xs
xsm
sm
md
lg

9 นวัตกรรมการแพทย์จากวิกฤตโควิด-19 รองรับวิถีชีวิต New Normal

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบ 9 นวัตกรรมสุดล้ำ พลิกระบบการแพทย์ไทยหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมรับ New Normal โปรแกรม DDCcare ติดตาม-ประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ ระบบ TeleHealth บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ม.มหิดล เปิดตัว หุ่นยนต์ทิ้งขยะ-หุ่นยนต์ส่งอาหาร ด้าน รพ.ศิริราช พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนา Smart Hospital ขณะที่ 4 องค์กรชั้นนำ เซ็น MOU ร่วมพัฒนาโลจิสติกส์และ Big Data ด้านสาธารณสุข หวังลดความแออัดในการใช้บริการ

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นแนวรบกับไวรัสซึ่งมองไม่เห็น แต่สามารถเขย่าโลกให้สั่นสะเทือนมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขณะเดียวกัน ก็เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการคิดค้น “นวัตกรรมการแพทย์” เพื่อการบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal อีกด้วย

นวัตกรรมการแพทย์
จากข้อมูลพบว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้มีนวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ จากฝีมือของหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้มีนวัตกรรมการแพทย์ 9 ชิ้นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ "ชุดตรวจวินิจฉัยจากน้ำลาย" จากกการคิดค้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ความพิเศษของชุดตรวจดังกล่าวคือจะรู้ผลการตรวจภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้วยังช่วยลดความแออัดในการใช้ตู้ตรวจเชื้อและประหยัดอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ด้วย

ตามด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย "ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรค" ด้วยโปรแกรม DDCcare ซึ่งเป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องกักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อผู้ป่วยมีอาการ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ชิ้นต่อมาคือ “ระบบ MELB Platform” เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากการพัฒนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอุปกรณ์ทางแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาและป้องกันโควิด-19 และหน่วยงานที่ขอรับบริจาค







หุ่นยนต์เวสตี้ (Wastie)  หรือหุ่นยนต์เก็บขยะติดเชื้อ
ตามด้วย "ระบบ TeleHealth" หรือบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และภาคเอกชน โดยระบบดังกล่าวเป็นการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์ หรือการสื่อสารผ่านระบบ video conference ซึ่งผู้ป่วยและแพทย์สามารถเห็นหน้ากัน วิธีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถซักประวัติผู้ป่วย สั่งตรวจร่างกาย และประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล สามารถติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกล อีกทั้งหน่วยงานทางการแพทย์สามารถรับ-ส่งข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ ผลตรวจจากทางห้องปฏิบัติการ ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนไปให้แพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาผ่านทาง e-mail

“ระบบ Logistics” เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ระหว่างผู้ใช้และ supplies ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยการพัฒนาดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาการแจกจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งอุปกรณ์การแพทย์จากแหล่งผลิตและแหล่งรับบริจาคหลายแห่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ไม่สอดคล้องต่อความต้องการ บางแห่งได้รับของบางอย่างมากเกินไป ในขณะที่บางแห่งขาดแคลน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้พัฒนาระบบ Logistics ขึ้น

อีกทั้งยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนการให้บริการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้น 2 ตัว คือ “หุ่นยนต์เวสตี้” (Wastie) หรือหุ่นยนต์เก็บขยะติดเชื้อ และ “หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” (Foodie) หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย ซึ่งการนำหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวมาทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และช่วยลดภาระในการทำงาน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วมีเวลาไปให้บริการด้านอื่นมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลในเครือจะสามารถนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ได้ในเร็วๆ นี้

หุ่นยนต์ฟู้ดดี้ (Foodie) หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปริมาณขยะติดเชื้อจากหน้ากากและอุปกรณ์ในโรงพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทำให้ภาระงานหนักและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และโรคระบาดต่างๆ มีมากขึ้น การใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ AGV (Automated Guide Vehicle) จะสามารถรองรับงานหนักและงานเสี่ยงอันตรายด้วยระบบการทำงานขนส่งในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ AGV เข้าสู่งานบริการสาธารณสุข จะเสริมสร้างศักยภาพในการลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจปะทุระลอกใหม่ได้

