เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอเมริกาทะลุหลัก 100,000 คน ด้านบราซิลตัวเลขพุ่งเป็นกว่า 25,000 คน ขณะที่เกาหลีใต้เจอเคสใหม่สูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน โดยเป็นการระบาดแบบกลุ่มก้อนครั้งใหม่ในกรุงโซล ทำให้ต้องฟื้นกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมมาบังคับใช้อีกรอบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกสอง
ตามสถิติเมื่อวันพุธ (27 พ.ค.) ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเป็นเกือบ 5.7 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 354,000 คน เฉพาะบราซิลนั้นยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเป็นกว่า 25,000 คน และผู้ติดเชื้อปักหลักที่อันดับ 2 รองจากอเมริกา
โดยในสหรัฐฯนั้น ตามการรวบรวมแบบออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ จำนวนผู้ติดเชื้อในอเมริกาเวลานี้อยู่ที่เกือบ 1.7 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตก็ทะลุขีด 100,000 คนแล้ว
กระนั้น คณะบริหารประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ปลดล็อกเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แม้ผู้เชี่ยวชาญแถวหน้า อาทิ นายแพทย์ แอนโทนี เฟาซี หนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของทำเนียบขาว แนะนำว่า ยังคงต้องใช้มาตรการควบคุมป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่ก็ตาม
สำหรับที่บราซิล ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีขวาจัด และเป็นพันธมิตรของทรัมป์ ได้ประณามคำสั่งกักตัวอยู่บ้านของรัฐต่างๆ และโจมตีว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์สร้างความเสียหายมากกว่าโควิด-19
ทว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่โบลโซนารูอ้างอยู่เรื่อย ว่า เป็นแค่ไข้เล็กๆ น้อยๆ นั้น พุ่งขึ้นเกิน 411,000 คนแล้ว และข่าวร้ายนี้ยังเกิดขึ้นเช่นกันในอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้
เปรูรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุด 6,154 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง ท่ามกลางคำเตือนว่า สถานการณ์เลวร้ายจะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายวันหรือหลายสัปดาห์
ทางด้านเอเชีย ที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ซึ่งมีการผ่อนคลายกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมไปเมื่อต้นเดือนนี้ แต่หลังจากพบเคสใหม่เพิ่มขึ้นถึง 79 คน ในวันพฤหัสฯ (28) ซึ่งถือว่า สูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ทางการตัดสินใจฟื้นกฎนี้มาบังคับใช้บางส่วน เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ และแกลเลอรี่ จะปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันศุกร์ (29) เพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง
ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 69 คน เป็นผู้ทำงานอยู่ในคลังสินค้าของบริษัทอี-คอมเมิร์ซ คูแปงในย่านบูชอน ทางตะวันตกของโซล ส่งผลให้ต้องกักตัวพนักงานและผู้ที่เดินทางไปยังคลังสินค้าดังกล่าวราว 4,100 คน ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 80%
ขณะเดียวกัน นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสโคโรนา รวมทั้งทดสอบยารักษาโรคนี้ควบคู่กันไป
วันพุธ ฝรั่งเศสประกาศห้ามใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควินแก้โรคมาเลเรียกับผู้ป่วยโควิด หลังจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระงับการทดสอบ เนื่องจากกังวลผลข้างเคียงที่รายงานบางฉบับบ่งชี้ว่า เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต
ยาตัวนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยผู้นำและรัฐบาลบางประเทศยังคงให้การสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งรวมถึงทรัมป์ที่บอกว่า กินยานี้เพื่อป้องกันโควิด เนื่องจากได้ยินมาจากหลายคนว่า ได้ผลดี
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิล เซเนกัล และหน่วยงานวิจัยชีวการแพทย์ชั้นนำของอินเดีย ยืนยันว่า จะใช้ยาต้านมาเลเรียรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป ทว่า สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) กลับออกมาเตือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงร้ายแรง
ขณะที่อเมริกาใต้และบางประเทศในแอฟริกาและเอเชียเผชิญช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของโรคระบาด ยุโรปยังคงเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ท่ามกลางข่าวผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่อง
ยุโรปซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 175,000 คน เผชิญปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ และวันพุธที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เปิดแผนฟื้นเศรษฐกิจมูลค่า 825,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่สร้างความปั่นป่วนทั่วถึงทุกวงการ ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยว และกีฬา
อีซี่เจ็ตของอังกฤษเป็นสายการบินล่าสุดที่ประกาศลอยแพพนักงานครั้งใหญ่ โดยในวันพฤหัสฯ บริษัทแถลงว่า จะปลดพนักงานเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด 15,000 คน
และขณะที่ฟุตบอลบุนเดสลีกาของเยอรมนีกลับสู่สนามอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขห้ามคนดูเข้าชม แต่สำหรับการแข่งขันเทนนิสเฟรนช์ โอเพน นั้น มีการยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงว่า จะเปิดให้แฟนๆ เข้าชมได้ภายใต้กฎการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยจะเริ่มต้นการแข่งขันในเดือนกันยายน
อย่างไรก็ตาม ที่อังกฤษกลับมีข่าวร้ายจากพรีเมียร์ลีกว่า พบนักฟุตบอลและสตาฟฟ์ 4 คนติดเชื้อ