xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : ‘นิวยอร์ก’ คิดหนักจะเปิดเมืองอีกครั้งยังไง ให้ธุรกิจเดินหน้าได้ขณะลดเสี่ยงไวรัสระบาดรอบ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พวกแบงก์กำลังพิจารณาอนุญาตให้ลูกจ้างพนักงานบางส่วนยังคงทำงานจากบ้านต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด รวมทั้งกำลังสับหลีกจัดกะทำงานให้แก่ผู้ที่ต้องเข้าออฟฟิศ ไม่ให้ต้องประดังเข้า/ออกงานพร้อมๆ กัน

ส่วนพวกโรงแรมก็กำลังพยายามหาวิธีการเปิดทางให้แขกผู้มาพัก เมื่อเดินทางมาถึงก็สามารถตรงเข้าห้องพักของพวกตนได้เลยโดยไม่ต้องผ่านพิธีการเซ็นชื่อที่โต๊ะรีเซปชั่น

นิวยอร์ก มหานครซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงทางการเงิน, ทางวัฒนธรรม และทางการท่องเที่ยวของสหรัฐอเมริกา –กำลังเตรียมตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วนสำหรับการกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ภายหลังต้องปิดเมืองเนื่องจากใวรัสโคโรนามาเป็นเวลากว่า 1 เดือน

“คำถามสุดฮิตในใจของคนจำนวนมากในเวลานี้ก็คือ ‘เมื่อไหร่เราจะได้กลับมาทำงานกันเสียที?’” เจน เฟรเซอร์ เจ้าหน้าที่ระดับท็อปหมายเลข 2 ของ ซิตี้กรุ๊ป (บริษัทแม่ของซิตี้แบงก์) บอก ตัวเธอได้รวบรวมจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยแบงเกอร์มือเก่าประสบการณ์สูง เพื่อจัดทำฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์อย่างอนุรักษนิยมแบบต่างๆ ขึ้นมา สำหรับการหวนกลับคืนสู่ “ภาวะปกติ” หรืออะไรที่ใกล้เคียงทำนองนั้น

พวกลูกจ้างพนักงานส่วนใหญ่ของซิตี้กรุ๊ปเวลานี้ทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งตัวซีอีโอ ไมเคิล คอร์แบต

ในกิจการที่เกี่ยวกับการค้าหลักทรัพย์ ซิตี้ทำคล้ายๆ กับพวกคู่แข่งทั้งหลาย นั่นคือ ไปตั้งเทอร์นิมอลคอมพิวเตอร์สำหรับเฝ้าดูตลาดให้แก่พวกเทรดเดอร์ถึงที่บ้านของคนเหล่านี้ ถึงแม้ยังมีเทรดเดอร์บางคนถูกส่งตัวไปทำงานยังสถานที่จัดเตรียมเป็นพิเศษมีมาตรการกวดขันป้องกันการติดเชื้อด้วย

ทางแบงก์คาดการณ์ว่า ลูกจ้างพนักงานบางคนจะรู้สึกลังเลที่ต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศ โดยที่ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

สำหรับลูกจ้างพนักงานเหล่านี้ “เราต้องการทำอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เพื่อให้พวกเขามีความยืดหยุ่นที่จะทำงานจากทางไกลต่อไป” เฟรเซอร์ บอก

ทั้งนี้ ตำแหน่งงานในด้านบริการต่างๆ ทางการเงิน คิดแล้วเป็นประมาณเกือบ 10% ของตำแหน่งงานภาคเอกชนในมหานครแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้งตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก, ตลาดหลักทรัพย์แนสแดค, และสำนักงานใหญ่ของแบงก์ยักษ์จำนวนมาก โดยที่การเงินคือภาคซึ่งสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจราว 29% ของจีดีพีของนคร


ไม่รีบร้อน

ส่วนที่แบงก์ยักษ์อีกแห่งหนึ่ง คือ เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นหนึ่งในนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของมหานครนี้ การกลับมาทำงานกันอีกครั้ง จะใช้โมเดลบางส่วนจากการกลับรีสตาร์ทเศรษฐกิจของนิวยอร์กขึ้นใหม่ หลังจากผ่านโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อปี 1918

“ลูกจ้างพนักงานจะกลับมาทำงานในออฟฟิศในลักษณะแบ่งเป็นเฟสๆ ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” บันทึกภายในที่เอเอฟพีได้อ่าน ระบุเอาไว้เช่นนี้

แผนการเช่นนี้ได้รับการยกย่องชมเชยจาก แพทริก ฟอย ประธานและซีอีโอของสมาคมขนส่งมหานครนิวยอร์ก ซึ่งบอกว่า การสับหลีกการเข้า/ออกออฟฟิศออกเป็นหลากหลายช่วงเวลา จะลดความแออัดและลดโอกาสในการติดเชื้อลงได้ ในระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดิน, รถไฟบนดิน, หรือรถโดยสารประจำทาง

