“ศ.นพ.ธีระวัฒน์” มั่นใจอุตฯ การแพทย์ช่วยลดการนำเข้ายาได้ถึงปีละ 3 หมื่นล้าน “ดร.คณิศ” ระบุ EEC ต้องปรับแผนลงทุนหลังวิกฤตโควิด-19 เน้นพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบเชื้อ-วัคซีนต้านไวรัส ผลศึกษาชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โต 10% ต่อปี
ท่ามกลางการต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอุปกรการแพทย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งรัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อให้เกิดการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาสนับสนุนแนวนโยบายดังกล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส แม้ว่าการจัดตั้งอุตสาหกรรมการแพทย์จะไม่สามารถช่วยแก้วิกฤตโควิด-19 ได้ทัน แต่การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนายาและอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้เราสามารถผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ได้เอง ซึ่งจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำเข้าหลายเท่า ทั้งนี้ หากพิจารณาเรื่องศักยภาพแล้วนอกจากไทยจะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีวิศวกรการแพทย์ที่มีฝีมือ ประเทศไทยยังได้เปรียบที่มีสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดต่างก็มีสรรพคุณที่สามารถนำมาผลิตยาได้มากมาย
“ที่ผ่านมา ไทยไม่เคยผลิตยาเอง อย่างมากก็นำวัตถุดิบจากจีนและอินเดียมาผลิตยาประเภทฉีด ทั้งที่เรามีสมุนไพรเยอะมาก ถ้าเรามีอุตสาหกรรมการแพทย์เราก็สามารถผสมผสานแพทย์แผนไทยเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน เราสามารถนำกัญชามาผลิตยาแก้ปวด ใช้กัญชงผลิตยานอนหลับ นำยาสูบมาผลิตยารักษามะเร็ง เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ใช้สมุนไพรจีนมาผสมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาโควิด-19 ที่สำคัญไทยยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการนำเข้ายาลงได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี” ศ.ดร.ธีระวัฒน์ ระบุ
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยในช่วงปี 2562-2564 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 8.0-10.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุนหลายประการ ได้แก่ 1) นโยบายรัฐตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub และศูนย์กลางส่งออกเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคภายในปี 2563 2) การเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมถึงจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 11.23 ล้านคนในปี 2560 เป็น 13.1 ล้านคน ในปี 2564 และคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 63 พันล้านบาท ในปี 2553 (2.1% ของ GDP) เป็น 228 พันล้านบาท (2.8% ของ GDP) ในปี 2565
3) ผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาและการเติบโตของกลุ่ม Expatriate และ Medical Tourists และ 4) แผนขยายการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งการสร้างใหม่และการขยายพื้นที่ให้บริการ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น อีกทั้งมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น
โดยจากข้อมูล พบว่า นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในการให้สิทธิพิเศษการลงทุนแก่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน เช่น เครื่องมือแพทย์ที่จัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงสูง หรือเทคโนโลยีสูง เช่น เครื่อง X-ray เครื่อง MRI เครื่อง CT scan และวัสดุฝังในร่างกาย หรือเครื่องมือแพทย์ที่มีการนำผลงานวิจัยของภาครัฐหรือที่ดำเนินการร่วมกับภาครัฐในผลิตเชิงพาณิชย์ในกรณีมีการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตาก สระแก้ว เชียงราย และนครพนม ยังจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปีอีกด้วย
ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า ในส่วนของอีอีซีได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการแพทย์เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าการที่อุตสาหกรรมการแพทย์เเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ของภาครัฐที่มีแผนสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการส่งออก (Medical Hub) ในภูมิภาคอาเซียน จะส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ECC มุ่งสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยมีฐานเดิมที่แข็งแรง โดยเพิ่มธุรกิจด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์จากพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์จากพื้นฐานด้านการเกษตรและเคมีชีวภาพ
โดยการแพทย์ครบวงจรของไทยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1) การให้บริการสมัยใหม่ คือ การให้บริการด้านการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน (eHealth and mHealth) โดยให้คำปรึกษาทางการแพทย์และให้บริการรักษาทางไกลกับผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล
2) การวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล (Remote Health Monitoring Devices) โดยอุปกรณ์วินิจฉัยและติดตามผลระยะไกลสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง เช่น วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
3) การวิจัยยาและผลิตเวชภัณฑ์ โดยจะมุ่งเน้นที่การผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar) ซึ่งคือยาสามัญของยาชีววัตถุต้นแบบ (Biologic) ที่มีการวิจัยและจดสิทธิบัตรแต่สิทธิบัตรหมดอายุลงแล้ว ซึ่งปัจจุบันยาชีววัตถุมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่กว่ายาสามัญทั่วไป
อย่างไรก็ดี เลขาธิการอีอีซี ระบุว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้อีอีซีต้องพิจารณาการให้น้ำหนักในอุตสาหกรรมการแพทย์ใหม่ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของไวรัสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคซาร์ เมอร์ส อีโบลา จนถึงโควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบการติดเชื้อ วัคซีนป้องกันไวรัส และเพิ่มอุปกรณ์การแพทย์-ห้องฉุกเฉินรองรับสถานการณ์โรคระบาดมากขึ้น
“จะเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ที่จะจัดการกับเชื้อไวรัส โดยเราอาจจะประสานความร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียาดนาม กัมพูชา พม่า มาเลเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว” ดร.คณิศ ระบุ