว่า “นักล่าสังหารแห่งตึกสูงเทกซัส” (Texas Tower Sniper)

เรื่องที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือ เมื่อในที่สุดกำลังตำรวจ LAPD หวนกลับมาหลังจากสิ่งต่างๆ สงบเงียบลงเรียบร้อยแล้ว ตำรวจได้จับกุมคุมขังสมาชิกหน่วย “รูฟ โคเรียนส์” เอาไว้จำนวนมาก รวมทั้งยึดอาวุธต่างๆ ของพวกเขาไป [10]

การจลาจลแอลเอคราวนั้น กลายเป็นเสียงปลุกแบบโหดๆ [11] ให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีใต้ตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล นี่เป็นคำอธิบายของ เอดเวิร์ด แทฮัน ชาง (Edward Taehan Chang) อาจารย์ด้านชาติพันธุ์ศึกษา (ethnic studies) และเป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง (founding director) ศูนย์กลางยังโอ๊คคิมเพื่ออเมริกันเชื้อสายเกาหลีศึกษา (Young Oak Kim Center for Korean American Studies) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ศูนย์ริเวอร์ไซด์ (University of California, Riverside)

 ของที่ระลึก “รูฟ โคเรียนส์” ซึ่งมีผู้ทำออกมาจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากยังคงยกย่องชมเชยสมาชิก “รูฟ โคเรียนส์” ในเรื่องความกล้าหาญและความหยุ่นตัวระหว่างเกิดการโกลาหลอลหม่านครั้งนั้น และภาพของกลุ่มชายถืออาวุธบนดาดฟ้ายอดอาคารซูเปอร์มาร์เก็ต ก็กลายเป็นภาพหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูให้เป็นไอคอนอันคงทนถาวรของการจลาจลแอลเอปี 1992

มรดกของพวกเขายังคงเป็นที่รู้จักจดจำในหมู่คนเจเนอเรชั่นต่อมา อีกทั้งถูกนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าข้าวของที่ระลึก

เวลานี้ ขณะที่ชาวอเมริกันบางส่วนกำลังต้องจับอาวุธขึ้นมาพิทักษ์ป้องกันร้านรวงต่างๆ จากพวกปล้นชิงวิ่งราวในเมืองมินนิอาโปลิส เราสามารถได้ยินหนึ่งในพวกเขาเหล่านี้เอ่ยอ้างถึง “รูฟ โคเรียนส์” ระหว่างเกิดการจลาจลแอลเอ ณ นาที 1:09 ของคลิปวิดีโอที่โพสต์ไว้ข้างล่างนี้



ถ้าหากการจลาจลยังคงดำเนินต่อไปในมินนิอาโปลิสตลอดจนส่วนอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา ในสภาพที่กองกำลังบังคับใช้กฎหมายมีภารกิจล้นมือเกินกว่าจะแบกรับแล้ว มันก็จะไม่น่าประหลาดใจหรอกถ้าหากผู้คนเริ่มต้นมองเห็น “รูฟ โคเรียนส์” หน่วยใหม่ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย

เชิงอรรถ
[1] https://www.npr.org/2017/04/26/524744989/when-la-erupted-in-anger-a-look-back-at-the-rodney-king-riots
[2] http://www.npr.org/2012/04/29/151608071/after-l-a-riots-an-effort-to-rebuild-a-broken-city
[3] http://articles.latimes.com/2012/may/01/local/la-me-riot-koreans-20120501
[4] https://www.cnn.com/2017/04/28/us/la-riots-korean-americans/index.html
[5] https://twitter.com/realDonaldTrump/status/1266231100780744704
[6] https://www.latimes.com/local/lanow/la-me-ln-la-riots-unity-meeting-20170429-story.html
[7] https://asiatimes.com/2019/12/military-service-a-must-for-american-koreans/
[8] https://warisboring.com/the-legacy-of-the-roof-koreans-28-years-later/
[9] https://www.youtube.com/watch?v=OCYT9Hew9ZU
[10] https://www.theblaze.com/news/2017/05/01/korean-american-reveals-what-he-told-a-cop-who-confiscated-his-rifle-during-the-l-a-riots
[11] https://www.cnn.com/2017/04/28/us/la-riots-korean-americans/index.html
[12]

คริสตินา ลิน เป็นนักวิเคราะห์นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เธอมีประสบการณ์ในการทำงานกับรัฐบาลสหรัฐฯอย่างกว้างขวางในประเด็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติและประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยความสนใจของเธอในปัจจุบันโฟกัสที่เรื่องความสัมพันธ์จีน-ตะวันออกกลาง/เมดิเตอร์เรเนียน
กำลังโหลดความคิดเห็น