เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไซโคลนอำพันวันนี้ (22 พ.ค.) อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 95 ราย ในอินเดียและบังกลาเทศ เหยื่อส่วนใหญ่ถูกไฟฟ้าช็อต ต้นไม้ล้ม ประชาชนในวันพฤหัสบดี (21) ต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ สภาพทั่วไปเสียหาย ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน ต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกถอนรากล้มทับรถรา โรฮิงญาโวยถูกทหารบังกลาเทศทำร้ายระหว่างอยู่บนเกาะน้ำท่วมถึง ส่วนนายกรัฐมนตรี โมดี เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายวันศุกร์ (22 พ.ค)
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (22 พ.ค) ว่า ไซโคลนอำพันที่ในเวลานี้อ่อนกำลังและมุ่งหน้าไปทางเหนือเข้าสู่ภูฏานหลังจากสร้างความเสียหายให้กับทั้งอินเดียและบังกลาเทศที่เห็นต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากถูกถอนราก และล้มทับบ้านเรือนประชาชน สายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ถูกตัดขาด บ้านเรือนประชาชนถูกทำลาย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนสตอร์มเสิร์จได้เข้าทำลายหมู่บ้านตามชายฝั่ง
สำนักงานสหประชาชาติในบังกลาเทศประเมินว่า มีประชาชนราว 10 ล้านคน ได้รับผลกระทบ และมีราว 500,000 คน สูญเสียบ้านไป
ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมจากพายุอำพันทั้งหมดล่าสุดของอินเดียและบังกลาเทศอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 95 ราย เพิ่มจาก 24 รายก่อนหน้า โดยรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียรายงานผู้เสียชีวิต 72 คน ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดมี 15 คนเสียชีวิตในเมืองโกลกาตา (Kolkata) เมืองเอกประจำรัฐ มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก
มามาตา บาเนอร์จี (Mamata Banerjee) ออกปากว่า พายุไซโคลนอำพันร้ายแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1737 ที่ในเวลานั้นพายุปี 1737 ทำให้ประชาชนในรัฐเบงกอลตะวันตกจำนวนมากหลายพันคนเสียชีวิต โดยเธอกล่าวว่า “ไม่เคยเห็นหายนะระดับนี้มาก่อน” ซึ่งก่อนหน้าเธอกล่าวถึงพายุลูกนี้ว่ามีความร้ายแรงมากกว่าโคโรนาไวรัส
บีบีซีรายงานว่า ถนนสายต่างๆ ในโกลกาตาจมน้ำ และประชาชนอีก 14 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งมาตรการจำกัดเพื่อตอบโต้โควิด-19 ทำให้การกู้ภัยเป็นเรื่องยากโดยศูนย์พักพิงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะต้องบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ พบว่า 3 เขตของรัฐเบงกอลตะวันตก ได้แก่ เขตใต้ และเขตเหนือ 24 ปาร์กานาส (north 24 Parganas) และ มิดนาปอร์ตะวันออก( East Midnapore) ได้รับผลกระทบหนักสุด
พื้นที่ส่วนใหญของโกลกาตา รวมสนามบินจมน้ำ ถนนเต็มไปด้วยเศษซากต่างๆ รวมถึงต้นไม้ล้มทับ สายไฟและสายโทรศัพท์ถูกตัดขาด อาคารเก่าแก่ได้รับความเสียหาย เอพีรายงาน
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากายุที่รัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริศา รวมไปถึงพบกับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์
ขณะที่บังกลาเทศพบว่าตัวเลขเสียชีวิตทางการอยู่ที่ 23 คน เอเอฟพีกล่าวว่า เนื่องมาจากธากามีความสามารถในการพยากรณ์อากาศที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้สามารถอพยพประชาชนที่อาศัยตามทางผ่านร่วม 2.4 ล้านคน ไปหลบในศูนย์พักพิงได้ทันก่อนหน้า ขณะที่อินเดียสั่งอพยพจำนวน 650,000 คน ไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ซึ่งในวันพฤหัสบดี (21) ผู้ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบหนักสุดของบังกลาเทศต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ในช่วงบ่าย พายุทำให้บ้านเรือนจำนวน 55,000 หลังพังราบทั่วประเทศ ส่วนใหญ่สร้างมาจากสังกะสี โคลน และไม้ไผ่ อีนามูร์ ราห์มัน (Enamur Rahman) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงจัดการภัยพิบัติบังกลาเทศ กล่าว
สหประชาชาติแถลงผลกระทบจากพายุต่อค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในเขตค็อกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar) นั้นดูเหมือนว่ามีน้อย
อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 306 คน ที่ถูกอพยพออกมาจากเกาะบาชาน คาร์ (Bhashan Char) ที่น้ำสามารถท่วมถึงเนื่องมาจากพายุได้ให้สัมภาษณ์กับกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทำร้ายร่างกายระหว่างอยู่บนเกาะ
ทั้งนี้ ในรายงานที่ออกมาจากฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ออกมาในวันพุธ (20) กล่าวว่า โรฮิงญา 25 คน ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า พวกเขาถูกสอบปากคำและถูกทำร้ายร่างกายบนเกาะ และเสริมว่า ขณะเดียวกัน สภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยไม่ต่างจากนักโทษและไม่มีเสรีภาพสามารถเดินไปที่ไหนก็ได้
ซึ่งมีบางส่วนออกมายืนยันว่า ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นบังกลาเทศทำร้าย โดยในรายงานผู้หญิงชาวโรฮิงญารายหนึ่งกล่าวว่า ได้ยินเสียงโหยหวนออกมาจากห้องสอบปากคำ ส่งผลทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ เอ.เค อับดุล โมเมน (A.K. Abdul Momen) ออกมาตอบโต้ โดยชี้ว่าทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนมีเป้าหมายที่มุ่งร้ายต่อบังกลาเทศ