ด้าน ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการเอจีวีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสำหรับงานบริการในสถานประกอบการสาธารณสุ กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตกรรมทั้ง 2 ชิ้น ว่า หุ่นยนต์เวสตี้ เก็บขยะติดเชื้อ ประกอบด้วย AGV แบบระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็ก และแขนกล (CoBot) สำหรับยกถังขยะโหลดขึ้น โดยมีระบบกล้อง Machine Vision ในการจำแนกประเภทวัตถุและตำแหน่ง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 500 กิโลกรัม โดยที่มีชุดตรวจจับที่ทำให้การเคลื่อนที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ เมื่อถึงจุดรับขยะ จะอ่านบาร์โค้ด แล้วยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ สามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ถึง 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาการหยุดชะงักของการบริการขนส่งจากปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรได้มากกว่า 50%

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนหุ่นยนต์ฟู้ดดี้ ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย จากการออกแบบกลไกอัตโนมัติให้ส่งถาดอาหารเข้าสู่จุดหมายแบบไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยลดการสัมผัสตรงกับผู้ป่วย โดยใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบ QR-Code Mapping สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 30-50 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ 8 เมตรต่อนาที จดจำพิกัดและคำสั่งตามที่บันทึกไว้ในแต่ละ QR-Code เน้นการขนส่งครั้งละมากๆ สามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ไปยังห้องผู้ป่วยได้ประมาณ 200 คนต่อวัน

นอกจากนั้น โรงพยาบาลในประเทศไทยยังพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ผลักดันให้เกิด Smart Hospital ตอบรับวิถีใหม่ New Normal อีกด้วย โดยโรงพยาบาลศิริราชได้พัฒนาจากรูปแบบการบริการสุขภาพดิจิทัล ด้วยนวัตกรรม 2 ตัว คือ “แอปพลิเคชัน Siriraj Connect” (ศิริราช คอนเน็ก) ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยฟีเจอร์ไฮไลต์แจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้าและเลื่อนนัดเองได้ การเช็กอินลงทะเบียนตรวจด้วยตนเองจากที่บ้านเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ สามารถเช็กคิวเจาะเลือดและรับยา ค้นหาและบันทึกข้อมูลยาได้ด้วยตนเองเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด

และ “เครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ” (Self-Payment Kiosk) เพื่อตอบรับสังคมไร้เงินสดโดยผู้ป่วยสามารถชำระค่ายาและค่ารักษาพยาบาลได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น คิวอาร์โค้ด บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือเงินสด เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการเอจีวีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสำหรับงานบริการในสถานประกอบการสาธารณสุข
นอกจากการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และรองรับนชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal แล้ว การพัฒนาบริการด้านสุขภาพให้ทันสมัยก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ 4 องค์กรซึ่งเป็นผู้นำระบบเฮลท์แคร์ของไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ได้ร่วมลงนาม MOU หรือข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์ เฟส 3 “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและ Big Data ด้านสาธารณสุข” เพื่อรองรับอนาคต New Normal ภูมิทัศน์ใหม่ด้านการแพทย์-สุขภาพและโลกที่เปลี่ยนแปลง หลัง COVID-19

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ว่า กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสละ 1 ปี ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 ระบบโลจิสติกส์และแสดงผลวิเคราะห์ด้านยา-เวชภัณฑ์ เฟสที่ 2 เป็นการพัฒนาแผนแม่บทสารสนเทศสาธารณสุข และขณะนี้กำลังดำเนินการ เฟสที่ 3 เชื่อมต่อ BI และ Big Data สาธารณสุขของประเทศไทย โดยมุ่งเป้าหมายยกระดับการสาธารณสุขของประเทศอย่างบูรณาการทั้งระบบ ตอบรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย  หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ประกอบด้วย 1) การพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงลึกด้านยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ทางยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (Business Intelligence : BI) 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานมากยิ่งขึ้น 3) พัฒนาระบบเชื่อมต่อโปรแกรมการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ (Material Management Information System : MMIS) กับระบบ BI 4) ศึกษาวิจัยและออกแบบเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคลังยาของโรงพยาบาลผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านสาธารณสุข

ขณะที่ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากดำเนินการโครงการดังกล่าวสำเร็จจะส่งผลดีต่อระดับประเทศ ประชาชนและหลายภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากการนำระบบไปใช้ โดยจะช่วยลดความแออัดในการใช้บริการที่โรงพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพของคลังยาและเวชภัณฑ์ ลดขั้นตอนและข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถดึงข้อมูลการจัดการยาและเวชภัณฑ์ มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ได้หลากหลาย เช่น การกระจายตัวของยาและเวชภัณฑ์ การวางแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการของโรงพยาบาล ช่วยบริหารงานคงคลังและระบบจัดซื้อในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการทำงานซ้ำซ้อน อีกทั้งประชาชนยังได้รับบริการที่รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น