การที่จัดให้คนทำงานเข้าออฟฟิศกันสัปดาห์ละเพียง 3 วัน แทนที่จะเป็น 5 วัน ตลอดจนให้พวกเขาอยู่ห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต จะเป็นมาตรการที่ช่วยได้มากทีเดียว ฟอยบอกกับพวกนักหนังสือพิมพ์ระหว่างการแถลงข่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า นิวยอร์ก เป็นนครที่มีประชากรอยู่กันหนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ เฉลี่ยแล้ว 11,000 คนต่อตารางกิโลเมตร

ในอดีต มหานครซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯปัจจุบันนี้ เคยผ่านวิกฤตการณ์หนักหน่วงสาหัสมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 และช่วงเศรษฐกิจถดถอยหนักในวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกปี 2008 (ที่ในเมืองไทยมีผู้นิยมเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)

กระนั้น การท้าทายเหล่านั้นต้องถือว่าเล็กกว่านัก เมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจในการเปิดมหานครเจ้าของฉายา “บิ๊ก แอปเปิล” ขึ้นมาใหม่ในคราวนี้


ขาดดุลงบประมาณบานเบอะ

มาตรการจำกัดเข้มงวดต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อไวรัสครั้งนี้ อาจจะทำให้มีผู้ตกงาน 475,000 ตำแหน่งไปตลอดจนถึงเดือนมีนาคม 2021 และทำให้นิวยอร์กอยู่ในฐานะขาดดุลงบประมาณราว 9,700 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามการคำนวณของสำนักงานงบประมาณอิสระ (Independent Budget Office)

ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คูโอโม พูดออกมาแล้วว่า นครแห่งนี้จะเปิดเมืองให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินกิจการใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะเปิดกันทีละพื้นที่ แต่เขายังไม่ได้ระบุวันเวลาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ชัดเจนออกมา

กิจการบาร์, ไนต์คลับ, ภัตตาคารร้านอาหารของนครซึ่งมีอยู่ราว 25,000 แห่ง กำลังลุ้นกันตัวโก่งว่า พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการอย่างเต็มที่หรือไม่ ในโลกเวลานี้ซึ่งถือเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นหลักปฏิบัติที่ต้องยึดมั่นเอาไว้

“เราเข้าใจเรื่องมุมมองทางด้านสาธารณสุขนะ แต่ถ้าคุณต้องเปิดกิจการโดยต้องลดความแออัดลงไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ธุรกิจจำนวนมากก็จะอยู่ไม่ได้ในทางการเงิน” แอนดรูว์ รีจี กล่าว เขาเป็นประธานของกลุ่มพันธมิตรสถานบริการนครนิวยอร์ก ที่เป็นตัวแทนของภัตตาคารร้านอาหารและราตรีสถานต่างๆ

มีธุรกิจจำนวนมากอยู่ในสภาพติดค้างค่าเช่าและค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ ขณะที่ไม่มีเงินเก็บเงินออมที่จะแคะกระปุกนำมาแก้ขัดเฉพาะหน้า ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินตามที่สัญญากันไว้ในแพกเกจบรรเทาความเดือดร้อนก้อนมหึมาที่ได้รับอนุมัติผ่านรัฐสภาออกมาแล้ว เนื่องจากพวกแบงก์ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้จัดสรรแบ่งปันเงินเหล่านี้เ มักให้สิทธิก่อนแก่พวกบริษัทขนาดใหญ่ๆ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำถามเบ้อเริ่มที่ลอยวนเวียนอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง กล่าวคือ ผู้คนมีความสบายอกสบายใจหรือยังที่จะกลับมารวมตัวชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ภายในสถานที่เล็กๆ แออัดกันอีกครั้งหนึ่ง?

“เรายังไม่รู้หรอกว่าพฤติกรรมการซื้อหาสินค้าและบริการของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร” รีจี บอก เขาประมาณการว่าสถานที่คนกลางคืนของนิวยอร์กอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสี่ทีเดียวคงจะต้องปิดกิจการ

“คูแกนส์” ผับและร้านอาหารไอริชซึ่งเป็นที่นิยมในย่านแมนแฮตตัน ต้องกลายเป็นเหยื่อรายแรกๆ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยปิดกิจการเมื่อวันที่ 21 เมษายน

สำหรับโรงละครย่านบรอดเวย์, ที่โรงโอเปร่าเมโทรโปลิแตน และในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นครนิวยอร์กกำลังเตรียมการให้พรักพร้อมเพื่อต้อนรับผู้เข้าชมอีกครั้งโดยต้องขอให้สวมหน้ากากอนามัย ไอเดียที่ว่าชีวิตจะไม่หวนกลับไปเหมือนเดิมอย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง กำลังกลายเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นๆ

ไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า พวกนักท่องเที่ยว –ซึ่งมีจำนวน 65 ล้านคนเมื่อปี 2019 โดยมีสัดส่วนสูงทีเดียวเป็นพวกที่มาชมโชว์ต่างๆ ที่บรอดเวย์— จะยังคงกลับมาเยือนกันเป็นจำนวนมากๆ อีกหรือไม่

(เก็บความจากเรื่อง New York plans how to return to business amid pandemic ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น