xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐบาลวางแผนจัดสรรงบระยะยาว กองทัพ-ส.ส.-ส.ว.ต้องเฉือนงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายฝ่ายชื่นชมกองทัพ ปรับลดงบซื้ออาวุธ "รศ.ดร.ปณิธาน" ชี้ ทัพเรือเร่งเจรจาจีน ของดดอกเบี้ย-ค่าปรับ ชะลอซื้อเรือดำน้ำ พร้อมแนะ "บิ๊กตู่" เตรียมแผนจัดงบ รับมือผลกระทบโควิด-19 ระยะยาว หน่วยราชการต้องรัดเข็มขัด ลดการบรรจุบุคลาการ คงมาตรการ wfh เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส.ส.-ส.ว.เลิกจ้างที่ปรึกษา ด้าน "รศ.ดร.ณรงค์" จี้รัฐบาล แจงเงินกองทุนประกันสังคมหายไปไหน

หลังจากที่มีกระแสเรียกร้องอย่างหนักให้กองทัพปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ลงเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ล่าสุด ทั้ง 3 เหล่าทัพต่างออกมาประกาศปรับลดงบประมาณส่งคืนคลังเพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่


โดยในส่วนของกองทัพบกนั้น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้แจ้งแก่นายทหารระดับสูงที่ร่วมประชุม ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ. ) ว่ากองทัพบกจะตัดงบประมาณประจำปีลง 10% เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี จึงขอให้ ผบ.หน่วย ปลุกจิตสำนึกในการเสียสละ

ด้านกองทัพอากาศ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ระบุว่า จะตัดงบประมาณประจำปี 2563 มากถึงกว่า 23% เพื่อคืนคลัง ให้รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยจะมีการชะลอโครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึก T-50 จากเกาหลีใต้ งบประมาณ ราว 2.4 พันล้าน ออกไปก่อน ส่วนโครงการอัปเกรดเครื่องบิน C-130 นั้นถูกหั่นงบงวดแรกออกไปครึ่งหนึ่ง และหั่นงบโครงการก่อสร้าง รวมแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ส่วนการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง งบฯ 5,195 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลําเลียงขั้นต้นฝูงฝึกขั้นปลาย 4 เครื่อง วงเงิน 233 ล้านบาท และโครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ (ระยะที่ 6) นั้น ไม่กระทบมากนัก โดยจะใช้วิธีผ่อนจ่ายเงินงวดให้น้อยลง

ขณะที่กองทัพเรือถือว่ามีการปรับลดงบลงมากที่สุด โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตัดสินใจให้กองทัพเรือปรับลดงบประมาณลงกว่า 33% หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 4,100 กว่า ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดในวงเงินที่มากกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ พร้อมกันนี้ จะชะลอการดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และลำที่ 3 งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ออกไปก่อน

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคง
ซึ่งการปรับลดงบดังกล่าวได้นำมาซึ่งเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง และส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกองทัพในสายตาประชาชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคง มองว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ซึ่งการระดมงบประมาณจากหน่วยราชการต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้รวดเร็ว เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหา อีกทั้งการที่กองทัพปรับลดงบประมาณลงเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ก็ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะยังคงอยู่อีก 6-7 เดือน จึงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ จะมีการปรับลดงบในส่วนใดอีกหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ต้องระวังผลกระทบที่จะตามมา โดยการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรเกิน 30% เห็นว่ารัฐบาลตั้งเป้าที่จะปรับลดงบของหน่วยงานต่างๆ 20% ก็ต้องดูว่าจะตัดงบส่วนใด ตัดนานเท่าไหร่ จะส่งผลกระทบอะไรหรือเปล่า

นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
รศ.ดร.ปณิธาน พูดถึงการปรับลดงบประมาณของกองทัพว่า หากศึกษาจะเห็นว่างบนั้นมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.งบประจำ ซึ่งมีประมาณ 70% ของงบประมาณ ได้แก่ เงินเดือน ค่าตอบแทนต่างๆ 2.งบลงทุนและพัฒนา ซึ่งมีประมาณ 30% ได้แก่ 1) งบพัฒนาบุคลากร เช่น การซ้อมรบ การศึกษาต่อต่างประเทศ หรือการดูงานต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ตัดลดง่าย โดยใช้วิธีทำความเข้าใจกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ 2) งบพัฒนาหน่วย เช่น การสร้างอาคาร การซ่อมแซมฐานทัพ 3) งบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งการปรับลด 2 ข้อนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดและทำได้ยากกว่า หากเป็นแค่โครงการแต่ยังไม่มีการทำสัญญญาก็สามารถยกเลิกได้ แต่ถ้าทำสัญญาไปแล้วก็อาจใช้วิธีชะลอการจัดซื้อออกไปก่อน เช่น กรณีชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือ หรือชะลอการจัดซื้อเครื่องบินฝึก T-50 ของกองทัพอากาศ ซึ่งต้องดูว่ามีการทำสัญญากับต่างประเทศไว้อย่างไร หากผิดสัญญาจะต้องจ่ายค่าปรับเท่าไหร่ และข้อสำคัญต้องเจรจาทำความเข้าใจขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้ผลิตเพื่อขอลดหรืองดเว้นค่าปรับเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

“การปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยทำมาแล้วในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยกเลิกการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F-18 จากสหรัฐอเมริกา โดยเจรจาขอความเห็นใจจากสหรัฐฯ พร้อมกับนำเครื่องบินดังกล่าวไปเร่ขายประเทศต่างๆ แต่ไม่มีใครซื้อ สุดท้ายสหรัฐฯ ก็ให้ความช่วยเหลือโดยยอมยกเลิกสัญญา ดังนั้น ครั้งนี้กองทัพต้องเจรากับประเทศผู้ผลิตว่าสามารถชะลอการผ่อนชำระหรือจัดซื้อออกไปได้หรือไม่ เช่น เจรจากับจีนในการชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำว่าของดค่าปรับได้ไหม ระหว่างนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่ ลดดอกเบี้ยลงได้หรือเปล่า เชื่อว่าแม้จะปรับลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ลงแต่หากสามารถบริหารจัดการได้ดีก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของกองทัพ” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงความวิตกว่าการตัดลดงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอาจส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของกำลังพล และหากจะมีการปรับลดก็ควรเฉลี่ยเท่ากันทุกกองทัพ ไม่ควรเน้นไปที่หน่วยใดหน่วยหนึ่ง

“ในสถานการณ์เช่นนี้การปรับลดงบของกองทัพเป็นเรื่องที่ดี ที่คนพูดกันมากคือการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งผมมองว่าไม่ควรซื้อตั้งแต่แรก แต่เมื่อตัดสินใจซื้อไปแล้วมายกเลิกหรือชะลอการจัดซื้อภายหลังก็อาจกระทบต่อขวัญกำลังใจของฝ่ายปฏิบัติ” นาวาอากาศตรีประสงค์ ระบุ

ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า การปรับลดงบในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องต่อความจำเป็น ในยามวิกฤตก็ต้องพิจารณาว่าเราควรจะผลิตปืน หรือผลิตข้าว

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่ามีงบอีก 2 ส่วนที่รัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการใช้จ่ายและไม่ได้ชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ นั่นคือ การใช้งบกลาง จำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง อีกส่วนคือเงินกองทุนประกันสังคม 2 ล้านล้านบาท ซึ่งประชาชนตั้งคำถามว่าเงินในส่วนนี้หายไปไหน เหตุใดสำนักงานประกันสังคมจึงมีเงินเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แค่ 7-8 แสนล้านคน รัฐนำเงินส่งสมทบของผู้ประกันตนไปทำอะไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลทราบว่ามีการนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล 1.4 หมื่นล้าน แล้วส่วนที่เหลือนำไปทำอะไร

“เงินส่วนนี้เป็นเงินของลูกจ้างซึ่งเป็นคนจน แต่รัฐบาลเอาไปใช้เฉยๆ ประชาชนทวงถามก็ไม่มีใครออกมาชี้แจง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมก็เงียบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็เงียบ ทั้งๆ ที่เงินส่วนนี้ไม่ควรจะเป็นความลับ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเอาเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้เฉยๆ โดยไม่มีสัญญา ไม่มีดอกเบี้ย หลายครั้งที่นำเงินลงทุนในหุ้นแล้วขาดทุน อีกทั้งมีข่าวว่านำเงินไปให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim Bank) กู้ด้วย” รศ.ดร.ณรงค์ ตั้งข้อสังเกต

ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ
และเนื่องจากคาดการณ์ว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปอีกนานพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลต้องเตรียมจัดหางบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบดังกล่าว ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน ได้เสนอแนวทางว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรวางแผนการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อรับมือต่อผลกระทบในระยะยาว โดยมีอยู่ 3 ช่องทาง คือ 1.การตัดลดงบประมาณกลาง โดยปรับลดงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพิ่มขึ้น 2.การกู้เงินจากแหล่งเงินทุนต่างๆ 3.รัดเข็มขัด โดยหน่วยราชการต้องช่วยกันลดค่าใช้จ่าย ซึ่งช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลควรหารือกับ ส.ส.และ ส.ว.ว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง เช่น ลดการว่าจ้างที่ปรึกษา ยกเลิกการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ

“เท่าที่ทราบสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เตรียมที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะกรอบระยะเวลาช่วง 3 ปี ซึ่งโดยส่วยตัวมองว่าอาจจำเป็นต้องปรับลดงบประจำ ลดการบรรจุบุคลากรใหม่ เพราะหากพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการทำงานจริงๆ จะพบว่ามีตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็นอยู่เป็นจำนวนมาก และแม้จะมีข้าราชการแค่ 2 ใน 3 ของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน งานต่างๆ ก็ยังขับเคลื่อนไปได้ และที่ผ่านมา พบว่ามาตรการ work from home (wfh) ช่วยให้หน่วยราชการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่ควรพิจารณานำไปใช้ในระยะยาว” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น